8 ข้อผิดพลาดในการวางแผนภาษี

8 ข้อผิดพลาดในการวางแผนภาษี

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน แล้ววันนี้ก็มาถึงเดือนสุดท้ายของปีนี้กันแล้วนะครับ เป็นเดือนที่หลายๆท่านคงเริ่มวางแผนภาษีสำหรับปีนี้กันแล้วใช่มั้ยครับ ว่าจะวางแผนเพื่อหาสินค้าทางการเงินตัวไหนเพื่อมาลดหย่อนภาษีดี

วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านในอีกมุมที่นอกเหนือจากการวางแผนภาษีแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่หากผู้อ่านทำไม่ถูกต้องก็อาจจะทำให้พลาดการลดหย่อนภาษีในแต่ละปีไปได้ครับ

ในการเข้าไปช่วยวางแผนภาษีให้กับลูกค้า ผมมักจะพบสิ่งที่ลูกค้าเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีอยู่หลายอย่าง วันนี้ผมเลยลิสต์ออกมาเป็นข้อๆให้ท่านผู้อ่านได้อ่าน เพื่อที่ว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับ หลายๆท่านที่กำลังวางแผนภาษีสำหรับปีนี้กันอยู่นะครับ

1.”การจ่ายค่าเบี้ยประกันล่าช้าข้ามปีภาษี ทำให้ไม่สามารถนำเบี้ยที่จ่ายไปมาลดหย่อนภาษีของปีนี้ได้" ข้อผิดพลาดเรื่องแรก ที่ผู้เขียนมักจะพบเจออยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ การที่บางท่านซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีในช่วง ปลายปี และทำให้รอบในการเรียกเก็บเบี้ยประกันในปีต่อมานั้นจะถูกเรียกเก็บในช่วงปลายปีเช่นเดียวกัน ทำให้ บางท่านอาจจะลืมที่จะชำระให้เสร็จสิ้นในปี และไปชำระในปีต่อไป ซึ่ง ถึงแม้ จะเป็นเบี้ยประกันที่เรียกเก็บในปีนี้ แต่การไปชำระในปีถัดมา จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในปีนี้ได้ โดยเบี้ยที่ชำระไป จะถูกยกไปใช้เป็นค่าลดหย่อนในปีถัดไปแทนครับ ดังนั้น จึงควรชำระเสียให้เรียบร้อยก่อนหมดปีนะครับ

2. “ลืมซื้อ RMF ขาดช่วงเกิน 1 ปี” ตามเงื่อนไขของการลงทุนใน RMF เพื่อลดหย่อนภาษีนั้น หากผู้ลงทุน ทำให้ผิดเงื่อนไขการซื้อ RMF โดยเว้นช่วงการลงทุนแบบต่อเนื่องเกินหนึ่งปี จะต้องคืนภาษีที่เคยได้คืนจากการซื้อ RMF ในงวดที่ผ่านมา และ จะต้องนำกำไรที่ได้จากการลงทุนใน RMF นั้นมาคำนวณภาษีด้วย ดังนั้น หากผู้ยื่นภาษีเคยมีการลงทุนใน RMF มาในปีก่อนนั้น ก็ควรที่จะซื้อ RMF ต่อเนื่องต่อไป โดยปัจจุบันนั้นไม่มีเงื่อนไขขั้นต่ำของการซื้อ RMF แล้ว ทำให้การซื้อเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะไม่ทำให้ผิดเงื่อนไขการลงทุนได้

 

3. “การแจ้งรายได้ไม่ครบ และ การลืมนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายมายื่น” สำหรับ กรณีการแจ้งรายได้ ไม่ครบตามที่ได้รับมาจริงนั้น จะทำให้ต้องเสียเวลาในการยื่นภาษีเข้าไปใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ได้ภาษีคืนล่าช้า หรืออาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มได้ และสำหรับภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายหาก ลืมที่จะนำมายื่นก็อาจจะต้องทำให้ถูกหักภาษีซ้ำซ้อนอีกด้วย ดังนั้นการวางแผนภาษี ควร รวบรวมข้อมูลและหลักฐานให้ครบจากทุกแหล่งเงินได้ ทั้งในส่วนของเงินได้ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย

4. “ลงทุนใน SSF และ RMF เกินสิทธิ์” การลงทุนใน SSF และ RMF นั้นมีเงื่อนไขอยู่ว่า เมื่อนำยอดการลงทุนใน SSF และ RMF ในปีนั้นๆ เมื่อนำไปรวมกับประกันบำนาญ , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยที่ SSF จะสามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บาท ในส่วนของ RMF นั้น จะสามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท ข้อผิดพลาดที่มักจะพบเห็นอยู่บ่อยๆ คือผู้ลงทุนลืมนำยอดลงทุนใน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเป็นฐานในการคำนวณการซื้อ RMF และ SSF ทำให้เมื่อนำไปรวมกันแล้ว เกิน 500,000 บาท

5. “ซื้อ SSF RMF ไม่ทัน” สำหรับการซื้อ SSF และ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีในปี 2564 นั้นสามารถซื้อได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละกองทุนจะมีเวลาปิดการรับซื้อ (cut of time) แตกต่างกัน ทำให้ผู้ลงทุนอาจจะซื้อ SSF หรือ RMF ไม่ทันได้ ดังนั้นควรลงทุนให้เรียบร้อยก่อนวันสุดท้ายของการซื้อขาย

6. “ใช้สิทธิ์ลดหย่อนบิดา มารดา ที่มีรายได้ เกิน 30,000 บาทต่อปี” สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดา และ ประกันสุขภาพบิดามารดานั้น จะสามารถใช้สิทธิได้ หาก บิดา มารดา มีรายได้ร่วมต่อปีท่านละไม่เกิน 30,000 บาท ดังนั้นก่อนใช้สิทธิ ควรตรวจสอบก่อนว่า บิดามารดา มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปีหรือไม่

7. “ลืมขอเครดิตภาษีเงินปันผลหุ้น หรือ ไม่ได้นำมาคิดทั้งหมด” สำหรับการขอคืนภาษีเงินปันผลจากหุ้น สามารถเลือกได้ว่าจะขอคืนในปีนั้นๆ หรือไม่ ไม่ได้บังคับว่า หากขอคืนแล้ว จะต้องขอคืนทุกปีตลอดไป ดังนั้นผู้ยื่นสามารถลองคำนวณภาษีดูก่อนได้ว่า หากขอคืนในปีนี้นั้น จะต้องได้ภาษีคืนมากขึ้น หรือจะต้องเสียภาษีเพิ่ม และ การยื่นขอเครดิตภาษีเงินปันผลจากหุ้นจะต้อง ขอคืนจากเงินปันผลของหุ้นทุกตัวที่เราได้รับในปีภาษีนั้นๆ ไม่สามารถเลือกเป็นตัวๆได้

8. “ไม่ได้ใช้เอกสารใบแนบในการยื่นภาษีจากรายได้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงาน” สำหรับลูกจ้างที่ออกจากงานหรือย้ายงาน โดยมีอายุงานเกิน 5 ปี สามารถนำรายได้ก้อนเดียวที่ได้รับเมื่อออกจากงานเช่น เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน, เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มายื่นคำนวณภาษีด้วยวิธีพิเศษโดยใช้ใบแนบได้ โดยเงินส่วนนี้จะถูกนำมาแยกคำนวณต่างหากจากรายได้อื่นๆ และสามารถนำอายุงานมาเป็นฐานคำนวณเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้ ทำให้รายได้ส่วนนี้จะถูกคิดภาษีน้อยลง

ทั้งหมดนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านในการวางแผนภาษีโค้งสุดท้ายนี้กันนะครับ