สร้างขุมทรัพย์ กับ SME ไทย

สร้างขุมทรัพย์ กับ SME ไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างสร้างกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง เมื่อได้แรงสนับสนุนจากสภาพคล่องที่ล้นตลาด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนทำจุดสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ SET Index บ้านเรานั้นยังคงห่างไกลจากจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ที่ราว 1,800 จุดในช่วงต้นปี 2018 และดูท่าทีว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยจึงจะไปถึงจุดนั้น บล.กสิกรไทยประเมินเป้าหมาย SET Index 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่เพียง 1680 จุด ทำให้นักลงทุนบางส่วนขนเงินออกไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่มีความน่าดึงดูดมากกว่า ทั้งในแง่ของภาพรวมเศรษฐกิจ รวมไปถึงสัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นศักยภาพเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรมการแพทย์ รวมไปถึงพลังงานสะอาด

ต่างจากประเทศไทย ที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะฟื้นกลับมาที่จุดเดิม ด้านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังเป็นหุ้นในธุรกิจดั้งเดิม เช่น พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ธนาคาร ค้าปลีกที่ส่วนใหญ่เป็นแบบ Offline รวมถึงกลุ่มการแพทย์ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาล ซึ่งไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดังนั้นหากมองแค่บริษัทจดทะเบียน ก็คงต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจน้อยกว่าตลาดหุ้นโลก

แต่ถ้าหากจะพิจารณาให้กว้างไปกว่านั้น ประเทศไทยยังมีแหล่งขุมทรัพย์ชิ้นสำคัญ นั่นก็คือ ธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ยังไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือหุ้น SME นอกตลาด จะว่าไป ประเทศไทยมีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้งหลายคราว และยังมีจุดเด่นที่จะต่อยอดศักยภาพการเติบโตได้อีกหลายเท่าในอนาคต ซึ่งจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในระยะยาว โดยมีหลายธุรกิจที่น่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องสำอางค์ และธุรกิจอาหาร เช่น อาหารไทยสำเร็จรูปแบบผง ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะบุกตลาดต่างประเทศ[SS1] ได้ ตลอดจนธุรกิจการเงิน ที่สามารถเจาะกลุ่มผู้กู้ยืมจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคาร รวมไปถึงธุรกิจด้านบริการด้านการแพทย์และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้ประโยชน์จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

การลงทุนในหุ้นนอกตลาดมีข้อดีเมื่อเทียบกับการลงทุนหุ้นในตลาดหลายประการ เช่น

  1. ผู้จัดการกองทุนสามารถเข้าไปบริหารจัดการ ปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดี ที่จะเข้าลงทุน ณ ระดับราคาที่ไม่แพงมาก และเข้าบริหารให้มูลค่าเพิ่มขึ้น
  2. ราคาหุ้นนอกตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจริงๆ นักลงทุนไม่ต้องเผชิญกับความผันผวนด้านราคาที่ขึ้นลงตาม Sentiment ของตลาดหุ้นเหมือนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
  3. หลังลงทุนไปแล้ว ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกขายหุ้นบริษัทนอกตลาดได้หลายวิธี เพื่อให้ได้ราคาดีในเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะผ่านการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการขายต่อให้แก่นักลงทุนรายอื่นที่สนใจ
  4. กระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุน หุ้นนอกตลาดไม่มีราคาซื้อ-ขายในตลาดรอง ผลตอบแทนจึงมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างหุ้นและตราสารหนี้ต่ำมาก

ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นนอกตลาดก็มีความเสี่ยง เนื่องจากนักลงทุนสามารถหาข้อมูลของบริษัทนอกตลาดได้ยาก บริษัทไม่เปิดเผยผลการดำเนินงานและไม่มีรายงานการตรวจสอบเหมือนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น ารอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นนอกตลาดในไทยจึงเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน โดยผู้จัดการกองทุนจะต้องพิจารณาทั้งจากภาพใหญ่ (Top-Down) คือ เลือกบริษัทในอุตสาหกรรมสอดคล้องไปกับโครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานรายบริษัท (Bottom-up) ทั้งด้านความสามารถในการทำกำไร การสร้างรายได้และกระแสเงินสด ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงต้องพูดคุยกับผู้บริหารเพื่อพิจารณาแผนธุรกิจในอนาคต และที่สำคัญคือการประเมินมูลค่าบริษัทเพื่อเข้าซื้อและขายออกในราคาที่เหมาะสม

แม้ว่า SET Index ของไทยจะเริ่มหมดสเน่ห์ไป แต่ประเทศไทยยังมีขุมทรัพย์อีกมาก ซึ่งเปรียบเสมือนการลงทุนในเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่พร้อมจะเติบโตออกดอกออกผลในอนาคต แม้จะใช้เวลาลงทุนนาน แต่ถ้าหากมีการบริหารและติดตามโดยผู้เชี่ยวชาญ ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นให้แก่นักลงทุนได้

หมายเหตุ: [SS1]ยกตัวอย่างอีกนิดว่าศักยภาพที่บุก ต่างประเทศ มีอะไร เช่น อาหารไทย? สูตรลับ?