นักลงทุนควรกังวลเรื่องเงินเฟ้อแค่ไหน

นักลงทุนควรกังวลเรื่องเงินเฟ้อแค่ไหน

ช่วงนี้ เงินเฟ้อเริ่มกลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับตลาดทุนทั่วโลก ล่าสุด หลายประเทศมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าระดับปกติมาก เช่น สหรัฐฯ (+5.4%) อังกฤษ (+3.2%) ยูโรโซน (+3.4%) ในฝั่งของเอเชีย เงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ก็เริ่มสูงขึ้นกว่าปกติ เช่น เกาหลีใต้ (+2.5%) ไต้หวัน (+2.6%) สิงคโปร์ (+2.4%)

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์มีการคาดการณ์กันไว้แล้วว่า เงินเฟ้อทั่วโลกมีโอกาสขยายตัวสูงในปีนี้ เนื่องจากฐานที่ต่ำมากในปีที่แล้ว บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลเกือบทุกประเทศ การเริ่มทยอยเปิดเศรษฐกิจ และการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ

ธนาคารกลางเกือบทุกแห่งก็ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้ามาสักพักหนึ่งแล้ว ว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ แต่จะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ที่มีต้นเหตุมาจากการเปลี่ยนผ่านจากภาวะการแพร่ระบาดไปสู่การเปิดเศรษฐกิจ เมื่อทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ราคาสินค้าก็จะค่อยๆ ชะลอความร้อนแรงลง 

แต่ที่เงินเฟ้อกลายมาเป็นข้อกังวลอีกครั้ง เพราะราคาพลังงานปรับขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดิบ (+100%) ก๊าซธรรมชาติ (+90%) หรือ ถ่านหิน (+300%) อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้า ซึ่งส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับขึ้นไปกว่า 200%  

ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ข้อจำกัดด้านห่วงโซ่อุปทานโลก ที่เกิดจากกำลังซื้อฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ภาคธุรกิจไม่สามารถตอบสนองได้ทัน และยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในจีน ซึ่งถ้าดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นปัญหาคอขวดที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อกระบวนการผลิตสินค้าทั่วโลก 

ปัจจัยทั้งหมดนี้เริ่มส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในหลายประเทศขยายตัวอย่างร้อนแรง เช่น จีน (+10.7%) สหรัฐฯ (+8.6%) ญี่ปุ่น (+6.3%) และมีความเป็นไปได้ที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจถูกผลักเข้าไปในราคาสินค้าในระยะยาว 

ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในตลาดทุน คือเงินเฟ้อที่ร้อนแรงนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน? เพราะถ้าปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นไม่คลี่คลายภายในครึ่งแรกของปี 2022 แปลว่าภาวะเงินเฟ้อสูงมีโอกาสยืดเยื้อ และอาจสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ซึ่งก็จะทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก 

โดนส่วนตัว ผมเชื่อว่าทิศทางเงินเฟ้อโลกยังไม่น่ากังวล เพราะต้นตอของปัญหาเกิดจากภาคธุรกิจที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้เต็มที่ หลังจากต้องหยุดชะงักไปในช่วงการแพร่ระบาด ไม่ได้เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไขได้ยากและต้องใช้เวลานาน เมื่อผู้ประกอบการกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า ปัญหาด้านอุปทานน่าจะคลี่คลายลง

ราคาน้ำมันก็เช่นเดียวกัน กลุ่มโอเปคยังมีกำลังการผลิตเหลืออีกมาก รวมทั้งสหรัฐฯ เองก็มีปริมาณสำรองของ Shale Oil อีกพอสมควร ราคาน้ำมันที่สูงในปัจจุบันจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้ราคาลดลงในระยะถัดไป

ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในจีน ก็ไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับออสเตรเลีย ทำให้จีนหยุดซื้อถ่านหินจากออสเตรเลียชั่วคราว และเกิดจากนโยบายจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลจีนเอง ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้อยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขได้

ปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรปก็คล้ายกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างยุโรปและรัสเซีย ซึ่ง ล่าสุด รัสเซียได้ประกาศพร้อมส่งก๊าซให้ยุโรปเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในไม่ช้า

ประเด็นสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม คือพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ประสิทธิผลของระบบเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าในอดีตมาก ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ในระยะยาว      

สำหรับประเทศไทย เงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวล เพราะกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอมาก และเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับต่ำกว่าศักยภาพ รวมทั้งรัฐบาลมีกลไกควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไปผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ผมเชื่อว่าหุ้นไทยยังเป็น Asset Class ที่น่าลงทุน และเราน่าจะได้เห็น SET Index กลับไปเทรดที่ระดับ 1,750 - 1,800 จุดในปีหน้า