เงินเฟ้อดูท่าจะยืดเยื้อ .. สินทรัพย์ไหนน่าสนใจในช่วงเวลาแบบนี้

เงินเฟ้อดูท่าจะยืดเยื้อ .. สินทรัพย์ไหนน่าสนใจในช่วงเวลาแบบนี้

ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและการเกิด Stagflation ในต่างประเทศดูจะถูกพูดถึงกันบ่อยขึ้นในช่วงหลัง เรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจจะยังไม่ชัดเจนมากนักในบ้านเรา


แต่ในต่างประเทศดูเหมือนว่าเรื่องของเงินเฟ้ออาจจะไม่จบลงง่ายๆ เหมือนที่คาดไว้ในช่วงก่อนหน้า แม้ทางการจะสื่อสารต่อเนื่องว่าแรงกดดันเกิดจากปัจจัยชั่วคราวและจะไม่ส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ในแง่ของการลงทุน เราก็ไม่สามารถไว้วางใจได้เสียทีเดียว เนื่องจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่างๆ และแน่นอนว่านั่นย่อมรวมถึงตลาดการเงินและราคาสินทรัพย์ต่างๆ ด้วยนั่นเอง

แรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา และน่าจะทรงตัวต่อเนื่องไปอีกระยะเวลาหนึ่งนั้น อย่างน้อยก็ไปจนถึงปีหน้า เกิดจากหลายๆ ปัจจัย อย่างแรกคือเรื่องของราคาพลังงานซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง เช่น ในยุโรปราคาของก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้นกว่า 5 เท่าโดยประมาณในปีนี้ หรือล่าสุดดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ในเดือน ก.ย. สูงที่สุดในรอบกว่า 25 ปี อันเป็นผลมาจากราคาถ่านหินและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่สองคือเรื่องของการขาดแคลนชิปเซ็ตอันเป็นผลมาจากสงครามการค้า ปัญหาภัยภิบัติ และมาตรการจากการแพร่ระบาด ทำให้หลายๆ อุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้รับผลกระทบและมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือทำให้ผลิตสินค้าไม่ได้ตามจำนวนก่อให้เกิดแรงกดดันด้านราคา

ปัจจัยที่สามคือเรื่องของราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น โดยข้อมูลจากสหประชาชาติล่าสุดพบว่าราคาอาหารโดยเฉลี่ยทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน 

และสุดท้ายคือเรื่องของราคาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เช่น ในสหรัฐฯ และอังกฤษ จากอุปสงค์ของผู้บริโภคหลังเปิดเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้คาดว่าปัญหาแรงกดดันเงินเฟ้อหรือการขาดแคลนพลังงานน่าจะไม่ใช่ปัญหาที่จะลดลงในเร็ววัน และต้องใช้เวลาซักพักนึงในการลดแรงกดดันดังกล่าว

ในส่วนของการลงทุนในภาวะแบบนี้ จากข้อมูลในอดีต สินทรัพย์ที่มักจะทำได้ดีในช่วงที่เงินเฟ้อสูงนอกเหนือไปจากสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง และทองคำในฐานะของสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation Hedged Asset) แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Real Asset เช่น อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่เราจะพูดถึงเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ (Demand Pull) เป็นหลัก ในขณะที่รอบนี้อาจจะมีส่วนผสมของทั้งอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้นหากเราจะคิดลงทุนหรือปรับพอร์ตในสินทรัพย์กลุ่มนี้ เราจำเป็นจะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะของสัญญาเช่าสั้นๆ หรือที่สามารถปรับขึ้นตามเงินเฟ้อได้ กลุ่มที่สามารถส่งผ่านราคาไปยังผู้เช่าหรือผู้บริโภคได้ รวมถึงกลุ่มที่มีอุปทานจำกัด และอาศัยระยะเวลาหนึ่งก่อนจะเพิ่มอุปทานได้ และอาจพิจารณากลุ่มที่ตอบโจทย์เรื่องของการเติบโตของกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น e-Commerce หรือ เรื่องของพลังงานทางเลือกและ ESG ควบคู่ไปด้วย

ในขณะที่หุ้นซึ่งเป็นที่พูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ว่าหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) จะได้รับผลกระทบเยอะกว่ากลุ่มมูลค่า (Value Stock) ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง ข้อมูลในอดีตก็แสดงให้เห็นในลักษณะดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ต้องดูแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยควบคู่กันไปด้วย แน่นอนว่าในท้ายที่สุดหากเงินเฟ้อกดดันดอกเบี้ย ก็อาจจะทำให้หุ้นเติบโตถูกเทขายออกมา ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนส่วนใหญ่ให้มูลค่ากับหุ้นในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ทำให้ความเสี่ยงในประเด็นนี้ยังมีอยู่ ในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะทำได้ดีในช่วงเงินเฟ้อสูงก็หนีไม่พ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์

รวมถึงกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer Staples) ต่างๆ รวมถึงกลุ่มธุรกิจ Healthcare ในบางส่วน ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับเงินเฟ้อก็จะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) และกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ (Information Technology) ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนจากอดีตที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีส่วนต่างไปจากปัจจุบัน ดังนั้นอาจจำเป็นพิจารณาถึงหมวดอุตสาหกรรมย่อย (Sub-Sector) เพิ่มเติม หากต้องการปรับน้ำหนักการลงทุนในส่วนนี้เพิ่มเติม

อีกจุดหนึ่งที่อาจจะต้องระมัดระวังคือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพันธบัตรและหุ้นในช่วงของเงินเฟ้อสูงที่อาจไม่ส่งผลดีต่อการกระจายความเสี่ยงนัก โดยจากข้อมูลในอดีตในช่วงที่เงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ย พันธบัตรและหุ้นโดยเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นจากเหตุผลหลายประการ เช่น หากเงินเฟ้อสูง กดดันดอกเบี้ยให้สูงจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ก็จะส่งผลเสียต่อทั้งหุ้นและพันธบัตรในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้จากเดิมที่เคลื่อนไหวสวนทางกัน กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน และส่งผลให้พอร์ตฟอลิโอของเรามีความเสี่ยงมากขึ้น แม้เราจะไม่ได้ทำอะไรเลยก็ตาม .. แม้ในปัจจุบันความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะมีไม่มากนัก แต่ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องพิจาณาและติดตามดูกันต่อไปครับ

นักลงทุนหลายๆ ท่านที่มีการลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนต่างๆ อาจจะใช้จังหวะเวลาแบบนี้ปรับพอร์ตฟอลิโอบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อจากปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิตและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นน่าจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการลงทุนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทำให้ยังคงต้องติดตามพิจารณาอย่างใกล้ชิดควบคู่ไปกันปัจจัยอีกหลายอย่าง เพื่อจะได้ปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างทันท่วงทีครับ ..