ข้อสังเกตก่อนการประชุมเรื่องภูมิอากาศ | ไสว บุญมา

ข้อสังเกตก่อนการประชุมเรื่องภูมิอากาศ | ไสว บุญมา

อีก 2 สัปดาห์ การประชุมใหญ่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ขององค์การสหประชาชาติจะเริ่มขึ้นในสกอตแลนด์

ก่อนการประชุมอันสำคัญยิ่งนี้ มีปรากฏการณ์อันน่าสยองของภูมิอากาศเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างสดพร้อมกับผลของการวิเคราะห์การวิจัยจำนวนมหาศาลในด้านนี้เผยแพร่ออกมา  ในเมืองไทย ปรากฏการณ์เป็นเรื่องฝนตกหนักติดต่อกันเป็นสัปดาห์ยังผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายส่วนของประเทศ  ในสหรัฐฯ ซึ่งมีพื้นที่กว้างกว่าประเทศไทยราว 18 เท่า ปรากฏการณ์มีทั้งด้านความแห้งแล้งร้ายแรงต่อเนื่องกันนับปีในบางพื้นที่ยังผลให้เกิดไฟป่าหลายแห่งพร้อม ๆ กับพายุใหญ่ในหลายส่วนของประเทศทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั้งจากแรงลมและจากฝนที่เทลงมาแบบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น

สำหรับทางด้านการวิจัย ผลงานที่น่าสนใจเป็นพิเศษได้แก่ผู้เชี่ยวชาญได้นำการวิจัยในด้านความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศกว่า 1 แสนชิ้นมาให้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์  เขาต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนเพราะจำนวนการวิจัยมีมากเกินกว่ามันสมองของมนุษย์ธรรมดาจะสามารถอ่านและย่อยออกมาได้ในเวลาจำกัด  

การวิเคราะห์ของปัญญาประดิษฐ์ได้ข้อสรุปหลัก 2 ข้อที่ผู้เชี่ยวชาญคาดไม่ถึงซึ่งควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังต่อไป นั่นคือ 
(1) การวิจัยส่วนใหญ่ทำกันในประเทศที่พัฒนาจนก้าวหน้ามากแล้วและร่ำรวยและใช้ผลของการวิจัยนั้นเป็นฐานของการคาดคะเนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งล้าหลังและยากจนกว่าประเทศเหล่านั้น  
(2) ค่อนข้างแน่นอนว่า การวิจัยทั้งหลายนั้นนำไปสู่การคาดการณ์ซึ่งจะต่ำกว่าความเป็นจริง

ลองมองดูว่าข้อสรุปดังกล่าวอาจมีผลอย่างไรในกรณีของเมืองไทย  ในด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและพายุใหญ่เกิดบ่อยขึ้นและแต่ละครั้งร้ายแรงขึ้น การวิจัยของศูนย์ศึกษาภูมิอากาศในสหรัฐคาดคะเนว่า ราวครึ่งหนึ่งของ “สามเหลี่ยมทองคำ” อันอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลของไทยจะเสียหายอย่างหนักจากภาวะน้ำท่วมในอีก 20 ปีข้างหน้า

 (“สามเหลี่ยมทองคำ” ในที่นี้มิใช่พื้นที่ชายแดนย่านเชียงรายที่เชื่อมต่อกับพม่าและลาวซึ่งเคยมีความโด่งดังด้านการผลิตและค้ายาเสพติด หากเป็นพื้นที่อันเกิดจากการลากเส้นตรงจากปากแม่น้ำบางปะกงไปยังปากแม่น้ำแม่กลอง และจากปากแม่น้ำทั้งสองลากขึ้นไปบรรจบกันที่ปากน้ำโพ)  เนื่องจากการคาดคะเนนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง ความเสียหายจึงจะร้ายแรงกว่าที่เราคิดกันว่าเราได้เตรียมตัวไว้สำหรับรับมือกับมันอย่างเพียงพอแล้ว

ยิ่งกว่านั้น การคาดคะเนดังกล่าววางอยู่บนฐานของการ “เฉลี่ย” ผลของปรากฏการณ์ในแต่ละฤดูกาลออกมา  การใช้ค่าเฉลี่ยเป็นฐานของการออกแบบนโยบาย หรือการสร้างภูมิคุ้มกันผลร้ายของลมพายุจะไม่พอรับมือกับมันแน่ ทั้งนี้เพราะลมพายุบางลูกจะร้ายแรงขึ้นกว่าที่เคยปรากฏมาก่อนพร้อมกับเกิดบ่อยขึ้นด้วย  นั่นหมายความ สามเหลี่ยมทองคำเกินครึ่ง หรืออาจะทั้งหมดพร้อมกับพื้นที่ภายนอกจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุร้ายในระดับสูงกว่าที่คาด

ย้อนกลับไปที่การประชุมดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายและพฤติกรรมจนทำให้อุณหภูมิโลกไม่สูงขึ้นไปจนเกินระดับที่นักวิทยาศาสตร์แนะนำว่าไม่ควรเกิดหรือไม่  ด้านนี้ไม่น่าจะเกิดผลดีตามความหวัง ทั้งนี้เพราะทั้งในสหรัฐและจีนซึ่งเป็นผู้สร้างปัจจัยให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุดไม่มีทีท่าว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือพฤติกรรมตามที่ควรจะทำ  

นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังไม่ใจกว้างพอที่จะบริจาคทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามที่จำเป็นอีกด้วย  สังคมอเมริกันกำลังแตกแยกกันสูงมากทั้งทางความคิดและทางพฤติกรรมทำให้ยากที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ชาวโลก  ส่วนจีน ในระยะสั้นเพิ่งสั่งให้ผลิตและเผาถ่านหินเพิ่ม  และในระยะยาว ยังกระตุ้นให้ชาวจีนมีลูกเพิ่มขึ้นทั้งที่มีประชากรเกิน 1.4 พันล้านคนแล้ว   

ปัจจัยทั้งหลายที่อ้างถึงชี้ว่า ในระดับประเทศ ไม่ควรหวังว่าผู้อื่นจะยื่นมือเข้ามาช่วย  ในระดับบุคคล หากเป็นไปได้ ควรเพิ่มทางหนีทีไล่ หรือภูมิคุ้มกันไว้ให้สูงกว่าในระดับที่มาจากการคาดคะเนของฝรั่ง  โดยเฉพาะผู้อยู่ในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องใส่ใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ.