CBAM มาตรการลดโลกร้อนของ EU ที่ผู้ส่งออกต้องเตรียมตัว

CBAM มาตรการลดโลกร้อนของ EU ที่ผู้ส่งออกต้องเตรียมตัว

สหภาพยุโรปจะใช้มาตรการ CBAM หรือ กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เพื่อลดภาวะโลกร้อนของ EU แม้ประเทศไทยไม่อยู่ในกลุ่ม 20 ประเทศแรกที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจาก CBAM มากที่สุด แต่ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมตัวรับมือ

ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้สภาพดินฟ้าอากาศของโลกแปรปรวน เกิดภัยธรรมชาติ สาเหตุเกิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆ ทั้งตามธรรมชาติ และจากกระบวนการผลิตภาคเกษตรกรรม กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง ไปสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเกินสมดุล ทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก เกิดภาวะคล้ายเรือนกระจก ครอบโลกอยู่ที่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ความร้อนในโลกไม่กระจายออกไป เกิดการสะสมความร้อน ทำให้อุณหภูมิของโลกขยับสูงขึ้น เรียกก๊าซนี้โดยรวมว่า ก๊าซเรือนกระจก

UNFCCC :
เพื่อรับมือกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน อันเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ มีการจัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2535 และเปิดให้รัฐภาคีลงนามต่อมา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2537 ประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2537 เป้าหมายสูงสุดของอนุสัญญานี้คือ รักษาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนโดยมนุษย์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบภูมิอากาศโลก หลักการคือรัฐภาคีควรปกป้องระบบภูมิอากาศเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต

พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) : ต่อมามีการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญา UNFCCC ที่กรุงเกียวโตเมื่อปี 2540 มีการเสนอและรับพิธีสารภายใต้อนุสัญญาคือ พิธีสารเกียวโต มีการกำหนดรายชื่อประเทศที่จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงในอัตราที่กำหนด และต่อมามีการประชุมหารือกำหนดรายละเอียดวิธีการในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง กล่าวอีกนัยหนึ่งพิธีสารเกียวโตกำหนดโควตาที่ประเทศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก และวิธีการในทางปฏิบัติ

ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) : ในการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญา UNFCCC ที่กรุงปารีส เมื่อเดือน ธ.ค.2558 ได้มีการจัดทำและรับรองความตกลงปารีส เป็นความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ต่อจากพิธีสารเกียวโต เพื่อกำหนดกติการะหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความมุ่งมั่นเข้มมากขึ้น หลักการสำคัญคือ ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) : คือสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซอื่นที่เป็นก๊าซเรือนกระจก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือโควตาที่ผู้ประกอบการมีสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหากปล่อยหรือใช้สิทธิไม่หมดส่วนต่างที่ยังคงเหลืออยู่ ก็จะเป็นคาร์บอนเครดิต และอีกทางหนึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดการปล่อยหรือเก็บกักก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ก็จะได้สิทธิส่วนนี้บวกเข้าไปในคาร์บอนเครดิตของผู้ประกอบการรายนั้นอีก คาร์บอนเครดิตสามารถซื้อขายได้ ผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควตา สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตมาหักลบส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินไปได้

หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย คือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน ทำหน้าที่ให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนา และส่งเสริมโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็คือการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน :  เป็นแผนการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านภูมิอากาศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป เป็นมาตรการที่ออกโดยคณะกรรมาธิการยุโรป โดยมีแนวคิดมาจากมาตรการที่สหภาพยุโรป เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้การผลิตของผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

จึงเกิดการหลบเลี่ยง ส่งวัตถุดิบหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เข้มงวดเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสหภาพยุโรป และส่งสินค้ากลับมาขายในสหภาพยุโรป ในราคาที่ต้นทุนต่ำกว่า เป็นการได้เปรียบผู้ประกอบการในสหภาพยุโรป และจะมีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของยุโรป และของโลกโดยรวม และเพื่อให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปและนอกสหภาพยุโรปให้เท่าเทียมกัน

สหภาพยุโรปจะใช้มาตรการ CBAM เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 สินค้าที่นำเข้าที่จะอยู่ในบังคับของมาตรการ CBAM คือสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ซีเมนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า โดยผู้นำเข้าสินค้าซีเมนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้าจากนอกสหภาพยุโรป ยกเว้นไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ สวิตเซอร์แลนด์ จะต้องซื้อใบรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในราคาหน่วยยูโรต่อการปล่อยก๊าซ 1 ตันตามราคาเฉลี่ยที่มีการคำนวณตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งเท่ากับสหภาพยุโรปกำหนดให้มีการเรียกเก็บอากรนำเข้าสำหรับสินค้าดังกล่าว ในลักษณะคล้ายกับอากรตอบโต้การอุดหนุน 

แต่การเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน มีกติกากลางขององค์การการค้าโลกกำหนดไว้ หากมีปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้น ก็มีกติกาคือความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ภายใต้องค์การการค้าโลกเป็นเกณฑ์พิจารณา แต่มาตรการ CBAM ยังไม่มีความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกกำหนดไว้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดศึกษากันต่อไปว่า เมื่อมีข้อพิพาทในเรื่องนี้เกิดขึ้น จะมีการดำเนินการกันอย่างไร

ผลกระทบของ CBAM ต่อการส่งออกของไทย มีข้อมูลจากกรมยุโรปกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า จากการวิจัยของ UNCTAD ประเทศไทยไม่อยู่ในกลุ่ม 20 อันดับแรกของประเทศที่มีความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM มากที่สุด แต่ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยก็ควรเตรียมตัวปรับตัวในการผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย เพราะเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นมาตรฐานที่มีการกำหนดขึ้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศในไม่ช้า