Stagflation 1970 vs 2021 จุดเหมือน จุดต่าง จุดจบ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Stagflation 1970 vs 2021 จุดเหมือน จุดต่าง จุดจบ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ณ ปัจจุบัน ศัพท์เศรษฐกิจและการลงทุนที่ต้องรู้จักคือ Stagflation หรือภาวะข้าวของแพงขึ้น (หรือเงินเฟ้อ) แต่เศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะนี้ไม่ควรเกิดขึ้นพร้อมกัน

ภาวะเงินเฟ้อ มักมาเมื่อเศรษฐกิจร้อนแรง ทำให้ราคาสินค้าและบริการเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าแพงขึ้น และในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจชะลอหรือหดตัว มักทำให้รายได้ของประชาชนและบริษัทห้างร้านลดลง ความต้องการสินค้าและบริการก็จะลดลง ทำให้เงินเฟ้อต่ำลงหรือเกิดภาวะเงินฝืด

แต่สถานการณ์ Stagflation กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยครั้งสุดท้ายที่เคยเกิดภาวะนี้ขึ้น คือกว่า 50 ปีแล้ว ที่เงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งขึ้นถึงระดับ 12-14% ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นถึง 8-10% และทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง ขณะที่ในปัจจุบัน แม้อัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำจะไม่รุนแรงเท่าแต่ก็เริ่มส่งสัญญาณใกล้เคียงกัน โดยเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ในระดับ 5% ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลง โดยการจ้างงานใหม่ต่ำกว่าคาดมาก

ส่วนที่จีนเงินเฟ้อผู้ผลิตก็ขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะยอดค้าปลีก เช่นเดียวกับไทยที่เงินเฟ้อกลับขึ้นมาเป็นบวก สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่มีแนวโน้มที่จะไม่ขยายตัวหรือหดตัว

เมื่อเทียบของทั้งสองเหตุการณ์นั้น พบว่าสาเหตุของวิกฤติครั้งนั้น เกิดจากการที่สมาชิกกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันหรือ OPEC รวมกลุ่มกันลดกำลังการผลิต ส่วนสถานการณ์ Stagflation ในครั้งนี้ เกิดจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลจากราคาวัตถุดิบ  เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 

จะเห็นได้ว่า ราคาโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น เชื้อเพลิง โลหะอุตสาหกรรม และธัญพืช ต่างปรับเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปัจจุบันเข้าสู่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินก็ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีเช่นกัน ด้านโลหะอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง สังกะสี อลูมิเนียม ตะกั่ว นิเกิล และสินแร่เหล็ก ปรับตัวขึ้นสูงในระดับ 10-80% ในปีนี้ ส่วนราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งในสามในปีที่ผ่านมา 

ปัญหาพลังงานขาดแคลนในปัจจุบันกระทบต่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่น จีนและอินเดีย โดยปัญหาไฟฟ้าดับในจีนกำลังเข้าขั้นวิกฤติ โดยกว่า 20 มณฑลต้องมีการปันส่วนใช้ไฟฟ้า และต้องปิดไฟสาธารณะในยามวิกาล ปิดไฟจราจรยามค่ำคืน และจำกัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ทำให้โรงงานบางโรงที่มีการเปิดกะ 24 ชั่วโมงต้องปิดการผลิตในเวลากลางคืน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่อไป

ราคาโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลทั้งจาก (1) ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการเปิดประเทศหลังจากที่การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าเริ่มบรรเทาลงโดยเฉพาะในเอเชีย (2) การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด โดยผู้ผลิตไม่เร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ได้กำไรดี รวมถึงเป็นเพราะขาดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มายาวนาน โดยในฝั่งผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ในสหรัฐและยุโรปนั้นตัดงบลงทุนในการขุดเจาะใหม่ลงไปถึง 20-30% ในปี 2020-2022 เนื่องจากเห็นว่าในระยะยาวแล้ว การใช้เชื้อเพลิงแบบปกติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน จะถูกทดแทนด้วยพลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า จึงไม่เร่งที่จะขุดเจาะเพิ่ม 
 

แต่โชคไม่ดีที่การผลิตพลังงานสะอาดมีปัญหา เช่น ในยุโรป ไม่มีกระแสลมไปปั่นไฟฟ้า ขณะที่ทางการตั้งโควต้าพลังงานสะอาดและจำกัดการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ทำให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าขึ้น ส่วนโภคภัณฑ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสินแร่โลหะ ถูกกระทบจากความต้องการพลังงานทดแทนที่มากขึ้นทำให้จำเป็นต้องใช้สินแร่เหล่านั้นมากขึ้น เช่น นิกเกิล โคบอลต์ ดีบุก อลูมิเนียม หรือแม้แต่ทองแดงเพื่อใช้ในการเดินสายไฟ
 
ในจีนและอินเดีย ที่พึ่งพลังงานจากถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ก็ถูกกระทบจากการที่ถ่านหินถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่สกปรกกว่า ทำให้ขาดการลงทุนเพิ่ม ทำให้ทั้งสองประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในปัจจุบัน 

นอกจากนั้นการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางต่าง ๆ 

แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสถานการณ์ Stagflation ครั้งนี้และในปี 1970 มี 3 จุด คือ หนึ่ง อำนาจของลูกจ้างในการต่อรอง ผลจากสถานะของสหภาพแรงงานที่อ่อนแอลง ในปี 1970 คนงานประมาณ 38% ทั่วในประเทศพัฒนาแล้วเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองค่าจ้าง แต่ในปี 2019 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 16% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอำนาจต่อรองที่ลดลงคือ “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ” ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างแม้ค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม

ปัจจัยที่สอง ได้แก่ปัญหาด้านความสามารถในการผลิต (Productivity) โดยในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ความสามารถในการผลิตไม่ขยายตัวมาก เพราะนโยบายภาครัฐส่วนใหญ่ใช้ในการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งไม่ช่วยขยายศักยภาพในการผลิต แต่ผลักดันราคาให้สูงขึ้นแทน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในปัจจุบัน ผลผลิตต่อชั่วโมงที่ทำงานในอเมริกาเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ในกลางปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าของอัตราเฉลี่ยของปี 2010 ซึ่งอาจเป็นเพราะการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ คือจุดยืนของธนาคารกลาง ในช่วงทศวรรษ 1970 แม้นายธนาคารกลางบางคนเอง ก็ยังสงสัยในประสิทธิภาพของนโยบายการเงินว่า ไม่สามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้มากนัก โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงกดดันด้านค่าแรง แต่ในปัจจุบัน ธนาคารกลางต่าง ๆ ต่างเน้นนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ และพร้อมจะเบรคเศรษฐกิจเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนั้น การที่รัฐบาลต่าง ๆ ดำรงวินัยทางการคลังมากขึ้นก็มีส่วนทำให้เงินเฟ้อไม่พุ่งทะยานเช่นเดียวกัน 

ส่วนประเด็นจุดจบของวิกฤติ Stagflation ครั้งนี้  ผู้เขียนมองว่าสถานการณ์น่าจะบรรเทาลงในช่วงต้นปีหน้า โดยในส่วนน้ำมัน ผู้เขียนเชื่อว่าการผลิตที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจะมาเติมเต็มความต้องการที่มากขึ้นไปได้บ้าง นอกจากนั้น การลดทอน QE ก็จะช่วยลดทอนการเก็งกำไรในโภคภัณฑ์ได้เช่นกัน  แต่ในกรณีสหรัฐ สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาคือทางการจะสามารถคุมความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation expectation) ของผู้คนได้หรือไม่ ในขณะที่ในประเทศอื่น ๆ ความเสี่ยงน่าจะอยู่ที่เศรษฐกิจที่อาจชะลอกว่าคาด ผลจากการลดทอน QE ของประเทศเจริญแล้วที่จะส่งผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย 

ภาวะ Stagflation เริ่มมาเยือนแล้ว นักธุรกิจ นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายโปรดเตรียมตัว.
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)