บัณฑิต นิจถาวร : เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุด

บัณฑิต นิจถาวร : เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุด

ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ คือ เงินเฟ้อที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ ตัวเลขล่าสุดชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังสะดุด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากปัญหาคอขวดในระบบการผลิต

*ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล 
[email protected]

ภาวะดังกล่าวได้ยืดเยื้อมาพอควรจนห่วงกันว่า เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation คือ เศรษฐกิจชะลอพร้อมอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูง คำถามคือ ถ้าเป็นแบบนี้ นโยบายการเงินจะไปต่ออย่างไร อัตราดอกเบี้ยจะยังปรับขึ้นหรือไม่แม้เศรษฐกิจโลกสะดุด นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้ 

    ต้นเดือนกันยายนในบทความ “เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและอนาคตประธานเฟด” ในคอลัมน์นี้ ผมให้ความเห็นว่า ประเด็นที่ตลาดการเงินต้องติดตามคือ ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา Stagflation ในเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้การทำนโยบายการเงินยากขึ้น ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าพัฒนาการในระดับมหภาคของเศรษฐกิจโลกกำลังไปทางนั้น 

    อาทิตย์ที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้ข่าวว่าจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงจากร้อยละ 6 ที่ประเมินไว้เดือนเมษายนตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศหลักที่การฟื้นตัวแผ่วลงในไตรมาสสองและสาม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้เร่งตัวต่อจากข้อจำกัดด้านอุปทานที่ทำให้การผลิตในหลายอุตสาหกรรมขยายตัวตามความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นไม่ทัน 

ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐและยุโรปเดือนกันยายน คาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 4.1 และ 3.4 ตามลำดับ สูงกว่าเป้าของนโยบายการเงิน 

ข้อจำกัดด้านอุปทานที่พูดถึงสะท้อนหลายปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันขณะนี้ ที่รวมกันแล้วกลายเป็นช็อค (Shock) สำคัญต่อระบบการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุด ข้อจำกัดเหล่านี้ คือ  

    หนึ่ง ปัญหาคอขวดการผลิตในหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนสำคัญต้องปิดหรือ lockdown จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลผลิตออกมาช้าและไม่เพียงพอ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ในห่วงโซ่การผลิตและกระทบไปทั่วโลก 

     สอง ภาวะขาดแคลนพลังงาน จากที่การผลิตพลังงาน เช่น น้ำมัน ปรับตัวไม่ทันความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น นโยบายรัฐเองที่ต้องการลดการใช้น้ำมันและพลังงานจากฟอสซิลก็มีส่วนทำให้กระบวนการผลิตปรับตัวลำบาก นอกจากนี้ล่าสุดเราก็เห็นบทบาทของกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตรที่ยังไม่ตอบสนองที่จะเร่งขยายการผลิต จนคาดว่าราคาน้ำมันอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกและอาจถึงบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะมีผลอย่างมากต่อการผลิตทั่วโลก รวมถึงการผลิตอาหารและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

    สาม ปัญหาในอุตสาหกรรมเดินเรือที่การขนส่งสินค้าทางเรือปรับตัวไม่ทันความต้องการสินค้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จนกำลังการผลิตถูกใช้เต็มพิกัด อีกสาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ท่าเรือสำคัญต้องหยุดทำงาน คนงานต้องพักจนเกิดความล่าช้าในการขนถ่ายสินค้า เรือขนส่งสินค้าจอดค้างแน่นที่ท่าเรือ ไม่สามารถขนตู้สินค้าลงและขึ้นได้ เกิดปัญหาคอขวดในการขนส่งสินค้าทำให้ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น 7 -10 เท่า 

สี่ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะโควิด-19 ทำให้คนงานต้องพักงาน และบางส่วนยังไม่พร้อมกลับมาทำงาน เกิดปัญหาขาดแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญ ทำให้ค่าจ้างต้องปรับขึ้นเพื่อดึงคนงานเหล่านี้ให้กลับมาทำงาน

    นี่คือสถานการณ์ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น กระทบการผลิตและกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ห่วงกันคือ ถ้าปัญหาคอขวดเหล่านี้ไม่คลี่คลาย การผลิตจะชะลอนานและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะไม่ลื่นไหลและจะใช้เวลานานกว่าที่คาดกัน 

    ในแง่นโยบาย มุมมองเรื่องนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักและตลาดการเงิน ที่มองว่าภาวะคอขวดเป็นเรื่องชั่วคราวที่ในที่สุดจะผ่อนคลายลง ทำให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาเข้มแข็ง และผลที่ตามมาคืออัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดังนั้น ประเด็นที่น่าห่วงจึงไม่ใช่ปัญหาคอขวดและ  Stagflation แต่เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจร้อนแรง ปัญหาเงินเฟ้อ และราคาสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นจนอาจเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ มุมมองนี้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยควรปรับขึ้น เพียงรอให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้มแข็ง

    อีกด้านหนึ่งเป็นมุมมองนักวิเคราะห์บางกลุ่มที่มองว่า ปัญหาคอขวดจะใช้เวลาในการคลี่คลาย ตัวอย่างเช่น การเดินเรือที่คาดว่าปัญหาจะยืดเยื้อถึงปีหน้า ราคาน้ำมันที่อาจยืนระดับสูง เพราะอิทธิพลของกลุ่มโอเปก รวมถึงการปรับตัวด้านห่วงโซ่การผลิตของภาคธุรกิจที่ต้องการย้ายห่วงโซ่การผลิตให้รวมศูนย์ใกล้กันหรือย้ายเข้ามาในประเทศแทน (On-sharing) เพื่อลดความไม่แน่นอนอย่างที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ช็อกด้านอุปทานหรือ Supply Shock ไม่คลี่คลายเร็ว กระทบทั้งเงินเฟ้อและการฟื้นตัว และเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะแบบ Stagflation คือเศรษฐกิจชะลอและอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างน้อยระยะหนึ่ง

    ช่วงปี 70’s เศรษฐกิจโลกเคยเจอปัญหา Stagflation โดยต้นเหตุมาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน หรือ Oil Shock ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงมาก บทเรียนสำคัญในแง่นโยบายช่วงนั้น คือ นโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับการแก้เงินเฟ้อแม้จะมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงจนประชาชนเชื่อว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไป เงินเฟ้อจะแก้ยาก

ธนาคารกลางสหรัฐในช่วงนั้นโดยนายพอล โวค์เกอร์ (Paul Volcker) จึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งประสบความสำเร็จ และเมื่อเงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจก็กลับมาขยายตัว ดังนั้น ถ้าจะเอาประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียน อัตราดอกเบี้ยควรต้องปรับขึ้นแม้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ 

    โดยสรุป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ไม่ราบรื่น แต่สะดุดเพราะปัญหาคอขวดด้านการผลิต เมื่อปัญหาคอขวดคลี่คลาย การฟื้นตัวจะกลับมาเข้มแข็งแต่เงินเฟ้อจะเร่งตัว ทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้น ในกรณีปัญหาคอขวดยืดเยื้อจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะแบบ  Stagflation อัตราดอกเบี้ยก็ควรต้องปรับขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ

    ดังนั้นไม่ว่าจะมองอย่างไร อัตราดอกเบี้ยคงต้องปรับขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว แต่จะช้าหรือเร็วแค่ไหนในแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ประเทศมี ที่สำคัญเมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ ผู้ทำนโยบายต้องให้ความสำคัญกับการแก้เงินเฟ้อก่อน อย่าห่วงเศรษฐกิจหรือการฟื้นตัวจนสายเกินแก้.