ความพยายามปฏิรูป "ธรรมาภิบาลเชิงรุก" ที่ญี่ปุ่น

ความพยายามปฏิรูป "ธรรมาภิบาลเชิงรุก" ที่ญี่ปุ่น

สถานการณ์โควิดทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย มีแนวคิดว่า "การปฏิรูปธรรมาภิบาลของบริษัท" สามารถช้เป็นเครื่องมือฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับเครื่องมือหลักอย่างนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน

ผู้เขียน : ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล, ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น
[email protected]

ในครั้งนี้ผู้เขียนจะขอชวนผู้อ่านย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่น ในการปฏิรูปธรรมาภิบาลของบริษัทญี่ปุ่นในเชิงรุก (Corporate Governance) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในภาพรวม

ในช่วง 10 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดฟองสบู่แตก ถูกเรียกว่า “10 ปีที่หายไป” เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงอย่างมาก พอเข้าสู่ช่วงปี ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2010 การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับช่วงก่อนที่จะเกิดฟองสบู่แตกได้ ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ช่วงปีราว ค.ศ. 1990 ถึง ค.ศ. 2010 จึงถูกเรียกว่าเป็น  “20 ปีที่หายไป” ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ในปี 2014 รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้มีการออกนโยบาย “ธนู 3 ดอก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจอาเบะโนมิกส์  โดยธนูดอกที่ 1 คือ นโยบายการเงิน ธนูดอกที่ 2 คือ นโยบายการคลัง และธนูดอกที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์การเติบโตเพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน

ส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับธนูดอกที่ 3 คือ การเพิ่ม “ขีดความสามารถในการหารายได้” ของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้บริษัทนำเงินเหล่านั้นมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง การควบรวมกิจการ(M&A)เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโต หรือขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน หรือนำเงินเหล่านั้นมาจ่ายเป็นเงินปันผลคืนให้ผู้ถือหุ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินเป็นวัฏจักรของเศรษฐกิจที่ดีและยั่งยืน 
 

การเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ของบริษัทญี่ปุ่นเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปหลายด้าน เช่น การปฏิรูประบบภาษีนิติบุคคล การปฏิรูปวิธีการทำงานในบริษัท และการปฏิรูปธรรมาภิบาลของบริษัทญี่ปุ่น  ในครั้งนี้ เราจะมาดูแนวทางการปฏิรูปธรรมาภิบาลของญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ของบริษัทญี่ปุ่นในช่วงนั้น โดยจะเน้นที่ตัวอย่างของการออกหรือแก้ไขกฎหมายกฎเกณฑ์ใหม่ ณ ตอนนั้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code) 
หน่วยงานที่กำกับดูแลการธนาคาร การประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่น (Financial Services Agency)และตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ได้ประกาศหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code) ซึ่งใช้หลักการ “ทำตามหรืออธิบาย” (Comply or Explain) กล่าวคือ บริษัทสามารถเลือกที่จะไม่ทำตามคำแนะนำซึ่งเขียนไว้ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีก็ได้ โดยจะไม่มีโทษทางกฎหมาย แต่ในกรณีเช่นว่านี้ บริษัทจะต้องอธิบายเหตุผลที่ไม่ทำตามคำแนะนำดังกล่าว กฎเกณฑ์ลักษณะนี้ถูกเรียกว่า soft law ซึ่งหมายถึง กฎเกณฑ์ที่ไม่มีโทษทางกฎหมาย 

ถึงแม้กฎเกณฑ์เหล่านี้จะไม่มีโทษทางกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทเลย กล่าวคือ บรรดานักลงทุนก็จะประเมินว่า บริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อใดและเหตุผลที่ไม่ปฏิบัติตาม และการประเมินนี้ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของนักลงทุน เช่น การขายหุ้น การใช้สิทธิออกเสียง และพฤติกรรมของนักลงทุนเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อบริษัทโดยทางอ้อม
 

การแก้ไขกฎหมายบริษัท
ประเด็นหลักของการแก้ไขกฎหมายบริษัทเมื่อปี ค.ศ. 2014 คือ การปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลของคณะกรรมการบริษัท ด้วยการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องแต่งตั้งกรรมการอิสระ ถ้าบริษัทไม่กระทำการแต่งตั้งดังกล่าวก็จะต้องอธิบายเหตุผลต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นพิจารณา 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งระบบคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ (audit and supervisory committee) เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของบริษัทในการกำหนดรูปแบบธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นระบบที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเอง

ระบบนี้จะจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ (audit and supervisory committee)  ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการทำงานของคณะกรรมการ ระบบนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ตามข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ของสมาคมกรรมการของประเทศญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันบริษัทในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ภาค 1 กว่า 30% เลือกใช้ระบบนี้ 

ในขณะที่ระบบที่คล้ายกับของไทยมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วย 3 คณะกรรมการ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา และคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน มีบริษัทเลือกใช้เพียงประมาณ 3%

หลังจากจุดเริ่มต้นช่วงปี ค.ศ. 2014 ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนากฎหมายและการกำกับด้านธรรมาภิบาลมาโดยตลอด โดยมีทั้งระบบที่เหมือนและแตกต่างจากระบบของต่างประเทศ ซึ่งในหลาย ๆ ด้านก็เป็นมาตรการที่ประเทศไทยก็มีอยู่แล้ว ณ ปัจจุบันโดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ โดยปกติ การปฏิรูปกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทในประเทศอื่น ๆ มักจะมีสาเหตุมาจากการเกิดเรื่องอื้อฉาวหรือการทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นเรียกสิ่งนี้ว่า “ธรรมาภิบาลเชิงรับ” หมายถึง การสร้างธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันเรื่องอื้อฉาวหรือการทำผิดกฎหมาย 

แต่การปฏิรูปธรรมาภิบาลในครั้งนี้ของญี่ปุ่นต่างจากประเทศอื่น ๆ เนื่องจากมีจุดประสงค์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อทำให้บริษัทญี่ปุ่นมีรายได้ กำไร และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศ และหวังว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในที่สุด ซึ่งที่ญี่ปุ่นเรียกสิ่งนี้ว่า “ธรรมาภิบาลเชิงรุก”

 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลักฐานจากการวิจัยเชิงประจักษ์ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ที่ญี่ปุ่นเองก็ยังมีความเห็นที่สงสัยอยู่ว่า ธรรมาภิบาลที่ดีทำให้ความสามารถในการหารายได้ ทำกำไร หรือประสิทธิภาพของบริษัทดีขึ้นจริงหรือไม่ 

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มีการออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code) และกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลมานานแล้วเช่นกัน และแนวทางการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของไทยนั้นก็มีความคลายคลึงกับของประเทศญี่ปุ่นที่ได้นำเสนอไปข้างต้น ทั้งยังมีหนึ่งในจุดมุ่งหมายคือเพื่อสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นจุดมุ่งหมายเชิงรุกคล้ายคลึงกับของประเทศญี่ปุ่น   

นอกจากนี้ในปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต ก็ยังมีโครงการหลายโครงการเพื่อผลักดันการระดมทุนของ SME เช่น โครงการ SME-PP และ SME-PO ซึ่งเป็นนโยบายเชิงรุกที่ทางผู้เขียนเห็นว่าจะมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทางที่ดีอีกด้วย.