ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ผู้บริหารทุกองค์กรต่างยอมรับว่า องค์กรตนเองต่างเผชิญการเปลี่ยนแปลงจากภาวะ Disruption ที่กำลังเกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกองค์กรจะสามารถปรับตัวให้พร้อมและก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ตามที่ต้องการ

องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงนั้น จะบอกว่าเป็นเพราะมองไม่เห็นถึง Disruption และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ไม่ใช่ เพราะโลกยุคปัจจุบันข้อมูลข่าวสารสื่อและกระจายกันอย่างรวดเร็ว จากการสังเกตพบว่าองค์กรต่างๆ ที่พยายามปรับตนเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีนั้น จะต้องอาศัยความกล้าของผู้บริหารเป็นปัจจัยสำคัญเลยทีเดียว
    ความกล้านั้นไม่ใช่ความบ้าบิ่นหรือมุทะลุ แต่เป็นความกล้าของผู้บริหาร ที่จะเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมไปสู่สิ่งใหม่ที่เหมาะสมมากกว่า รวมทั้งกล้าที่จะมองข้ามผลการดำเนินงานระยะสั้นเพื่อนำพาองค์กรสู่เป้าหมายในระยะยาวที่ดีและท้าทายมากกว่า ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงองค์กรที่เริ่มต้นจากความกล้านั้นยังประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆ อีกหลายประการ ได้แก่
    1. กล้าที่จะคิดใหม่และคิดนอกกรอบ โดยไม่นำเอาข้อจำกัดหรืออุปสรรคเดิมๆ มาเป็นข้อจำกัด และหาหนทางในการทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดและเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่นั้นจริงๆ ก็ไม่ได้ใหม่ถึงขั้นที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่สามารถเรียนรู้จากองค์กรและอุตสาหกรรมอื่น หรือ แม้กระทั่งการมองเรื่องเดิมด้วยมุมมองใหม่ๆ
    2. การทำงานร่วมกับกรรมการบริษัท กรรมการบริษัทจะต้องเข้าใจและเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็ควรจะได้มีส่วนร่วมและรับรู้ถึงแผนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อีกทั้งได้โอกาสในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อคิด หรือ ตั้งคำถามเพื่อให้ผู้บริหารได้คิดทบทวน เมื่อกรรมการส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเห็นด้วยแล้ว แผนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ย่อมได้รับการสนับสนุนและมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

3. การกระตุ้นและดึงดูดผู้บริหารระดับรอง และพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการทำให้ทุกคนเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง จากนั้นฉายภาพให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น เมื่อสำเร็จ จะส่งผลดีต่อองค์กรและทุกๆ คนได้อย่างไร

ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับรองและผู้เกี่ยวข้อง ได้แสดงความคิดเห็น ได้แสดงความสามารถ และมีความรู้สึกร่วมของการเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ซีอีโอที่ดีก็จะเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาในรายละเอียดและเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ซีอีโอต้องพร้อมยอมรับก่อนว่าตนเองไม่ได้เก่งและรู้ไปในทุกเรื่อง
    4. การมองโอกาสมากกว่าความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งจะมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงเกิดขึ้นเสมอ องค์กรที่จะกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมจะพิจารณาทั้งโอกาสและความเสี่ยง แต่จะให้น้ำหนักและความสำคัญกับโอกาสมากกว่าความเสี่ยง เพราะถ้ามุ่งเน้นที่ความเสี่ยงมากกว่าโอกาส ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่ใช่แค่ไม่กล้าเท่านั้น ขวัญ กำลังใจของคนในองค์กรที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงก็จะหดหายไปด้วย
    5. การสื่อสารอย่างฉลาด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งย่อมนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกตจากบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ดังนั้นแผนการสื่อสารจะต้องมาควบคู่กับแผนการเปลี่ยนแปลงเสมอ

และที่สำคัญคือต้องสื่อสารอย่างฉลาดสามารถทำให้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับรู้และสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายลัพธ์ที่ได้จาการสื่อสารจะกลายเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโดยมิรู้ตัว

6. มองหาโอกาสที่จะสร้างพันธมิตร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจจะนำพาองค์กรไปสู่จุดที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้นถ้าสามารถหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยเหลือได้ ก็ย่อมจะทำให้โอกาสของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสำเร็จมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับการยอมรับมากขึ้น
    7. การผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การประกาศแผนการเปลี่ยนแปลง แผนการเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงและกรรมการ) ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงจะมองไม่เห็นในระยะสั้น จะต้องรอดูในระยะปานกลางและยาว และที่สำคัญคือในระหว่างทางเดินนั้นก็ต้องพร้อมที่จะปรับแผนและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา.