ข้อคิดเกี่ยวกับวิกฤติและเสถียรภาพระบบการเงิน

ข้อคิดเกี่ยวกับวิกฤติและเสถียรภาพระบบการเงิน

อาทิตย์ที่แล้วคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติไม่เอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งผมเห็นด้วย

คณะกรรมการนโยบายการเงินให้ความเห็นว่า มาตรการทางการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่านี้ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจขณะนี้ จากที่ปัญหาของเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยแพงแต่เป็นการอัดฉีดและกระจายสภาพคล่องให้กับภาคเศรษฐกิจจริงที่กำลังมีปัญหาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งสำคัญต่อการฟื้นตัวและต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 

ระบบการเงินสำคัญต่อเศรษฐกิจและในทุกวิกฤติ การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก จากที่ระบบเศรษฐกิจจะทำงานไม่ได้ถ้าระบบการเงินของประเทศไม่ทำงาน หรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือทำงานครึ่งๆ กลางๆ อย่างที่ทราบหน้าที่ของระบบการเงินคือ เป็นที่เก็บรักษาเงินออมหรืออำนาจซื้อของประชาชน เป็นตัวกลางที่ให้สภาพคล่องและเงินลงทุนต่อประชาชนและภาคธุรกิจผ่านการกู้ยืม และเป็นกลไกการชำระเงินของประเทศ ดังนั้น ในทุกวิกฤติ เช่น ล่าสุดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008/09 และวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997/ 98 เราจึงเห็นนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินเชื่อ คือ ระบบสถาบันการเงิน ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น และวิกฤติคราวนี้ก็เช่นกัน

 

วิกฤติโควิดคราวนี้ถือว่ารุนแรงมากสุด เพราะเป็นทั้งวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลต่อชีวิต เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก รวมถึงสร้างแรงกดดันต่อภาคการเงินทั้งในแง่สภาพคล่องและเสถียรภาพ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นรัฐบาลทุกประเทศยกระดับการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งโดยนโยบายสาธารณสุขเพื่อรักษาชีวิตและหยุดการระบาด นโยบายการคลังเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินเพื่อดูแลต้นทุนการทำธุรกิจหรืออัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ และการอัดฉีดและกระจายสภาพคล่องเพื่อช่วยภาคธุรกิจ ช่วยประชาชนและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

ในทางปฏิบัติ เราจึงเห็นมาตรการนโยบายทางการเงินออกมาช่วยเศรษฐกิจในหลายรูปแบบจากทั่วโลก เช่น การอัดฉีดและเสริมสภาพคล่อง การกระจายสินเชื่อไปสู่ภาคธุรกิจที่มีปัญหา การค้ำประกันเงินกู้ของภาคธุรกิจ การให้ความช่วยเหลือในเรื่องการชำระหนี้ เช่น ปรับโครงสร้างหนี้พักชำระหนี้ ผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ และผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความคล่องตัวเพื่อเอื้อต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ภายใต้เงื่อนไขหรือหลักของการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

สำหรับบ้านเรา วิกฤติครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างและแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจก็ไปในแนวทางนี้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ของมาตรการที่ได้ทำไปและมีการปรับเงื่อนไขการช่วยเหลือตามข้อมูลและสถานการณ์

 

กลุ่มแรก คือ มาตรการสภาพคล่อง คือช่วยเหลือการขาดสภาพคล่องชั่วคราวจากผลของวิกฤติทั้งกับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจเอสเอ็มอี โดยมาตรการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการสามารถพยุงเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยมีกลไกค้ำประกันสินเชื่อจากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและธุรกิจขนาดใหญ่ผ่านการรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ มาตรการเหล่านี้เริ่มต้นแบบกว้างในระยะแรกเพื่อกระจายประโยชน์ จากนั้นก็ปรับมาเป็นแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อเจาะลึกธุรกิจที่มีปัญหา

 

กลุ่มสอง คือ แก้ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ ด้วยมาตรการพักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้และพักทรัพย์ พักหนี้ ทั้งหมดก็เพื่อผ่อนภาระให้ประชาชนและผู้ประกอบการในการชำระหนี้ เสริมด้วยการให้สินเชื่อเพิ่มเติมในบางกรณี คือ หลังการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้

 

กลุ่มสาม คือ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการนำมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ไปปฏิบัติใช้ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกค้าและบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขของการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือโดยมีความเป็นธรรมต่อลูกค้า เช่น ปรับปรุงวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เป็นต้น

 

 มาตรการเหล่านี้ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการประคับประคองธุรกิจในช่วงวิกฤติให้สามารถเดินต่อได้ ให้มีสภาพคล่องในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจมีปัญหา เท่าที่ทราบการตอบรับมาตรการเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจและบริษัทที่ได้ประโยชน์มีทั้งบริษัทในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่การกำกับดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ มองไปข้างหน้า มีสองสามประเด็นที่ทางการจะต้องระวังและควรติดตามสถานการณ์และผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด

 

เรื่องแรกคือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ที่ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่อาจรุนแรงขึ้นและ/หรือลากยาว ล่าสุดแบงค์ชาติประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 0.7 และมีความเสี่ยงด้านต่ำที่เศรษฐกิจอาจแย่กว่าที่ประเมิน ประเด็นคือภาวะตกต่ำที่ยืดเยื้อจะทำให้ภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจของสถาบันการเงินยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ด้านตลาด สภาพคล่องและด้านปฏิบัติการโดยเฉพาะจุดโหว่ที่มากับดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงินของประเทศที่ต้องประเมินใกล้ชิดและวางใจไม่ได้

 

สอง เศรษฐกิจที่ตกต่ำนานและการให้ความช่วยเหลือที่ลากยาวตามสถานการณ์ จะทำให้สภาพที่แท้จริงของระบบการเงินและฐานะของสถาบันการเงินประเมินยากขึ้น ผู้กำกับดูแลจึงต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจมีต่อสถาบันการเงิน

 

สาม เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ก็ควรหยุดหรือลดทอนลง  ประเด็นสำคัญเรื่องนี้คือจังหวะเวลาที่จะลดทอนการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ควรทำเร็วเกินไป จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มถูกกระทบไปด้วย และไม่ควรทำช้าเกินไป เพราะจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ยิ่งด้อยค่า การปรับตัวของภาคธุรกิจเกิดขึ้นช้า และปัญหาหนี้สินของภาคเอกชนจะลากยาวหรือไม่มีการเตรียมตัวแก้ไข ทั้งหมดจะบั่นทอนความเข้มแข็งของภาคธุรกิจหลังโควิดจบลง

 

ทางออกในประเด็นหลังนี้คือต้องค่อยๆ ทำ หมายถึงลดมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นขั้นตอน เช่น ให้ความช่วยเหลือต่อเฉพาะกลุ่มที่ยังจำเป็น ในวงเงินช่วยเหลือที่อาจลดลงและทำควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัว

นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้.