อะไรร้ายกว่าโควิด-19?

อะไรร้ายกว่าโควิด-19?

เมื่อต้นสัปดาห์ เซอร์เดวิด แอตเทนเบอโร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของประชาชน ในการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

            การประชุมดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนในสกอตแลนด์  หลังได้รับการแต่งตั้ง เซอร์เดวิดแถลงว่าในช่วงเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ปัญหาที่มากับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจะร้ายแรงกว่าปัญหาที่มากับการระบาดของไวรัสโคโรนา  สื่อมิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับถ้อยแถลงของเขา แต่เราพอคาดเดามุมมองของเขาได้ว่า อีกไม่นานการระบาดของไวรัสโควิด-19จะยุติเพราะโลกมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง  ส่วนในด้านมาตรการแก้ปัญหาที่มากับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศชาวโลกยังตกลงกันไม่ได้ส่งผลให้ความเสียหายร้ายแรงจะยืดเยื้อต่อไปไม่ว่าจะมาจากการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล การคืบคลานของทะเลทราย หรือลมพายุร้ายที่ยิ่งแรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น 

เหตุผลดังกล่าวเราอาจมองได้ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นปัญหาจากภาวะระยะสั้น  ส่วนภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาจากภาวะระยะยาวซึ่งแก้ยากมากเนื่องจากมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์  ความคิดหลักมาจากความเชื่อที่ว่า ยิ่งบริโภคมากยิ่งดี  ความเชื่อนี้ขับเคลื่อนพฤติกรรมจำพวกบริโภค หรือใช้ทรัพยากรโลกเกินความจำเป็นสำหรับดำเนินชีวิต  การบริโภคแนวนั้นนำไปสู่การทำลายธรรมชาติจนขาดสมดุลร้ายแรงซึ่งแสดงอาการออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศซึ่งมักรับรู้กันโดยทั่วไปในนามของภาวะโลกร้อน  หลังจากมีการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ การแก้ปัญหามักมองไปที่การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการสนับสนุนการบริโภค แต่ไม่พูดถึงการลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น

แน่ละ เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาไม่ว่ามันจะมากับไวรัสโคโรนา หรือมากับภาวะโลกร้อน  แต่ก่อนที่มันจะแก้ปัญหาด้านภาวะโลกร้อนได้ คนทรามได้นำเทคโนโลยีร่วมสมัยไปใช้ในด้านเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง  เรื่องนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ “คำสาปของเทคโนโลยี” ซึ่งคอลัมน์นี้พูดถึงแล้วหลายครั้ง  สัปดาห์นี้มีตัวอย่างคำสาปของเทคโนโลยีอันเกิดจากพฤติกรรมของคนทรามที่โดดเด่นมากได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากท้องถิ่นห่างไกลผ่านอินเทอร์เน็ตเจาะเข้าไปในคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมระบบส่งน้ำมันในภาคตะวันออกของสหรัฐ  คนทรามนั้นเรียกร้องให้เจ้าของจ่ายเงินก้อนใหญ่  หากไม่จ่าย จะทำลายฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ดังกล่าว  เรื่องราวการปล้นจี้โดยใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยเกิดกับผู้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตแทบทุกวัน  แต่มันไม่เป็นข่าว

อนึ่ง การใช้เทคโนโลยีไปในทางไม่สร้างสรรค์ หรือการทำลายจะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อไปหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19ยุติ  การใช้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลเพื่อปล้นจี้ดังที่อ้างถึงและในรัฐบาลเผด็จการที่ประสงค์จะปิดปากและทำร้ายประชาชนที่ต่อต้านความฉ้อฉลโดยคนของรัฐ  ความฉ้อฉลเป็นพฤติกรรมจำพวกหนึ่งซึ่งเกิดจากความมักง่ายที่ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า  ร้ายยิ่งกว่านั้น ในหลาย ๆ กรณีมันมีผลให้เกิดภาวะถอยหลังจนสังคมล้มเหลวซึ่งในขณะนี้มีตัวอย่างให้ดูอยู่ในหลายประเทศรวมทั้งเยเมน ซีเรียและเวเนซุเอลา  เป็นที่น่าสังเกตเป็นพิเศษว่า เวเนซุเอลามีน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมหาศาล  แต่แทนที่จะช่วยพัฒนา น้ำมันเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความมักง่ายและความฉ้อฉลยังผลให้ความยากจนแพร่หลายและสังคมล้มเหลว

หลังมองบ้านเขาแล้วหันกลับมาดูเมืองเราคงไม่พบความแตกต่างมากนักนอกจากในรายละเอียดทั้งในด้านความคิดและพฤติกรรม  ความมักง่ายและความฉ้อฉลโดยเฉพาะในหมู่คนของรัฐเป็นปัจจัยทำให้ไวรัสระบาดอย่างกว้างขวาง  ร้ายยิ่งกว่านั้นได้เกิดปรากฏการณ์วิกฤติศรัทธาในหมู่ประชาชนจนจำนวนมากเข้าร่วมกระบวนการ “ย้ายประเทศ”  ฉะนั้น แม้การระบาดของไวรัสจะแพร่หลายทำให้คนไทยป่วยและตายในช่วงนี้ แต่อีกไม่นานการระบาดจะยุติเมื่อคนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง  ส่วนความมักง่ายและความฉ้อฉลโดยคนของรัฐยังไม่มีวัคซีนจะทำให้ยุติได้  มันจึงจะระบาดต่อไปอีกนานจนอาจทำให้การพัฒนาถอยหลังเช่นในบางประเทศ  ด้วยเหตุนี้ เมืองไทยมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงกว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19.