สู่ ‘สังคมไร้เงินสด’อย่างปลอดภัย ด้วยความช่วยเหลือจาก‘เอไอ’

สู่ ‘สังคมไร้เงินสด’อย่างปลอดภัย  ด้วยความช่วยเหลือจาก‘เอไอ’

เอไอ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณานำมาใช้เป็นตัวช่วย เพิ่มความปลอดภัยระบบให้สูงขึ้น

ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงด้านการใช้จ่ายของคนไทย ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้สังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่คล่องตัวมากขึ้น สอดคล้องการใช้ชีวิตวิถีใหม่กับพฤติกรรมการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) ผ่านสมาร์ทโฟน ในบทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับบทบาทของ “เอไอ” ตัวช่วยที่สำคัญให้การเป็นสังคมไร้เงินสดเป็นไปอย่างสะดวก และปลอดภัยมากขึ้น

การใช้จ่ายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีปัจจัยด้านเทคโนโลยี ความพร้อมผู้ให้บริการ รวมถึงร้านค้าปลีกย่อยก็มีการปรับรูปแบบการจ่ายเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เกิดเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ และสืบเนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ผู้คนหันมาใช้การชำระเงินแบบไร้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นซื้ออาหารจากร้านอาหารโดยตรง หรือผ่านแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ ใช้จ่ายตามร้านสะดวกซื้อ ชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าประกัน การชำระค่าโดยสาร และกิจกรรมเพื่อความบันเทิงอื่นๆ 

การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ผ่านโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) หรือผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ซึ่งเป็นช่องทางที่เราคุ้นเคยและสามารถใช้จ่ายได้ง่ายแค่ปลายนิ้วผ่านสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นศักยภาพของเอไอที่เข้ามารองรับทุกรูปแบบการชำระเงินในชีวิตประจำวันของเรา

ข้อดีของการเป็นสังคมไร้เงินสดในมุมลูกค้าผู้ใช้บริการ คือ ช่วยให้เกิดความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าธรรมเนียมทำธุรกรรม และช่วยให้ง่ายต่อการบริหารการใช้เงินผ่านประวัติที่เกิดขึ้นในบัญชี ในส่วนผู้ให้บริการหรือธนาคาร สามารถลดต้นทุนการให้บริการธุรกรรมทางการเงิน ลดจำนวนพนักงานที่ให้บริการลูกค้า และยังลดต้นทุนการติดตั้งตู้ เอทีเอ็ม ได้ในหลายพื้นที่ ไปจนถึงการลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายธนบัตรอีกด้วย

แต่ความสะดวกที่เกิดขึ้น อาจมาพร้อมความเสี่ยงถูกโจรกรรมข้อมูล หรือเงินในบัญชีหากผู้ใช้ขาดความระมัดระวังในการใช้งาน มาตรการรักษาความปลอดภัยและระบบการจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผู้ให้บริการต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ แม้ว่าทุกธนาคารจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ทันสมัย มีระบบและขั้นตอนต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัย ทั้งการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน (KYC) การป้องกันการเข้าถึงข้อมูลด้วยการใส่พาสเวิร์ดส่วนตัว และการใช้รหัส OTP แต่ยังพบได้ว่ายังคงมีความผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่ดี แม้บางกรณีอาจเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ใช้เองก็ตาม

ในจุดนี้เอง เอไอ จึงเป็นสิ่งที่เราควรพิจารณานำมาใช้เป็นตัวช่วยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบให้สูงขึ้น เพราะด้วยศักยภาพในการเรียนรู้ของเอไอ เราสามารถสอนให้เอไอทำหน้าที่ป้องกันและตรวจจับการทำทุจริต (Fraud Detection) ผ่านการวิเคราะห์แบบพยากรณ์ (Predictive Analytics) จากการเรียนรู้ผ่านระบบ Deep Analytics โดยเอไอจะจดจำ เรียนรู้ และวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมการใช้งานของเจ้าของบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ และหากพบพฤติกรรมทางการเงินในบัญชีที่ผิดแปลกไปหรือเข้าข่ายว่าถูกโจรกรรมบัญชี เอไอก็จะบันทึกข้อมูลและแจ้งเตือนสิ่งที่ผิดปกติเหล่านั้นให้กับทางธนาคาร เพื่อทำการแจ้งเตือนหรือทำการยืนยันกับลูกค้าเจ้าของบัญชีได้ทันท่วงที

ในวันนี้ที่เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่เอไอมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การใช้ชีวิตด้านการเงินของเรามีความสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น จึงเห็นโอกาสที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและต่อยอดเป็นนวัตกรรมด้านอื่น ๆ ที่จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมในทุก ๆ ด้านต่อไปในอนาคต