วิกฤตคือโอกาส ทบทวน “Purpose” และ “Reset” วัฒนธรรมองค์กร

วิกฤตคือโอกาส ทบทวน “Purpose” และ “Reset” วัฒนธรรมองค์กร

ในยามวิกฤตเรามักจะมีเรื่องต้องทำ หรือปัญหาให้แก้ไข มากมายเต็มไปหมด จนเราอาจจะรู้สึกสับสน กังวล วุ่นวายใจ และต้องการความชัดเจนหรือจุดมุ่งหมาย

ดังนั้นบทบาทที่สำคัญอันหนึ่งในห้วงเวลานี้ของผู้นำคือการชี้ทิศทางให้กับทีมงานทราบว่า เรากำลังจะมุ่งหน้าไปที่ไหน อะไรคือเหตุผลในการเลือกเส้นทางนี้ อะไรคือภาพในอนาคตที่เราจะไปถึง ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถไปถึงวิสัยทัศน์ของเรา และเพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนและเกิดแรงบันดาลใจ ผู้นำจำเป็นที่จะต้องกลับมาทบทวนจุดมุ่งหมาย  (Purpose) หรือมิชชั่นขององค์กรพร้อมกันไปด้วย

ความชัดเจนตรงนี้ นอกจากจะช่วยจัดลำดับความสำคัญ และจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างขวัญและความเชื่อมั่นให้กับทีมงานที่จะต้องออกไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความอึมครึม ไม่แน่นอนในตลาด จุดมุ่งหมายและทิศทางที่ชัดเจนเปรียบเสมือนดาวเหนือ (หรือ GPS) ที่ทำให้เรามีความอุ่นใจว่า แม้เราอาจจะกำลังหลงทางอยู่ในป่าใหญ่ แต่ในที่สุดแล้วเราก็จะสามารถออกมาได้ หากเรามุ่งหน้าไปตามทิศทางหรือแสงสว่างของดวงดาวที่ผู้นำเป็นผู้ชี้ทางให้

เรื่องของ Purpose-driven Organization หรือองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยจุดมุ่งหมาย เป็นหัวข้อสำคัญที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19  ที่หลายองค์กรต้องกลับมามองในเรื่องของความยั่งยืนและการช่วยเหลือสังคม ผู้นำจำเป็นต้องทบทวน โมเดลธุรกิจ เป้าประสงค์ หรือเหตุผลในการดำรงอยู่ของธุรกิจ หลายองค์กรเริ่มตระหนักว่าการมุ่งที่  Purpose เป็นแนวทางที่ทำให้องค์กร หรือแบรนด์สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะการที่จะสามารถขึ้นเป็นผู้นำและชนะใจลูกค้าได้ ไม่ได้วัดกันแค่ยอดขายหรือผลกำไรปีต่อปี  แต่หัวใจของการดำเนินธุรกิจทุกวันนี้คือการมีส่วนร่วมในการ

สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกใบนี้ หรือการขับเคลื่อนองค์กรและแบรนด์ ด้วยการกำหนดเป้าหมาย หรือเป้าประสงค์ชัดเจนว่า องค์กร และแบรนด์นั้นๆ มีความหมายกับลูกค้า สังคม หรือต่อโลกอย่างไร สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้านไหน หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับคน และสังคมอย่างไร โดยมีตัวอย่างที่ดีในด้านต่าง ๆ จากองค์กรในประเทศไทย ที่ดิฉันอยากแบ่งปันให้ผู้อ่านคอลัมน์ Tips to Top ดังต่อไปนี้

ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรในการนำเอา “Sense of Purpose” เข้ามาสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยไดรฟ์การทำงานของพนักงานทุกคนไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือการเป็น  “The Most Admired Bank” หรือการเป็นธนาคารที่ลูกค้ารัก ด้วยการนำเสนอ ประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า”

หรือกลุ่มบริษัท 3C Group ผู้ให้บริการ ingredients  และผู้พัฒนาสูตรอาหารเสริมชั้นนำที่ได้นำเอา  Trust Score  ของลูกค้า และ key stakeholders มาเป็นตัวชี้วัดสำคัญแทนการตั้งเป้าตัวเลขยอดขาย หรือกำไร ในช่วง 1-2  ปีที่ผ่านมา แต่กลับทำให้ยอดขายเติบโตพุ่งพรวดสวนกระแสพิษเศรษฐกิจ และโควิด-19

รวมทั้ง SCG  ซึ่งนอกจากทิศทางและเป้าหมายด้านธุรกิจจะมีความชัดเจนมากๆ คือการมุ่งเติบโตในอาเซียน และการพัฒนาด้านนวัตกรรมแล้ว การสร้าง  Sense of Purpose ด้านบทบาทเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมส่วนรวมก็มีความชัดเจน และ เป็นแบบ อย่างที่ดีมาก ๆ ในทุกวิกฤตที่สังคมไทยเผชิญ รวมทั้งในวิกฤตโควิดนี้ที่ดิฉันเห็นข่าว มูลนิธิเอสซีจีร่วมบริจาคสมทบทุนในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดภายในประเทศเป็นเงินถึง  100  ล้านบาท ที่ดิฉันเชื่อว่าพนักงาน SCG หลายๆ คนที่ทราบเรื่องนี้ก็คงจะมีความภาคภูมิใจที่เป็นคน SCG และมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิดได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่หลายองค์กรในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ลูกค้า พันธมิตร หรือคู่ค้า และสังคมโดยส่วนร่วมในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ โดยเลือกที่จะให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายและความยั่งยืนมากกว่าผลกำไรเฉพาะหน้า

วิกฤตนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำจะทบทวน Purpose และ Reset วัฒนธรรมองค์กร เพื่อสร้างความยั่งยืน & ความได้เปรียบทางการแข่งขันใหม่ให้กับองค์กร

อย่างไรก็ตามการสร้าง  Purposeful Organization จะไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยความสำเร็จอย่างแท้จริง หากตัวของผู้นำเองขาด Purpose  หรือจุดมุ่งหมายในชีวิตของตัวเองว่าเราต้องการมุ่งหน้าไปที่ไหน เพื่อใคร และต้องการจะฝากชื่อไว้บนโลกใบนี้อย่างไร โดยอาจจะลองใช้ชุดคำถามดังนี้:

            -เราต้องการจะเป็นใคร

            -อะไรคือจุดแข็งของเรา

            -เราจะนำการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

            -เรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

            -เราอยากเห็นตัวเราเป็นอย่างไร เมื่อผ่านวิกฤตไปแล้ว

            -เราจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร เพื่อให้สามารถอยู่ในยุค  New Normal ได้

สุดท้าย ดิฉันอยากฝากคำกล่าวที่ให้ไว้สำหรับผู้นำทุกท่าน “In time of prosperity, build confidence. In time of crisis, build CHARACTER เพราะคาแรคเตอร์คือคุณสมบัติ หรือตัวตนที่อยู่ข้างในของคุณที่จะทำให้คุณเอาชนะได้ในทุกวิกฤตและทุกการเปลี่ยนแปลง

--------------------------------------------------------------------------------

พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ [email protected]

เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group: “Trusted Partner to Accelerate Transformation and Performance Improvement” https://www.pacrimgroup.com/#/home

ติดตามอ่าน “Tips to Top” ได้ทุกวันพุธที่  ของเดือนทางกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/blog/blogger/476