โลกอินเทอร์เน็ตอาจมี 2 ขั้ว “อเมริกา และ จีน”

อนาคตเราอาจต้องอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสองโลก แบ่งฝ่ายแยกขั้วโดย 2 ชาติมหาอำนาจ
อีริค ชมิดท์ อดีตผู้บริหารสูงสุดกูเกิล พยากรณ์ปี 2561 ไว้ว่า ทศวรรษหน้าจะมีอินเทอร์เน็ตสองค่ายที่แยกจากกัน และไม่ส่งข้อมูลระหว่างกัน ค่ายหนึ่งนำโดย “สหรัฐอเมริกา” และอีกค่ายหนึ่งนำโดย "จีน" ภาพนี้เราเห็นเค้าลางมาพักใหญ่จากที่บางประเทศ เช่น จีน แบนแอพพลิเคชั่นและโซเชียลมีเดียของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล และเฟซบุ๊คทั้งพัฒนาแอพและโซเชียลมีเดียตัวเอง คือ ไป่ตู้ (Baidu) และ วีแชท (WeChat) ส่วนสหรัฐแบนเทคโนโลยีด้าน 5จี จากบริษัทหัวเว่ยของจีน
ล่าสุด 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ลงนามคำสั่งห้ามชาวอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัทจีน เจ้าของแอพพลิเคชั่นติกตอก (TikTok) วิดีโอตอนสั้นยอดนิยมของบริษัทไบท์แดนซ์ (ByteDance) และแอพพลิเคชั่นวีแชท ที่ใช้รับส่งข้อความชื่อดังของบริษัทเทนเซ็นต์ มีผลตั้งแต่ 20 กันยายนนี้
ทรัมป์ ขีดเส้นตายให้ บริษัทไบท์แดนซ์ ขาย ติกตอก ให้บริษัทเทคโนโลยีอเมริกันภายในวันที่ 15 กันยายน แลกกับโอกาสที่แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะไม่ถูกแบนในสหรัฐ ขณะที่วุฒิสภาสหรัฐโหวตอนุมัติกฎหมาย ห้ามเจ้าหน้าที่โหลดแอพพลิเคชั่น ติกตอก ในอุปกรณ์ของรัฐบาล
เหตุผลหลักที่ทรัมป์อ้างในการแบนแอพพลิเคชั่นจากจีน คือ ความมั่นคงแห่งชาติ โดยระบุว่า แอพพลิเคชั่นเหล่านี้เก็บข้อมูลจากผู้ใช้ได้อัตโนมัติ ทั้งข้อมูลอินเทอร์เน็ต รวมถึงข้อมูลตำแหน่งผู้ใช้ ประวัติค้นหา รวมทั้งอาจถูกใช้ส่งต่อข้อมูลผิดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลจีน ซึ่งไบท์แดนซ์ และเทนเซ็นต์ออกมาปฏิเสธ
กระแสแบนแอพพลิเคชั่นจากจีนเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในอินเดีย ความสัมพันธ์จีนและอินเดียเสื่อมถอย สังคมออนไลน์อินเดียเรียกร้องให้คว่ำบาตรสินค้าจีน รัฐบาลอินเดียสั่งแบนแอพพลิเคชั่นจากจีน 59 แอพ รวมถึง ติกตอก โดยอ้างภัยคุกคามต่ออธิปไตย ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
การแบนแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ มีผลมากกว่าแค่การใช้งานในโซเชียล เช่น วีแชท ไม่ใช่แค่แอพพลิเคชั่นสำหรับส่ง แต่เป็นซูเปอร์ แอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อระหว่างคนจีนที่อยู่ในอเมริกาและประเทศจีน เพราะมีทั้งธนาคาร ระบบจ่ายเงิน ขณะที่แอพพลิเคชั่นส่งข้อความอื่นอย่าง ไลน์ วอทส์แอพ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ต่างถูกแบนในจีนทำให้อนาคตส่งข้อความออนไลน์สองประเทศนี้อาจลำบากขึ้นหากวีแชทถูกแบน
ผลกระทบแบนแอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีต่างๆ ของหลายประเทศ ตอกย้ำว่า อนาคตเราอาจต้องอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสองโลกที่ไม่เชื่อมต่อกัน แบ่งฝ่ายแยกขั้วโดย 2 ชาติมหาอำนาจ เหมือนยุคสงครามเย็นที่มีค่ายทุนนิยมและสังคมนิยม และไทยต้องเลือกรักษาสมดุลให้ดี ยุคสงครามเย็นที่ผ่านมาเราอาจเลือกข้างทุนนิยมในช่วงสงครามอินโดจีน แต่ด้วยความสามารถทางการทูตของเราทำให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี
สงครามเย็นครั้งใหม่นี้ ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไร สหรัฐอเมริกาเดิมเป็นผู้ผูกขาดตลาดเทคโนโลยีโลก ไทยเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของไทยส่วนใหญ่อยู่ในค่ายที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ เช่น การใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่ก็เป็นของบริษัทสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ค กูเกิล ยูทูบ ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม รวมถึงใช้บริการพับลิกคลาวด์ ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้ผู้ให้บริการของบริษัทสหรัฐอเมริกาและมีข้อมูลอยู่ต่างประเทศ
หากพิจารณาเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาแบนแอพพลิเคชั่นจากจีน ที่อ้างเรื่องความมั่นคงปลอดภัยโดยไม่อยากให้ข้อมูลออกนอกประเทศ และควบคุมโดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งไทยจะพบปัญหาคล้ายกัน ว่าการใช้เทคโนโลยีถูกผูกขาดโดยค่ายที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำข้อมูลและการทำงานของแอพพลิเคชันต่างๆ เราจะถูกควบคุมโดยค่ายเดียว เสี่ยงต่อความมั่นคง
ดังนั้น เราจำเป็นต้องจัดนโยบายการใช้เทคโนโลยีในอนาคตให้ดี ให้เรามีทางเลือก หรืออาจต้องพิจารณาใช้เทคโนโลยีของอีกค่าย เพื่อให้สามารถต่อรองหรือสามารถติดต่อสื่อสารกับอินเทอร์เน็ตอีกค่ายหนึ่งได้ สำคัญสุดในอนาคตการแข่งขันเป็นเรื่องเทคโนโลยี เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ข้อมูลหลายอย่างอยู่ภายในบ้านเรามากกว่าปล่อยให้ไปเก็บไว้ในต่างประเทศของค่ายใดค่ายหนึ่ง