สร้างภาพสถานการณ์จำลองอนาคต

สร้างภาพสถานการณ์จำลองอนาคต

เชื่อว่าสิ่งที่ผู้บริหารและผู้ประกอบการองค์กรในปัจจุบันทั่วทุกมุมโลกต่างก็ให้ความสนใจ ใส่ใจ และคำนึงถึงเหตุการณ์ความเป็นไปในอนาคต

“เมื่ออดีตผ่านไปแล้ว ปัจจุบันเริ่มสั่นไหว อนาคตคือความหวัง”

แน่นอนว่าในจำนวนของผู้บริหารที่มีความตระหนักและตื่นตัวอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อยากรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆที่มีนัยสำคัญและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ตนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอยู่มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะเตรียมการรับมือได้ทัน

แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือส่วนใหญ่ของผู้บริหารและผู้ประกอบการ ตลอดรวมจนถึงพนักงานที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆในทุกระดับชั้น ยังไม่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงมากพอ มองผิวเผินอาจจะรู้สึกว่าทุกคนพูดถึง แต่มีเพียงส่วนน้อยมากที่จะลงมืออย่างจริงจัง อาทิ ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆด้วยตนเอง ลงมือฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้แน่ใจว่ามีความรู้ความเข้าใจในความรู้ใหม่ๆที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จนถึงการทำซ้ำให้เกิดเป็นทักษะความสามารถอย่างแท้จริง

สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกๆสำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการองค์กรก็คือ การสร้างภาพสถานการณ์จำลองอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Scenario Planning) ให้เป็นส่วนหนึ่งหรือเพิ่มเติมเข้าไว้ในการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร (Strategic Planning) เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนจากรากฐานเดิมไปสู่รากฐานใหม่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญที่ทั้งดึง (pull) และดัน (push) ให้ไปสู่หมุดหมายใหม่ในทางธุรกิจการค้าและการแข่งขัน

ตัวอย่างการขยับปรับตัวของร้านค้าที่แต่เดิมจะยึดโยงอยู่กับสถานที่ตั้งและตัวร้านที่รอคอยลูกค้าเข้ามาเลือกหา ไปสู่โลกเสมือนที่ไม่มีตัวร้านค้าจริงแต่พร้อมรับกับการติดต่อหรือเข้าถึงจากลูกค้าใดๆก็ตามได้ทั่วทุกมุมโลก ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเงินอิเล็กทรอนิกส์ และส่งมอบสินค้าด้วยรถขนส่งไร้คนขับ เทคโนโลยีดิจิตัลกำลังทำหน้าที่เป็นทั้งตัวผลักดัน จากต้นทุนค่าใช้จ่ายเดิมที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป ด้วยคนงานที่หายากขึ้นและค่าเช่าร้านที่ต้องจ่ายทุกเดือนแต่ไม่ได้ช่วยสร้างยอดขายหรือจำนวนลูกค้าได้เลย เมื่อการค้าออนไลน์ทำให้การซื้อขายง่าย สะดวกสบายโดยที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง ร้านค้าใดที่ไม่เปิดช่องทางใหม่ก็คงอยู่รอดต่อไปได้ยาก และผลได้จากการที่สามารถรับลูกค้าได้ไม่จำกัดยังเป็นตัวดึงดูด สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตได้ง่ายกว่าออฟไลน์อย่างมหาศาล

ประเด็นคือแต่ละธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่รู้ไม่แน่ใจและมองไม่เห็นว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นเช่นไร ความกลัวจึงครอบงำความกล้า ดังนั้นกลยุทธ์การสร้างภาพสถานการณ์จำลองอนาคต จึงเป็นแนวทางและวิธีการที่เข้ามาช่วยทำให้ภาพที่เบลอนั้นดูชัดเจนแจ่มชัดมากขึ้น และทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกไปในหนทางใดที่มีความเสี่ยงน้อยและก่อให้เกิดรายได้และความยั่งยืนในอนาคต

Peter Schwartz ได้พูดถึง “Scenarios” หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “ฉากทัศน์” ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า The Art of Long View: Planning for the Future in an Uncertain World ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพไกลๆที่ยังไม่เกิดขึ้นของโลกที่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีทางของโลกที่อาจจะเปลี่ยนไปในอนาคต ซึ่งช่วยให้เราตระหนักและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมปัจจุบันของเรา

หนังสือยังระบุเหตุผลที่ผู้บริหารทุกคนควรเปิดใจ เปิดสมอง และมองโลกให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะกำหนดหนทางและเป้าหมายใหม่ในอนาคตได้อย่างถูกต้องแม่นยำไว้ว่า

(1)  if you get facts wrong you get your map wrong นั่นคือถ้าเรามีข้อมูลที่ไม่จริง ไม่มีแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ หรือไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แล้วเราใช้ข้อมูลนั้นซึ่งเราเชื่อว่าใช่ไปในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ ย่อมนำไปสู่หนทางที่ไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจที่ต้องการได้ อาจถึงขั้นผิดทิศผิดทางเลยก็เป็นไปได้

(2)  if you have only partial facts, you make your assumption, you get your map wrong หรือแม้ว่าเราจะมีข้อมูลความจริงที่รวมรวมมาได้อยู่ในมือก็ตาม แต่ถ้ามันเป็นแค่ความจริงบางส่วน หรือไม่ครบถ้วนรอบด้านมากพอ แล้วเราใช้ข้อมูลนั้นในการตั้งสมมติฐานในการกำหนดทิศทางขององค์กร ก็อาจทำให้เราเบี่ยงเบนออกไปจากเป้าหมายได้เช่นกัน

(3)  Once you have your map in your mind, it is incredible difficult to change. แต่ถึงแม้ว่าคุณจะมีแผนที่จะไปในใจของเราแล้วก็ตาม แต่มันก็ไม่ง่ายเลยที่จะลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ความยากในการลงมือปฏิบัติ การทำความเข้าใจกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง และการร่วมแรงร่วมใจเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย มีความท้าทายอย่างมาก

ทั้งได้สรุปไว้ให้เห็นภาพเป็นประโยคที่ว่า “If you have a wrong map, it leads you to the wrong actions, you will do wrong things.”

ดังนั้นกระบวนการที่องค์กรต้องเพิ่มเติมเข้าไปก่อนที่จะไปมองถึง ตัวแบบทางธุรกิจ (Business model) สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน (Case for change) และการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งโอกาสและอุปสรรค (SWOT analysis) เพื่อไปกำหนดแผนที่เชิงยุทธศาสตร์ (strategy map) ควรที่จะต้องทำสิ่งต่อไปนี้คือ (1) Strategic Intelligence Scanning (2) Foresight Framework (3) Scenarios (4) Strategic Opportunities และ (5) Strategic Options/Issues ซึ่งจะได้นำมาขยายความและตัวอย่างประกอบให้เห็นในโอกาสต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจในเชิงลึกสามารถศึกษาได้จากหนังสือดังกล่าวหรือเล่มอื่นที่ว่าด้วยเรื่อง Foresight