Future Design เครื่องมือออกแบบอนาคตองค์กรในยุคโลกป่วน

Future Design เครื่องมือออกแบบอนาคตองค์กรในยุคโลกป่วน

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแบบในปัจจุบัน อันเกิดจากการปฏิวัติเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ เทคโนโลยีบล็อกเชน

อินเทอร์เน็ตยุค 5G ที่จะนำไปสู่อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีชีวภาพและความจริงเสมือนซึ่งกำลังพลิกโลกในมิติต่างๆ อย่างรวดเร็ว เมื่อผนวกกับแนวโน้มใหญ่ทั้งการลดลงของอัตราการเกิดของประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ก็ส่งผลให้องค์กรแบบเดิมไม่สามารถใช้วิธีเดิมสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ใหม่ได้อีกต่อไป

เราจึงพบว่าองค์กรต่างๆ ได้มีความตื่นตัวมากขึ้นที่จะสร้างตนเองใหม่ (Reinventing) เพื่อเผชิญกับโลกยุคใหม่ที่เรียกกันทั่วไปว่ายุคโลกป่วน (Disruption World) นี้ หลายครั้งที่องค์กรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็ต้องล้มหายตายจากไป พร้อมกับการเกิดขึ้นขององค์กรรุ่นใหม่หลายแห่งที่เริ่มต้นขึ้นจากคนไม่กี่คนที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่อย่างเหมาะสม สามารถสร้างรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแบบใหม่ก็จะก้าวขึ้นมาแทนองค์กรแบบเดิมๆ ที่ปรับตัวช้า มีต้นทุนบุคลากรสูง และมีแรงต้านการเปลี่ยนแปลงจากภายในได้ในเวลาที่รวดเร็ว เราจึงพบข่าวสารของการลดคน ปิดสาขา ปรับโมเดลธุรกิจ และวิกฤตของวงการต่างๆ อย่างมากมาย

ที่ผ่านมา องค์กรหลายแห่งได้พยายามหาเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะมาช่วยระดมความคิดเพื่อสร้างตนเองขึ้นใหม่ โดยเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 2 เครื่องมือในปัจจุบันคือการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการมองอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight)

วิธีคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ถูกนำมาใช้ออกแบบสินค้าและบริการใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยกระบวนการคิดเชิงออกแบบมีข้อดีที่เน้นการเข้าถึงความต้องการและจิตใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง การสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ (Prototype) และทดสอบซ้ำๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่และช่วยรับรองว่าผู้บริโภคจะชอบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่องค์กรต่างๆ กระโดดเข้าสู่การใช้วิธีคิดเชิงออกแบบทันที กลับไม่ได้ผลดีดังที่ต้องการ เพราะข้อผิดพลาดที่สำคัญที่สุดคือการตั้งโจทย์แก้ปัญหา Pain Point ของคนในปัจจุบัน โดยขาดการมองอนาคตอย่างรอบด้าน และขาดการมองในเชิงระบบทั้งหมดโดยนำทุกปัจจัยสำคัญมาคิดร่วมกันอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือขาดการสร้างวิสัยทัศน์ในอนาคตร่วมกันก่อนที่จะออกแบบองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เนื่องจากการคิดเชิงออกแบบจะขาดมิติการคิดดังกล่าวไป

ในขณะที่หลายองค์กร ได้เลือกเครื่องมือการวางยุทธศาสตร์เชิงอนาคต หรือ Strategic Foresight เพื่อช่วยวางวิสัยทัศน์ในอนาคตให้กับองค์กร แต่สุดท้ายก็มักจะรู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์องค์กรเท่าที่ควร เพราะการใช้ Foresight แม้จะช่วยให้องค์กรได้ทิศทาง วิสัยทัศน์ และได้แนวยุทธศาสตร์เพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมาย แต่ก็จะยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่ได้ให้คำตอบ (Solution) ทั้งในเชิงสินค้าและบริการใหม่ รูปแบบธุรกิจแบบใหม่ ตลอดจนการจัดการทรัพยากรหลักขององค์กร สภาพแวดล้อม กฎระเบียบขององค์กร และโมเดลความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อที่จะผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์

เราจึงได้ยินมามากพอสมควรว่า แม้องค์กรอยากปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอันมหาศาลของยุคนี้ และอยากออกแบบองค์กรใหม่ แต่ก็ไม่รู้จะเลือกเครื่องมือใดดี บางแห่งเลือกทำ Foresight แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์ บางแห่งเลือกทำ Design Thinking แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์ ที่เป็นเช่นนี้ สาเหตุสำคัญเนื่องจากการทำ Foresight เป็นเครื่องมือที่ดีที่ช่วยทำให้เราได้ Vision แต่มักไม่ได้ให้ Solution กับเรา ในขณะที่การทำ Design Thinking ก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่ช่วยทำให้เราได้ Solution แต่กลับไม่ทำให้เราได้ Vision ดังนั้น แต่ละเครื่องมือจึงมีจุดอ่อนในตัวเองหากจะนำมาใช้เพื่อออกแบบองค์กร (Redesign) หรือเปลี่ยนผ่าน (Transform) องค์กรใหม่

ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ของเราจึงได้ทดลองออกแบบกระบวนการใหม่ โดยนำจุดแข็งของวิธีการต่างๆ มาผสานกันให้ลงตัว ซึ่งเราเรียกวิธีการใหม่นี้ว่า การออกแบบอนาคตหรือ “Future Design” และเมื่อได้ใช้กระบวนการนี้กับการออกแบบอนาคตขององค์กรชั้นนำหลายแห่งแล้วก็พบว่า สามารถตอบโจทย์ได้ดี  ทั้งนี้การออกแบบอนาคตจะเริ่มจากการใช้กระบวนการมองอนาคตผ่านวิธี Foresight ซึ่งมีเครื่องมือให้เลือกมากมายทั้งการคาดการณ์แนวโน้ม การค้นหาสัญญาณอ่อน (Weak Signal) การค้นหาปัจจัยที่ไม่แน่นอน การทำเดลฟาย การสร้างฉากทัศน์อนาคต (Scenario Building) และการย้อนพยากรณ์อดีต (Backcasting) ซึ่งจากกระบวนการทั้งหมดจะทำให้องค์กรได้เข้าใจถึงปัจจัยแนวโน้ม ความไม่แน่นอน และฉากทัศน์อนาคตขององค์กรของตนเองในอนาคต ซึ่งทำให้สามารถร่วมกันวางวิสัยทัศน์และระบุได้ชัดเจนว่าปัจจุบันองค์กรอยู่ ณ จุดไหน (Present Scenario) ภาพอนาคตที่หากไม่ทำอะไรจะเดินไปสู่จุดไหน (Likely Scenario) และองค์ต้องการไปสู่จุดไหนในอนาคต (Designed Scenario)

หลังจากนั้นองค์กรจะสามารถวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างปัจจุบันกับอนาคตที่พึงปรารถนาได้ว่าตนเองยังขาดอะไร (Gap Analysis) ซึ่งจะช่วยสร้างยุทธศาสตร์ในเรื่องต่างๆ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ และกำหนดโจทย์ขององค์กรได้อย่างถูกต้อง จากนั้นจึงนำโจทย์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ หรือสินค้าและบริการใหม่ที่จะทำให้องค์กรสามารถเดินทางจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาได้

Future Design จึงเป็นวิธีการที่จะช่วยออกแบบอนาคตใหม่ให้กับองค์กร เริ่มต้นตั้งแต่การมองอนาคตอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ สร้างยุทธศาสตร์ใหม่ และสามารถสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่และกระบวนการดำเนินการใหม่ที่สอดคล้องกันได้อย่างแท้จริง

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา