Policy Lab: คิดนโยบายอย่างไรให้ปัง!

Policy Lab: คิดนโยบายอย่างไรให้ปัง!

ห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Policy Lab กำลังเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่น่าสนใจสำหรับการกำหนดนโยบายอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมของประเทศ

เพราะ Policy Lab เป็นกลไกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ซึ่งหมายถึงการสร้างนโยบายใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง 

วันนี้สถาบัน Thailand Future จึงอยากจะเล่าตัวอย่างห้องปฏิบัติการนโยบายของอังกฤษ ซึ่งเป็น Policy Lab ชั้นนำของโลก ที่ได้สร้างความคิดเชิงนโยบายที่สดใหม่ เป็นพื้นที่ทดลองและทดสอบนโยบาย ตลอดจนเป็นที่ริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ให้กับรัฐบาลอังกฤษอย่างน่าสนใจ

หลักคิดที่สำคัญมากสำหรับห้องปฏิบัติการแห่งนี้ คือ การสร้างนโยบายแบบเปิด (Open policy)” Policy Lab จึงเป็น “พื้นที่กลาง” ที่เปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง ตลอดจนการมีส่วนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับทีมนโยบายผ่านการใช้เครื่องมือและเทคนิคใหม่ๆ ที่หยิบยืมมาจากการคิดเชิงออกแบบ การสร้างนวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ข้อมูล

Policy Lab มีส่วนช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ของอังกฤษ โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่ นวัตกรรมเชิงนโยบายที่เป็นทางออกของปัญหาได้ Policy Lab อังกฤษได้เน้นปฏิบัติการใน 3 เรื่องได้แก่ 1) การหาแนวทางการแก้ปัญหาและออกนโยบายใหม่ 2) การสร้างทักษะและความรู้ด้านนโยบายแก่ประชาชน และ 3) การสร้างแรงบันดาลใจในการคิดนโยบายใหม่ ๆ ผ่านการทดลองและทดสอบ

เราได้ศึกษาวิธีการของห้องปฏิบัติการนโยบายของอังกฤษแล้ว พบว่าห้องปฏิบัติการนโยบายเน้นความคล่องตัว ยืดหยุ่น ทดลองก่อนออกนโยบายจริง มุ่งตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการ และสร้างให้เกิดผลกระทบ  โดย Policy Lab มีกระบวนการค้นหาข้อมูลเชิงลึกตามความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ และมีกระบวนการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมทางนโยบาย การสร้างต้นแบบและทดสอบกับประชาชนก่อนจะออกนโยบายจริง ซึ่งช่วยทำให้เกิดนโยบายที่มีประสิทธิภาพและสามารถประหยัดงบประมาณเป็นอย่างมาก

ห้องปฏิบัติการนโยบายของอังกฤษได้ทำโครงการที่น่าสนใจหลายโครงการ เช่น วิธีการทำให้ยอดส่งออกสูงถึงพันล้านปอนด์ วิธีกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการดูแลเด็กเล็กได้ดี การช่วยเหลือเหยื่อจากโลกดิจิทัล การตอบโจทย์ความท้าทายอนาคตเรื่องสังคมสูงวัย การป้องกันและช่วยเหลือคนไร้บ้าน การเพิ่มการเลี้ยงดูเด็กฟรี การป้องกันการขาดเรียน การกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการประกันภัยแห่งชาติ วิธีชักจูงให้ผู้คนใช้บริการไกล่เกลี่ยเมื่อมีการหย่าร้าง เป็นต้น

กระบวนการของการออกแบบนโยบายเชิงนวัตกรรม ประกอบไปด้วยกระบวนการ “4D” ได้แก่

- การวินิจฉัย (Diagnosis) เพื่อค้นหาปัญหา วินิจฉัยปัญหาด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาด้านนโยบายหรือความท้าทายที่เผชิญอยู่ โดยทำได้ด้วยหลายเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ปัญหาในแต่ละขั้นตอนเสมือนการกางแผนที่การเดินทาง (Journey mapping) การใช้การ์ดความหวังและความหวาดกลัวเพื่อวิเคราะห์ความหวังและความหวาดกลัวของประชาชน การสร้างบุคลิกของประชาชนผู้ใช้บริการภาครัฐหรือได้รับผลจากนโยบาย (Personas) และการวิเคราะห์โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้เพื่อให้เข้าใจว่า “ประชาชน” กลุ่มเป้าหมายมีปัญหาหรือความท้าทายในชีวิตอะไรบ้าง โดยเป็นการทำความเข้าใจปัญหาประชาชนอย่างรอบด้านและลึกซึ้งจริงๆ

- การค้นพบ (Discovery) เพื่อทำความเข้าใจ “ความต้องการ” ของประชาชนและผู้ใช้บริการจากภาครัฐ โดยรวบรวมทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งผ่านเครื่องมือต่างๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล การสัมภาษณ์ การวิจัย การมีส่วนร่วมของสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

- การพัฒนานโยบาย (Development) เพื่อสร้างไอเดีย โดยทำการแปลงจาก “ความต้องการของประชาชนและผู้ใช้บริการ” เป็น “นโยบายและบริการ” ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนผู้ใช้บริการและผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการระดมความคิดจากประชาชนวงกว้าง การจัดกิจกรรมวันแฮกความคิด (Hack Day) หรือการจัดงานวันสร้างสรรค์ไอเดียและนโยบาย (Idea Day)

- การจัดส่งนโยบาย (Delivery) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนก่อนการออกนโยบายจริง โดยมีการจัดทำต้นแบบ (prototyping) และจัดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสทดลองประสบการณ์จริงในการใช้ต้นแบบ (Experience prototyping) เพื่อนำผลตอบรับและข้อวิจารณ์จากประชาชนมาปรับปรุงนโยบายหรือบริการก่อนที่จะสร้างนโยบายที่แท้จริง

หากเรามองย้อนกลับไปดูนโยบายของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยจะพบว่าด้วยข้อจำกัดในหลายประการทำให้นโยบายที่ออกแบบมามักมีจุดอ่อนตรงเป็นนโยบายแบบเหมารวม บ้างก็เป็นนโยบายประชานิยมที่แม้จะโดนใจคน แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศและขาดความยั่งยืน บ้างก็เป็นนโยบายที่สั่งการมาจากส่วนกลางที่อาจขาดมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง หรือขาดนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้บางนโยบายที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงและสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนในระยะยาว

Policy Lab จึงเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญที่จะสร้าง นวัตกรรมเชิงนโยบาย” (Policy Innovation) แบบใหม่ๆ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยใช้เครื่องมือใหม่ โดยจากบทเรียนที่เราได้ศึกษาเรียนรู้ทำให้เราเห็นว่าการสร้างนโยบายแบบเปิด หรือการสร้างนโยบายร่วมกันจากทุกภาคส่วน รับฟังเสียงของประชาชน ดึงไอเดีย ความคิด ภูมิปัญญาจากประชาชนวงกว้างมาร่วมกันออกแบบนโยบายเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง Policy Labจึงจะเป็นหนึ่งในทางออกที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยให้พร้อมรับกับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างแท้จริง

โดย... 

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation