“เมื่อเศรษฐกิจโลกจะเกิดสงครามการค้า”

“เมื่อเศรษฐกิจโลกจะเกิดสงครามการค้า”

2 สัปดาห์ก่อน หลังประธานาธิบดีสหรัฐออกคำสั่งเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าสหรัฐเพิ่มในอัตรา 25 และ 10 % โดยให้มีผลทันที 10 วันหลังประกาศ

ก็ปรากฏเสียงต่อต้านและคัดค้านมากมาย ทั้งจากภายในและภายนอกสหรัฐ โดยเฉพาะจากประเทศพันธมิตรคู่ค้าสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าวเข้าสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป แคนาดา เกาหลีใต้ เม็กซิโก บราซิล และญี่ปุ่น จนสหรัฐต้องยอมผ่อนปรน โดยจะยกเว้นสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก  

จริงๆ ปริมาณนำเข้าสินค้าทั้ง 2 ประเภทมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้านำเข้าทั้งหมด คือ ประมาณเพียง 2% แต่ที่ห่วงกันมาก ก็คือ ผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก รวมถึงโอกาสการเกิดขึ้นของสงครามการค้า เมื่อประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดของโลก คือ สหรัฐดำเนินนโยบายแอนตี้การค้าเสรี ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ความห่วงใยแรก คือ สหรัฐให้ความสำคัญกับการเมืองในประเทศมากกว่าผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกในการทำนโยบาย กล่าวคือ นโยบายกีดกันการค้าเป็นนโยบายหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงแข่งขันเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี โดยให้เหตุผลว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐขาดดุลและเป็นหนี้มาก ก็เพราะมีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ทำให้ผู้ผลิตสหรัฐแข่งขันไม่ได้ คนสหรัฐตกงาน 

ดังนั้น วิธีแก้ไขที่ประธานาธิบดีสหรัฐใช้หาเสียงก็คือ ใช้อำนาจรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศสามารถแข่งขันได้ ประชาชนมีงานทำ และดุลการค้าสหรัฐจะเปลี่ยนจากขาดดุลเป็นเกินดุล นี่คือ วาทกรรมของการหาเสียงในช่วงนั้นเพื่อนำความยิ่งใหญ่กลับคืนมาให้สหรัฐ

หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่ง ความเป็นไปได้ที่นโยบายกีดกันทางการค้าจะเกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เป็นความไม่แน่นอนที่กระทบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมาตลอด เพราะผลเสียที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกจากนโยบายดังกล่าวมีมาก การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ถือเป็นสัญญาณแรกของมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามมากเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบัน ซึ่งข้อวิจารณ์หลักๆ ก็คือ

1.ความเข้าใจของผู้ทำนโยบายสหรัฐในเรื่องเศรษฐศาสตร์ของการค้าเสรี เนื่องจากในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การค้าระหว่างประเทศที่ปลอดการกีดกันหรือเป็นการค้าแบบเสรี คือ กลไกสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันลดภาษีและลดข้อกีดกันทางการค้าผ่านการเจรจาระหว่างประเทศนานถึง 8 รอบ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน สิ้นสุดลงในรอบอุรุกวัย ปี 1994 ที่นำไปสู่การจัดตั้งองค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization ให้เป็นองค์กรที่วางกฎเกณฑ์และระเบียบของการค้าโลก ภายใต้หลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ที่ประเทศแต่ละประเทศจะผลิตสินค้าที่ตนผลิตได้ดีหรือได้เปรียบ และนำสินค้าที่ผลิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายกับสินค้าอื่นที่ต้องการแต่ไม่ได้ผลิต สร้างประโยชน์ให้ทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขาย ที่จะสามารถบริโภคสินค้าต่างๆ ได้ แม้จะไม่ได้ผลิตเอง

ด้วยเหตุนี้ ความคิดแอนตี้การค้าเสรี จึงเป็นความคิดทางนโยบายที่น่ากลัว ที่มองว่าประเทศจะได้ประโยชน์จากการกีดกันทางการค้า มองการขาดดุลการค้าเป็นเรื่องของการแพ้ชนะในแง่เม็ดเงิน ที่สามารถเอาชนะได้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งไม่ถูกต้อง 

ที่สำคัญ กรณีการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐ เป็นที่ทราบดีว่า จะไม่สามารถแก้ปัญหาการว่างงานในสหรัฐได้ เพราะเมื่อวัตถุดิบนำเข้ามีราคาแพงขึ้น อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้เหล็กหรืออลูมิเนียมราคาถูกเป็นวัตถุดิบ ก็จะมีต้นทุนสูงขึ้นจากผลของภาษี ทำให้สินค้าที่ใช้เหล็กและอลูมิเนียมเหล่านี้เป็นวัตถุดิบจะแพงและจะไม่สามารถแข่งขันได้ นำมาสู่การลดการผลิตและลดการจ้างงานในที่สุด นี่คือตัวอย่างการทำนโยบายที่จะสร้างผลเสียหาย ไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศตนเอง แต่ต่อประเทศอื่นๆ ด้วย

2.เหตุผลที่สหรัฐใช้ในการขึ้นภาษี ไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ และทำให้ประเทศคู่ค้าที่เสียประโยชน์จากการขึ้นภาษี ไม่มีช่องทางที่จะใช้ต่อสู้กับนโยบายของสหรัฐในแง่เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ที่สำคัญ คราวนี้สหรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายโดยอ้างความมั่นคง แทนที่จะใช้กลไกขององค์การการค้าโลกแก้ปัญหาราคาเหล็กนำเข้าที่ถูกมาก ที่เป็นผลจากอุปทานส่วนเกินที่มีมากในตลาดโลก 

เมื่อไม่มีช่องทางที่จะต่อสู้โดยใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ หลายประเทศที่เสียประโยชน์ก็คงจะตอบโต้โดยมาตรการกีดกันการค้าที่จะไม่มีเหตุผลเหมือนกันซึ่งถ้าการตอบโต้ขยายวงและรุนแรง โอกาสที่การตอบโต้จะขยายเป็นสงครามการค้าก็มีความเป็นไปได้ กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ ที่ต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศที่ตนเองไม่ชอบตามอำเภอใจ 

เช่น ในการตอบโต้ประเทศในยุโรปได้พูดถึงการขึ้นภาษีสุราและรถมอเตอร์ไซด์นำเข้าจากสหรัฐ ขณะที่สหรัฐก็พูดว่าจะตอบโต้กลับโดยการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป สำหรับจีน ล่าสุดสหรัฐก็เริ่มแขวะว่าต้องการเห็นการขาดดุลการค้ากับจีนลดลง ซึ่งจีนก็เตือนสหรัฐว่าจะตอบโต้ด้วยมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสม ถ้าสหรัฐออกนโยบายที่มุ่งกีดกันสินค้านำเข้าจากจีน 

ในลักษณะนี้จะเห็นว่า สงครามการค้าจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศใด ตรงกันข้าม เมื่อมีปัญหาในเรื่องการค้า สหรัฐและประเทศอื่นๆ ควรยึดวิธีการแก้ปัญหาขององค์การการค้าโลก และใช้กระบวนการขององค์การการค้าโลกเป็นเวทีในการลดความไม่สมดุลต่างๆ เพื่อหาข้อยุติ

3.ในแง่ของตลาดการเงิน การออกคำสั่งขึ้นภาษีของรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ตลาดการเงินยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น กระทบตลาดหุ้นให้ราคาปรับลดลง ซึ่งถ้าการขึ้นภาษีขยายวง ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของการค้าโลกปีนี้ และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงกว่าที่ได้ประเมินกัน ตัวอย่างเช่น นักวิเคราะห์จากธนาคารยูนิเครดิต ประเมินว่าสงครามการค้าจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลดลงระหว่าง 0.5-1 % ซึ่งคงจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศในเอเชีย ผ่านผลกระทบที่มีต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค รวมถึงกดดันให้ราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะราคาหุ้นปรับลดลงมากขึ้น 

ที่สำคัญ นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังถูกตีความว่า เป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมและนโยบายแอนตี้การค้าเสรี จะทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลงมากขึ้น สะท้อนรูปแบบของการดำเนินนโยบายการค้าแบบลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ที่ต้องการให้ค่าเงินอ่อนเพื่อให้ประเทศเกินดุลการค้า การทำนโยบายในลักษณะนี้จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลง

ต้องยอมรับว่า ถึงจุดนี้ เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ที่อาจทำให้ตลาดการเงินต้องปรับตัวมาก คือ ราคาหุ้นทั่วโลกจะผันผวนและอาจปรับลดต่อเนื่อง สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เป็นภาวะของความไม่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบมาก เป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด