สาธารณสุข VS สาธารณสุข

สาธารณสุข VS สาธารณสุข

คณะกรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.)ยกคณะไปเหยียบถ้ำเสือถึงสำนักงานปลัด สธ. นำโดยท่านประธาน กมธ.ยกพลไปเยือนเต็มพิกัด ทั้งกรรมาธิการทั้งที่ปรึกษา

น่าเสียดาย ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีท่านปลัดกระทรวง แต่ก็นำโดย 2 ท่านรองปลัดกระทรวง กับอธิบดีอีก 2-3 กรม และผู้ตรวจราชการ

ท่านรองปลัดฯในฐานะเจ้าภาพบอกว่า เป็นคณะกรรมาธิการสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมาเยี่ยมในรอบ 100 ปี กระทรวงสาธารณสุขจะอายุครบ 100 ปีใน 1-2 ปีนี้

กระทรวงสาธารณสุขเริ่มด้วยการแสดงผลการดำเนินงานตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ยุทธศาสตร์ ผลงานเด่น และเป้าหมายการปฏิรูป หลายเรื่องน่าสนใจ เช่น โครงการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การลดการบาดเจ็บจากการจราจร โรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานปฏิรูประบบเขตสุขภาพพิเศษและอีกหลายๆเรื่อง

ในโอกาสนี้ ท่านประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุข ด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพก็ได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่อ กมธ. ต่อที่ประชุมร่วมด้วย

เรื่องที่คณะกรรมาธิการสนใจมากสุดดูเหมือนจะเป็นเรื่องคลีนิกหมอครอบครัวกับเรื่องผู้สูงวัย

ท่านประธาน กมธ. เน้นย้ำความสำคัญของเรื่องผู้สูงวัย เพราะเรากำลังเข้าสู้สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว แต่ยังเตรียมการไม่ดีพอ ทางกระทรวงสาธารณสุขยังขาดบุคคลากรที่ชำนาญเรื่องผู้สูงวัย และจะทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ 

ในขณะเดียวกันกรรมาธิการหลายท่านมีความเป็นห่วงเรื่องโครงการหมอครอบครัว ซึ่งต้องใช้ทั้งงบประมาณและบุคคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก

เรื่องงบประมาณดูจะเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของ กระทรวงสาธารณสุข เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องงบประมาณไม่พอ โรงพยาบาลขาดทุน ติดลบ และก็ดูเหมือนจะไม่มีทางออก

ได้ตั้งคำถาม และข้อสังเกตรวมหกเรื่อง ให้ กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา

1.ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปในด้านต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหางบประมาณไม่พอ การที่จะขอเพิ่มงบประมาณคงทำได้ยาก สิ่งที่น่าจะทำได้คือ การลดค่าใช้จ่ายโดยการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรของกระทรวง ให้เป็นแนวราบมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติเบิกจ่าย และใช้วิธีการงบประมาณแบบใหม่ที่เรียกว่า zero-based budgeting หรือวิธีงบประมาณแบบเริ่มต้นจากศูนย์

2.พิจารณาส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดโรงพยาบาลรูปแบบใหม่ที่เป็น Hybrid Hospital โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนให้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ที่โรงพยาบาลไม่สามารถจัดหาได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เครื่องมือหัตถการ หรือแม้กระทั่งบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่โรงพยาบาลขาดแคลน เช่น ผู้ชำนาญเรืองระบบสาระสนเทศ เรื่องเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระทรวงยอมรับว่าไม่มีบุคลากรประเภทนี้อย่างพอเพียง

3.เสนอให้พิจารณาเรื่องการปฏิรูประบบโรงพยาบาล ให้เป็น โรงพยาบาลจัดการตนเอง หรือ self-management hospital เป็นหน่วยรับจัดสรรงบประมาณโดยตรง เหมือนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รับงบประมาณจากกระทรวงการคลังโดยตรง ไม่ต้องผ่านองค์กรที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอะไร ไม่มี value-added รวมทั้งการขยับขยายโรงพยาบาลออกจากใจกลางเมือง เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าปัจจุบันที่แออัดอยู่ในกลางใจเมือง

4.เสนอให้มีการปรับปรุงโรงพยาบาลสุขภาพตำบล หรือ รพสต. ที่เปลี่ยนสถานะมาจากสถานีอนามัยทั้งหมดให้มีบทบาทด้านสร้างเสริมสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น ต้อง empower ให้ รพสต. มีบทบาทหน้าที่มากขึ้น เป็นหน้าด่านในการสกัดกั้นไม่ให้ผู้ป่วยต้องเข้าสู่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ หรือแม้กระทั่งทุติยภูมฺิโดยไม่จำเป็น ที่ทำให้เกิดผู้ใช้บริการล้นสถานพยาบาล และเกิดข้อพิพาทระหว่างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยบ่อยครั้ง

5.เรื่องโครงการสิ่งแวดล้อมที่ กระทรวงต้องการให้เป็นโรงพยาบาลที่GREENand CLEAN นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรพิจารณาเรื่องอื่นด้วยเช่นเรื่องการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ควรติดตั้งแผงโซล่าเซลบนหลังคาโรงพยาบาลทุกอาคาร เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงพยาบาล

6.ให้พิจารณาเรื่องงบประมาณโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ เพราะปัจจุบันภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนมากขึ้น จากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ให้หักค่าลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น  

ปัจจุบัน ประชาชนมีการทำประกันกับภาคเอกชนทั้งประกันชีวิต และประกันสุขภาพกว่า 24 ล้านกรมธรรม์ ชำระเบี้ยประกันปีละกว่า 600,000 กว่าล้าน ในขณะที่ภาครัฐใช้งบประมาณดูแลประชาชนผ่านสามกองทุนคือสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียง 300,000 กว่าล้าน น้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง แสดงว่าประชาชนได้ช่วยตัวเองมากขึ้นเมื่อสามารถทำได้ 

รัฐจึงควรเน้นการช่วยเหลือคนจนจริงๆที่ไม่สามารถช่วยตัวเองรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เช่น ผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการจากรัฐ 11 ล้านคน ส่วนอีก 37 ล้านคน ควรมีการร่วมจ่ายตามความเหมาะสมถ้าต้องการใช้สวัสดิการจากรัฐ และถ้าไม่ต้องใช้เพราะมีประกันชีวิต และสุขภาพแล้ว ก็ควรตัดออกจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อที่จะมีเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้มากขึ้น

วันนี้ประชุมยาวนานถึง 4 โมงครึ่ง มีผู้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะจำนวนมากที่น่าจะเป็นประโยชน์กับกระทรวงสาธารณสุข

แต่ก็ไม่ทราบว่า ทางกระทรวงจะทำอะไรได้มากแค่ไหน เพราะได้ยินแต่คำว่า จะรับไว้พิจารณา