ระบบอนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทย

ระบบอนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทย

อาจเป็นเรื่องแปลก แต่จริงที่รู้จักคำว่าอนุญาโตตุลการ (Arbitration) ครั้งแรกไม่ใช่เพราะไปเรียนกฎหมาย แต่เพราะไปเรียนเศรษฐศาสตร์

ประมาณปี 2520 ขณะเรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ ทาง Law School อนุญาตให้ไปเรียนวิชาอื่นสาขาอะไรก็ได้นอก Law School จำนวน 6 หน่วยกิต ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับการเรียนกฎหมาย


ช่วงนั้นไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี เลยตัดสินใจเลือกสายสังคมศาสตร์อย่างละหนึ่งวิชาคือเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์


แต่พอจะไปเรียน ทางสาขาแจ้งว่า อยู่ๆจะไปเรียนระดับบัณฑิตวิทยาลัยได้อย่างไร ต้องไปเรียนชั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรีปูพื้นมาก่อน เช่นถ้าจะเรียนเศรษฐศาสตร์ก็ต้องเรียนอย่างน้อยสองวิชาคือเศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์จุลภาค เช่นเดียวกับสาขารัฐศาสตร์ก็ต้องไปเก็บวิชาพื้นฐานปริญญาตรีมาก่อน


ไปๆมาๆ แทนที่จะเรียนแค่สองวิชา กลายเป็นเรียนหลายวิชาตั้งแต่ปริญญาตรี รวมทั้งวิชาทางด้านสังคมวิทยา ทั้งนี้เพราะไม่มีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์ในระดับปริญญาตรีเพียงพอ


อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านวิชาพื้นฐานก็เรียนระดับบัณฑิตวิทยาลัยโดยทางเศรษฐศาสตร์ได้เลือกเรียนการค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐศาสตร์แรงงาน


ในการเรียนเศรษฐศาสตร์แรงงานนี้ ได้เรียนกับครูที่เป็นอนุญาโตตุลาการด้านข้อพิพาทแรงงาน (Arbitrator) จึงเป็นการเรียนกับผู้มีประสบการณ์ตรงและน่าสนใจมาก เพราะการยุติข้อพิพาททางแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ประเทศนี้ ลูกจ้างหรือพนักงานมักใช้วิธีนัดหยุดงาน (Strike) เดินออก (Walkout) นั่งประท้วง (Picket Line) และหัวหน้าหรือผู้แทนลูกจ้างผู้ใช้แรงงานก็จะไปเจรจากับฝ่ายนายจ้าง



วิธีการแบบนี้ เรียกว่า Collective Bargaining



และถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ก็จะตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Tribunal) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายเลือกมาทำหน้าที่ประธานอนุญาโตตุลาการ



ครูที่สอนวิชานี้เป็นประธานอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทแรงงานมานาน จึงมีประสบการณ์มาก ยิ่งเรียนยิ่งสนุก


และเท่าที่ทราบ ไม่มีการฟ้องร้องคดีแรงงานเป็นคดีความที่ศาลยุติธรรมเหมือนบ้านเรา เว้นแต่เรื่องลุกลามมีการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนหรืออย่างอื่นที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น


จริงๆแล้วเรื่องอนุญาโตตุลาการนี้ใช้ในการยุติข้อพิพาทในเรื่องต่างๆอีกมาก เช่นข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ หรือคู่ค้าที่มีการตกลงกันว่า ถ้ามีข้อพิพาททางการค้า ให้ยุติข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ โดยจะกำหนดไว้ในข้อสัญญาว่าให้ทำอนุญาโตตุลาการที่ประเทศไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ประเทศที่เป็นกลางที่ไม่ใช่ประเทศที่คู่พิพาทดำเนินกิจการในประเทศนั้น เช่นฝรั่งเศส สิงคโปร์ และอาจกำหนดวิธีอนุญาโตตุลาการร่วมกันเช่นใช้วิธีการที่กำหนดโดย  Chamber of Commerce ที่ปารีส


เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยประมาณปี 2534 พบว่าศาลยุติธรรมกำลังจัดตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการ และรัฐสภาได้ผ่าน พรบ.อนุญาโตตุลาการ พร้อมทั้งเปิดการฝึกอบรมนักกฎหมายและผู้สนใจ จึงได้เข้าฝึกอบรมเป็นรุ่นแรก


เมื่อเริ่มตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการนั้น ไม่มีใครใช้บริการเลย แม้ว่าทางสำนักงานได้พยายามเผยแพร่ แต่คู่พิพาทก็ยังใช้วิธียื่นฟ้องต่อศาลเช่นเดิม


ประมาณปี 2535 ได้ทำงานบริษัทแห่งหนึ่งที่เกี่ยวกับการผลิตและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และมีปัญหากับหุ้นส่วนต่างประเทศ ถึงขนาดต้องยุติข้อพิพาททางศาลเรียกค่าเสียหายระหว่างกันนับพันล้านบาท


เนื่องจากมีความรู้ด้านกฎหมาย แม้จะทำงานด้านบริหารจัดการของบริษัท ได้อ่านสัญญาร่วมการค้าที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และพบว่ามีข้อตกลงกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีข้อพิพาททางการค้าหรือเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างคู่สัญญา ให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการก่อน ถ้าไม่เป็นผลสำเร็จ ยังไม่ได้ข้อยุติจึงให้ใช้วิธีการทางศาล


จึงได้ประชุมปรึกษาและเสนอให้ใช้วิธีการทางอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการของศาลยุติธรรม เรียกร้องค่าเสียหายกว่าพันล้านบาท ถือเป็นเรื่องแรกของสำนักงานระงับข้อพิพาทที่ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการเป็นทางยุติข้อพิพาทโดยไม่ฟ้องคดีต่อศาล


นับเป็นเรื่องใหญ่ในวงการยุติธรรม และสำนักงานอนุญาโตตุลาการได้เผยแพร่ถือเป็นกรณีตัวอย่างให้มีการใช้ระบบที่เป็นทางเลือกเพื่อยุติข้อพิพาทที่เรียกว่า Alternative Dispute Resolution หรือ ADR ที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ใช้กันมานานแล้ว อย่างจริงจังในประเทศไทยนับแต่นั้นมา


สำหรับเรื่องข้อพิพาททางการแพทย์ระหว่างบุคคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยหรือผู้เสียหายทางการแพทย์ วิธีการทางอนุญาโตตุลาการจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญที่สามารถยุติข้อพิพาทโดยไม่ต้องฟ้องร้องทางศาลได้

 

ปัจจุบัน เรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ถ้ามีกฎหมายรองรับให้ใช้อนุญาโตตุลาการทางการแพทย์จะทำให้ข้อพิพาทจบลงโดยไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะเหมือนการฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาล ไม่ต้องถกเถียงข้อกฎหมายว่าเป็นงานบริการหรือไม่ เข้าลักษณะกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ สามารถตัดออกจากวงจรนี้ตั้งแต่ต้นเพราะไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีทางพ้นบ่วงการฟ้องร้องดำเนินคดีที่นับวันจะยิ่งเพิ่มและรุนแรงมากขึ้น



คงต้องช่วยกันผลักดันให้ออกกฎหมายอนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ให้เกิดขึ้น จะโดยแพทยสภา หรือ กระทรวงสาธารณสุข หรือกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี หรือประชาชนที่สนใจรวมตัวกันเข้าชื่อ ก็เป็นไปได้ เรามีสำนักงานอนุญาโตตุลาการอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนงานของสำนักงานศาลยุติธรรม ถ้าเราจะมีกฎหมายเฉพาะฉบับนี้ออกมาก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการระงับข้อพิพาทระหว่างแพทย์กับผู้เสียหายทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องฟ้องร้องในศาลอีกต่อไป