บทบาทภาคธุรกิจกับการพัฒนานวัตกรรมสังคมอย่างยั่งยืน

บทบาทภาคธุรกิจกับการพัฒนานวัตกรรมสังคมอย่างยั่งยืน

การพัฒนาประเทศไทยโดยมุ่งเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทยโดยรวมแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบในแง่ของการพัฒนาที่ขาดความสมดุล ขาดความยั่งยืน และทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึงจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถมองมิติการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมแบบแยกส่วน เพราะการพัฒนาทั้ง 2 มิติ ล้วนมีผลกระทบเชื่อมโยงกัน ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องตั้งโจทย์ในการสร้างความสมดุลของการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อทำให้แน่ใจว่า สังคมไทยจะมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทาย ท่ามกลางกระแสความผันผวนสูง อันเกิดจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

คำถามคือเครื่องมือการพัฒนาในรูปแบบใด จึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์การพัฒนาที่สมดุลและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเอกภาพ ระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหมายรวมถึง “ชุมชน” ที่เป็นสังคมขนาดเล็ก และเป็นกลไกที่ยึดเหนี่ยวผู้คนในระดับพื้นที่ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์และดำรงชีวิตร่วมกันอย่างผาสุก เครื่องมือการพัฒนารูปแบบใด จึงจะสามารถตอบโจทย์เรื่องปากท้องของชาวบ้านในระดับชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน เครื่องมือการพัฒนารูปแบบใด ที่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนของชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงผลลัพธ์ในเชิง อุดมคติและอุดมการณ์ของนักพัฒนา ทั้งที่อยู่ในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ได้อย่างแท้จริง

การตอบคำถามดังกล่าว นำไปสู่แนวคิดว่าด้วยเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมสังคม ซึ่งเป็นการยอมรับโดยนัยว่า เครื่องมือการพัฒนาที่เราเคยมีและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาจยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน และจากการที่หลายฝ่ายพยายามมองหาเครื่องมือการพัฒนาที่เป็นนวัตกรรมเชิงสังคม ทำให้ในปัจจุบัน ได้เกิดแนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่ คือ แนวคิดว่าด้วยเรื่องของ การประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship: SE) และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE)

การประกอบการเพื่อสังคม เป็นแนวคิดเชิงกลไกและเครื่องมือแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน ถือเป็น “นวัตกรรมสังคม” ที่มีส่วนช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เกิดความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสร้างสรรค์ หลากหลาย และเอื้อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล อันจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของสังคมและชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของกิจการเพื่อสังคม จะมีวัตถุประสงค์ในรูปแบบของ “ไตรกำไรสุทธิ” (Triple Bottom Line) ประกอบด้วย การสร้างกำไร การสร้างสรรค์สังคม และการสนับสนุนสิ่งแวดล้อม เน้นการบริหารความสมดุลระหว่าง ผลกำไร (Profit) คน (People) และโลก (Planet) 

ทั้งนี้ กิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมายอยู่ที่ การช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน

กิจการเพื่อสังคม มีลักษณะสำคัญ อย่างน้อย 3 ประการ ประการแรก คือ มีแนวทางการหารายได้ด้วยตนเองเพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน ประการที่สอง คือมีการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม และประการสุดท้าย คือ มีการดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับเครือข่ายต่างๆ 

จากประสบการณ์การทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจอาวุโสและการทำงานด้านการพัฒนาให้แก่องค์กรพัฒนาภาคเอกชนของผู้เขียน ทำให้เกิดการตกผลึกและเห็นว่า ภาคธุรกิจสามารถเข้ามามีบทบาทด้านการพัฒนานวัตกรรมสังคมอย่างเป็นระบบและหวังผลลัพธ์จากสิ่งที่ได้ดำเนินการว่าจะเกิดผลและความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ บทบาทที่ว่า มีกรอบแนวคิดและหลักการสำคัญ ดังนี้

ภาคธุรกิจควรเข้ามามีบทบาทในการสร้างและพัฒนา ผู้ประกอบการเพื่อสังคม และกิจการเพื่อสังคม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการ/กิจการเหล่านี้ เป็นกลไกเชิงนวัตกรรมสังคมในระดับชุมชน ทำหน้าที่สร้างเสริมและนำการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชนและสังคม ตลอดจนสนับสนุนให้ชุมชนและสังคมเติบโตอย่างมีคุณภาพ 

ภาคธุรกิจควรเข้ามามีบทบาทในการสร้างและพัฒนา ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ในระดับชุมชน และทำให้ผู้ประกอบการเพื่อชุมชนเหล่านี้ก่อตั้ง กิจการเพื่อสังคม เพื่อทำหน้าที่คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสังคม ให้เป็นนวัตกรรมที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและคนที่อยู่ในระดับฐานรากของชุมชนเป้าหมาย (Bottom of Pyramid: BoP) ทำให้คนในชุมชนเป้าหมายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งนี้จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

การที่ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคมในระดับชุมชน จะทำให้เกิดกระบวนการบ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Incubation) ผ่านการคัดเลือกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในชุมชนที่มีความสนใจและความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนของตนเองโดยใช้กิจการเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือ โดยภาคธุรกิจภายใต้ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและภาครัฐ จะช่วยบ่มเพาะผู้สนใจดังกล่าว ให้เข้าใจถึงรูปแบบและหลักการของกิจการเพื่อสังคม ตลอดจน เข้าใจโจทย์และความท้าทายของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงจุดแข็งและโอกาสในการก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมให้เชื่อมโยงกับบริบท เป้าหมาย และความต้องการที่แท้จริงของชุมชน

บทบาทของภาคธุรกิจในกระบวนการบ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคมในระดับชุมชน จะดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการออกแบบวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายการพัฒนาของชุมชน เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า จะใช้กิจการเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในด้านใดและอย่างไร ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่เข้ามามีส่วนร่วมจะต้องใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรและการพัฒนาชุมชนแบบบูรณาการอย่างเป็นองค์รวม

บทบาทของภาคธุรกิจในกระบวนการบ่มเพาะให้เกิดผู้ประกอบการเพื่อสังคมในระดับชุมชน จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกิจการเพื่อสังคมในระดับชุมชน ที่สามารถริเริ่มและพัฒนานวัตกรรมสังคม เพื่อสร้างชุมชนของตนเองให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจน ช่วยเติมเต็มและลดช่องว่างที่เกิดจากการพัฒนานวัตกรรมภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจ-การเมืองแบบทุนนิยมผูกขาด

ภาคธุรกิจที่เข้ามามีส่วนร่วม ควรใช้แนวทางบ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคมในรูปแบบการร่วมบ่มเพาะแบบเครือข่าย (Co-Incubation Networking) และการตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคมในระดับชุมชน (Social Entrepreneurs Incubation Centre: SEIC) โดยการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะฯ จะประกอบไปด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ศูนย์ประเมินองค์ความรู้และการดำเนินงาน (Evaluation Center), การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคมในระดับชุมชน (Seed), ระบบพี่เลี้ยงธุรกิจและพี่เลี้ยงการพัฒนาชุมชน (Mentoring System), และแหล่งทุน (Funding)

หากภาคธุรกิจร่วมมือและออกแบบแผนงานด้าน CSR ของตนเองอย่างเชื่อมโยงและเป็นเครือข่าย ภายใต้กรอบแนวคิดและหลักการดังกล่าว จะสามารถทำให้เกิด Ecosystem ด้านการพัฒนานวัตกรรมสังคมโดยภาคธุรกิจมีส่วนร่วมได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ จะสามารถดำเนินการได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่สามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนของสังคม ไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนได้อย่างแท้จริง

//////

วิเชษฐ ศรีรัตนไตรเลิศ
Managing Director of iBelieve Co., Ltd.