อย่าเสี่ยงกับหมูของทรัมป์

อย่าเสี่ยงกับหมูของทรัมป์

เนื้อหมูเป็นอาหารคู่กับคนไทยมาตลอด เช่น ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ลาบหมู หรือข้าวขาหมู

หากวันหนึ่งเราต้องกินเนื้อหมูจากการเลี้ยงที่ใส่สารกระตุ้น หรือสารเร่งเนื้อแดงโดยไม่มีสิทธิเลือก หรือปฏิเสธมัน เราจะรู้สึกอย่างไร?ที่ผ่านมานโนบาย “ครัวโลก” ทำให้ทุกรัฐบาลผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัย มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และห้ามใช้สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์อย่างเข้มงวด

ตัวอย่างที่น่าชื่นชมของรัฐบาลไทยในปีนี้ คือการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในอาหารสัตว์อย่างเด็ดขาด นี้คือจุดแข็งของผลผลิตปศุสัตว์ที่จะนำครัวไทยสู่ครัวโลกจากการทำงานที่เข้มแข็งของภาครัฐและเอกชน

อนาคตอันใกล้ความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของเนื้อหมูไทยจะหมดไป หากเรานำเข้าเนื้อหมูที่ผลิตจากประเทศซึ่งมีนโยบายต่างจากเราที่ผลิตได้มากและถูกกว่า ผมกำลังพูดถึง “เนื้อหมูอเมริกา“ หลักการผลิตหมูที่อเมริกาคือผลิตให้มาก ต้นทุนต่ำที่สุด ยอมให้ใช้สารเร่งการเจริญเติบโต เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีผลต่อผู้บริโภค แม้สารนั้นจะมีผลต่อสัตว์อย่างชัดเจน สำหรับผม “ไม่เชื่อ” ครับ เพราะสารเร่งเนื้อแดงก็คือสารกระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดขยายตัว การสังเคราะห์โปรตีนสูงขึ้น ผมไม่กล้ากินเนื้อของหมูที่เลี้ยงด้วยสารเร่งฯ ครับ แต่ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับแรงบีบจากอเมริกาให้กินเนื้อหมูประเภทนี้ ทั้งๆที่ 160 ประเทศทั่วโลกไม่ยอมรับ

ปี 2557 สหรัฐ พยายามให้ไทยนำเข้าชิ้นส่วนหมูและเครื่องใน ซึ่งเป็นส่วนที่คนอเมริกันไม่กิน สุดท้ายต้องพับโปรเจคด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทางอาหารของไทย ปี 2558 ประธานธิบดีโอบามา ได้หยิบยกเอา TPP (TransPacific Strategic Economic Partnership) หรือ “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” เรื่องการนำเข้าชิ้นส่วนหมูจากอเมริกา หากไทยเข้าร่วม TPP และล่าสุดในปีนี้ (ปี 2560) โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เหตุผลว่าอเมริกาเสียดุลการค้าให้ไทยมากไป ไทยต้องนำเข้าเนื้อหมูอเมริกา!! เนื้อหมูที่ผลิตขึ้นจากหลักการเลี้ยงที่ต่างกับไทย

บ้านเราประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์อย่างเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. พ.ศ. 2542 เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปและอีกหลายๆประเทศที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหารแม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่ากระบวนการผลิตหมูของไทยถูกพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยกับการไม่ยอมใช้สารเร่งฯ ขณะที่อเมริกาได้ปรับค่าปริมาณสารเร่งเนื้อแดง แร็กโตปามีน (Ractopamine) ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Codex ที่อนุญาตใช้เลี้ยงสัตว์ แต่เรื่องนี้ยังคงขัดต่อ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ของไทย ที่ห้ามไม่ให้ใช้สารเหล่านี้ และกรมปศุสัตว์ยังยืนยันการห้ามใช้สารในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ทุกชนิด หากรัฐบาลยอมให้นำเข้าเนื้อหมูจากอเมริกา ก็แสดงว่าต่อไปหมูไทยก็ต้องลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงสู้ หรือแก้กฏหมายต่างๆ เพื่อให้แข่งขันราคากับหมูอเมริกาได้…… แล้วผู้บริโภคละครับ? เราจะไม่มีทางปฏิเสธการกินเนื้อหมูจากการใช้สารเร่งฯได้เลย ตราบเท่าที่ยังกินเนื้อหมูอยู่

การเลี้ยงสุกรของเกษตรกรไทย ถูกส่งต่อเป็นมรดกอาชีพมาช้านาน มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ยกระดับเป็นฟาร์มมาตรฐาน อาจต้องล่มสลายไปพร้อมๆกับนโยบายอาหารปลอดภัย หากรัฐบาลไทยเปิดบ้านให้หมูอเมริกาเข้ามาตีตลาด ไม่ใช่แค่ผู้เลี้ยงหมู 200,000 ครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่รวมถึง เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ พ่อค้าพืชไร่ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมยา-เวชภัณฑ์ ที่จะต้องได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ซึ่งห่วงโซ่การผลิตเนื้อสุกรของไทยนี้มีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านบาท

แว่วมาว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เชิญท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าทำเนียบขาวในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะมีจุดประสงค์เจรจาในหลายประเด็น และหนึ่งในนั้นอาจมีเรื่องนี้แทรก ... ผมเชื่อมั่นในท่านนายกฯ ที่จริงจังและคำนึงถึงสุขภาพของคนไทยจนออกมาตรการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นสารเร่งในสัตว์มาแล้ว ครั้งนี้ท่านจะไม่พาคนไทยทั้งประเทศต้องเสี่ยงชีวิตกับสารเร่งเนื้อแดง ไปกับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในอาหาร ครับ

/////

โดย รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์

คณะสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์