ทำไมองค์กรใหญ่จึงต้องปรับตัวรับนวัตกรรม?

ทำไมองค์กรใหญ่จึงต้องปรับตัวรับนวัตกรรม?

ทำไมองค์กรใหญ่จึงต้องปรับตัวรับนวัตกรรม?

ที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีการ Breakthrough ด้านเทคโนโลยีหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด  ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น มักมาจากไอเดียที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดอย่างรวดเร็ว  จนกลายเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง

นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วไม่ได้เกิดมาจากจากการคิดของเจ้าของไอเดียที่คิดเองลำพังหัวเดียวกระเทียมลีบ  เพราะถ้าเป็นแบบนี้ ไอเดียเหล่านั้นมักถูกพัฒนาอย่างช้าๆใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนี้มักเกิดมาจากการแลกเปลี่ยนไอเดียของหลายๆ คนที่ช่วยกันคิดช่วยกันต่อยอด  ทำให้ไอเดียเล็กๆ สามารถพัฒนาเป็นไอเดียใหญ่ๆ ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้รวดเร็วขึ้น 

ดังนั้น การที่คนจากหลายๆ ฝ่ายได้มาทำงานร่วมกันหรือมี collaborative discussion จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำนวัตกรรมอย่างยิ่ง หลังจากมีไอเดียแล้วการทดลองเพื่อพัฒนาไอเดียไปสู่การใช้งานจริงก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายได้  ถ้าเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์อาจเริ่มจากการทดลองในห้อง Lab ผ่านการทำ Prototype  ทำ Pilot แล้วถึงจะ Scale Up ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น  ๆ

ในทางธุรกิจก็มีกระบวนการคล้ายๆ กัน แต่จะเป็นในรูปแบบของ Live Lab ที่มีการนำไอเดียธุรกิจมาทดลองจริงในลูกค้ากลุ่มเล็กๆ  ต้องลองผิดลองถูก ปรับปรุงแก้ไข จนเป็นที่น่าพอใจ ก่อนจะเริ่มนำไป Launch เพื่อใช้ในตลาด​เมื่อมีไอเดียที่ผ่านการปรับปรุงแล้ว  ขั้นต่อไปก็จะต้องมีการผลักดันเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้องการเงินทุนสนับสนุนเพื่อช่วยต่อยอดหรือบ่มเพาะให้นวัตกรรมสามารถพัฒนาจนเกิดเป็นธุรกิจที่สามารถมูลค่าและเติบโตได้อย่างรวดเร็วต่อไป  โดยทุนที่ต้องการมีหลายช่วง  เริ่มตั้งแต่ Seed Money ที่เปรียบเหมือนเงินเพื่อบ่มเพาะเมล็ดแห่งไอเดียนวัตกรรมให้งอกเป็นต้นกล้าคือเป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น  

จากนั้นเมื่อธุรกิจเริ่มหาตลาดที่เหมาะสมได้ก็จะต้องการทุนแบบ Series A, B, C เพิ่มเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตจากต้นกล้าเป็นต้นไม้ที่ใหญ่โตขึ้น ซึ่งทั้ง Seed Money และทุน Series A,B, C เป็นทุนแบบ Private Equity  เมื่อขยายธุรกิจและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง หากต้องการให้ธุรกิจเติบโตต่อก็จะมีการระดมทุนเพิ่มเติมในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering หรือ IPO) และขายหุ้น (Trade Sale) หรือทำการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) ต่อไป  จากที่เล่ามาข้างต้นตั้งแต่การพัฒนาไอเดียจนถึงการสนับสนุนเงินทุนถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกของเราได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดถือเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem)  ให้กับการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจ Startup ขึ้น

สำหรับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้าง Ecosystem เพื่อพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจ Startup นี้เช่นกัน  เพราะเรามองว่าการที่บริษัทจะคงอยู่ได้ยาวนานแบบEverlasting ได้นั้น  เราก็ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ขณะนี้เราสร้าง Ecosystem ของเราโดยการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (Bangchak Initiative and Innovation Center; BIIC) เริ่มจากการฟอร์มทีมเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจซึ่งเรามุ่งเน้นที่จะต่อยอดธุรกิจพลังงานสีเขียวและธุรกิจชีวภาพซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบางจากฯ  ในขณะเดียวกันก็คอยติดตามและพยายามนำ Disruptive Technology ใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจที่มีอยู่ด้วย

การฟอร์มทีมขึ้นมาช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียจากภายในและนอกองค์กร  โดยสร้าง Live Lab ให้เป็นพื้นที่ระดมความคิดก่อนจะนำไอเดียไปทดลองใช้จริงกับ Operation ของหน่วยธุรกิจต่างๆ ของเรา  นอกจากนี้ยังมีการตั้งงบเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการต่อยอดและบ่มเพาะไอเดียทั้งที่เกิดจากทีมของเราและไอเดียจาก Startup ภายนอกจะช่วยให้เรามีโอกาสติดตามนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ ในธุรกิจได้ใกล้ชิดมากขึ้น  

นอกจากบริษัทบางจากฯ แล้วไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายองค์กรก็มีการจัดตั้ง Ecosystem ที่เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อลงทุนด้านนวัตกรรมและ Startup ขึ้น  เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน  โดยแต่ละหน่วยงานอาจมีภารกิจและเป้าหมายที่แตกต่างกันไปบ้าง  แต่ลักษณะการส่งเสริมด้านนวัตกรรมในองค์กรก็จะเป็นไปในแนวทางคล้ายๆ กัน

ผมคิดว่าการปรับตัวขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อการอยู่รอดขององค์กรในปัจจุบันและในอนาคตครับ