ข้าวโพดVSข้าวสาลี ข้อต่อหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่

ข้าวโพดVSข้าวสาลี ข้อต่อหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่

โดย ดำรง พงษ์ธรรม

เห็นนักการเมืองบางคนออกโรงแสดง ความไม่รู้ เกี่ยวกับพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์แล้วก็สะท้อนใจว่าเราคงฝากความหวังไว้กับนักการเมืองในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรไม่ได้จริงๆ

เรื่องราวของห่วงโซ่การผลิตอาหารเป็นเรื่องน่าศึกษาไม่น้อย มันเป็นห่วงโซ่ที่ใหญ่มากและเกี่ยวข้องกับคนในกระบวนการนับหมื่นนับแสนครอบครัว เริ่มตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าว มัน กากถั่ว ฯลฯ ไปจนถึงพ่อค้าคนกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตมาเพิ่มมูลค่า โดยกำจัดความชื้นหรือเก็บสต๊อกแล้วนำไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานก็จะนำไปผลิตตามสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะกับสัตว์แต่ละประเภทแต่ละช่วงวัย จากนั้นอาหารสัตว์จะถูกขายออกไปให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต่างๆ นำไปเลี้ยงสัตว์ เมื่อสัตว์โตได้ที่สัตว์เหล่านั้นก็เข้าโรงชำแหละ และแปรรูปออกมาเป็นอาหารขายให้ผู้บริโภคในประเทศรวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย .... กระบวนการผลิตอาหารทั้งChainจึงเป็นห่วงโซ่ที่มีคุณค่า เป็นValue Chainที่ยาวและใหญ่มากจริงๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของโลก แน่นอนว่าไทยต้องยอมรับกติกาการค้าโลกซึ่งเป็นกติกาสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเป็นห่วงโซ่เดียวกันการกระทำการใดๆย่อมเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกัน ลองมาดู “ข้อต่อหนึ่ง” ของห่วงโซ่นี้ ในขั้นตอนของการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่าง “ข้าวโพด” กัน

ปกติแล้วการผลิตอาหารสัตว์จะใช้พืชวัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด รำข้าว มันสำปะหลัง ข้าวสาลี กากเอธานอล (DDGS) ฯลฯ บางส่วนเราปลูกได้ในประเทศ บางส่วนต้องนำเข้า ซึ่งต้องนำมาผสมตามส่วนประกอบของสูตรอาหารสัตว์บน “คุณภาพและราคาต้นทุน” ที่ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ และถึงแม้วัตถุดิบบางตัวจะมีราคาถูกแต่ก็ไม่สามารถใช้ในปริมาณที่ไม่จำกัด เพราะจะส่งผลถึงคุณภาพอาหารสัตว์ทำให้ประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ลดลงหรือเลี้ยงไม่โต เช่น ถ้าใช้แป้งมันสำปะหลังมากเกินไป อาหารสัตว์นั้นจะมีโปรตีนไม่พอ เกิดความเสียหายในช่วงข้อต่อเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันแม้จะต้องการ “ต้นทุน” ที่ถูกเพื่อการแข่งขันในการส่งออก แต่ก็จำเป็นต้องใส่วัตถุดิบราคาแพงเพื่อให้ได้ “คุณภาพ” หากใช้วัตถุดิบโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพอาหารสัตว์ ก็จะเป็นการทำลายห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่ต้นทางเลยทีเดียว

“ข้าวโพด” ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารสัตว์ มีสัดส่วนการใช้สูงถึงราว 60%ของการผลิตอาหารสัตว์ แต่ละปีประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดราว 8.10 ล้านตัน แต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทยทำได้ราวปีละ 4.57 ล้านตัน ส่วนต่างที่เหลือจึงจำเป็นต้องหาวิธีบริหารจัดการ

อย่างที่บอกว่าห่วงโซ่นี้เป็นห่วงโซ่ขนาดใหญ่มีคนเกี่ยวข้องมากมาย ภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เป็นอีกปาร์ตี้หนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในเชิงนโยบาย

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้าวโพด:

  1. ราคาเพื่อเกษตรกร:กระทรวงพาณิชย์กำกับให้โรงงานอาหารสัตว์ต้องซื้อข้าวโพดในราคาขั้นต่ำกก. 8.- บาท ที่ความชื้น 14.5%ณ กรุงเทพ เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด แต่กระทรวงไม่ได้กำกับดูแลการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดของพ่อค้าพืชไร่มากนัก ข้อต่อพ่อค้าพืชไร่นี่เองที่เป็นอีกตัวแปรสำคัญในด้านราคาผลผลิต เนื่องจากเป็นผู้รับซื้อจากเกษตรกร เกษตรกรจะขายข้าวโพดให้พ่อค้าได้ในราคาเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกับพ่อค้า ซึ่งเป็นผู้รวบรวมผลผลิตและนำมาปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้ความชื้นที่เหมาะสม แล้วนำไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ซึ่งพ่อค้าจะได้กำไรจากส่วนต่างตรงนี้ค่อนข้างมากหากสามารถกดราคาเกษตรกรได้ ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์กำลังจะออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)ขึ้นทะเบียนพ่อค้าคนกลางเพื่อกำกับดูแลไม่ให้เกิดการกดราคาเกษตรกร และมีผลบังคบใช้ต้นสิงหาคม 2560 นี้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
  2. มาตรการนำเข้า:แม้จะมีการลดภาษีนำเข้าเป็น 0%ในกลุ่มAECคือพม่า ลาว กัมพูชา แต่กระทรวงพาณิชย์ฯก็วางมาตรการนำเข้าข้าวโพดเพื่อปกป้องเกษตรกรบ้านเราอีกเช่นกัน โดยห้ามไม่ให้นำเข้าในช่วงกันยายน–เดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตของไทยออกมามากถึง 70%ของผลผลิตทั้งปี ในเมื่อพืชผลทางการเกษตรให้ผลผลิตเป็นฤดูกาล ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์ต้องดำเนินการผลิตอย่างสม่ำเสมอทั้งปีจึงต้องมีการบริหารจัดการ ส่วนหนึ่งจะเป็นการเก็บสต็อกของพ่อค้าคนกลางเพื่อไว้รอขายในช่วงปลายฤดูที่ราคาจะสูงขึ้น
  3. การลักลอบนำเข้า:การซื้อข้าวโพดในช่วงที่ห้ามนำเข้า จะเป็นช่วงที่ราคาข้าวโพดถูกลงเนื่องจากผลผลิตออกมาพร้อมๆกันเป็นจำนวนมากทั้งในไทย พม่า ลาว กัมพูชา ราคาที่จูงใจนี้เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการลักลอบ โดยปี 2559 ที่ผ่านมากลุ่มพ่อค้าพืชไร่ยอมรับว่ามีการลักลอบนำเข้ามากกว่า 1 ล้านตัน เพื่อเก็งกำไรในช่วงปลายฤดู ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักที่ทำให้ผลผลิตข้าวโพดของไทยในช่วงที่ล้นเกินความต้องการอยู่แล้ว ยิ่งล้นมากขึ้น กดดันราคาข้าวโพดในประเทศอย่างชัดเจน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้าวสาลี:

  1. ข้าวสาลี มีปริมาณโปรตีนประมาณ 9-10%สูงกว่าข้าวโพดที่มีราว 7-8%ขณะที่มันสำปะหลังมีโปรตีนเพียง 1-2%ซึ่งเมื่อปริมาณข้าวโพดบ้านเราไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ข้าวสาลีจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการใช้ทดแทน ต้องพึงตระหนักว่า การใช้วัตถุดิบในประเทศที่ให้คุณค่าโปรตีนน้อยไม่เป็นไปตามสูตรอาหาร ย่อมกระทบถึง “คุณภาพอาหารสัตว์” ของไทย
  2. ประเทศไทยไม่สามารถปลูกข้าวสาลีได้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ใช้ข้าวสาลีเข้ามาทดแทนข้าวโพดราว 3 ล้านตันต่อปี (ปี 2558-2559) บนเงื่อนไขของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนจึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทย ซึ่งนับว่าได้ผลดี
  3. การนำเข้าข้าวสาลี เป็นไปตามข้อผูกพันที่ไทยทำกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดให้สมาชิกต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามที่ได้ผูกพันกัน หากระงับการนำเข้าจะเกิดการฟ้องร้องประเทศไทย โดยมีอัตราภาษีเป็น 0%ต้นทุนอาหารสัตว์ของไทยจึงพอจะแข่งขันในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งเชื่อว่าต้นทุนภาษีนี้จะตกเป็นภาระแก่ผู้บริโภคต่อไป

ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นเพียงข้อต่อหนึ่งของห่วงโซ่นี้ หากจัดการไม่ดีทั้งในด้านราคาและมาตรฐาน ก็จะมีผลกระทบไปถึงการแข่งขันด้านการส่งออกธุรกิจปศุสัตว์ ซึ่งเป็นธุรกิจต่อเนื่องที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน จึงเป็นธุรกิจที่สำคัญและมีผู้เกี่ยวข้องนับล้านคน จำเป็นต้องมีการช่วยกันดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต...ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนามาตรฐานการผลิต การปลูกข้าวโพดที่ต้องไม่กระทบสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการหาทางออกร่วมกัน ขอเพียงคำนึงถึงประโยชน์องค์รวมของทั้งห่วงโซ่การผลิต ลดการคำนึงถึงประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว...ก็จะช่วยให้ห่วงโซ่การผลิตอาหาร (Food Chain)ของไทยขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ทั้งองคาพยพ