Prisoner's Dilemma (ทฤษฎีนักโทษที่เข้าตาจน)

Prisoner's Dilemma (ทฤษฎีนักโทษที่เข้าตาจน)

เคยพูดถึงทฤษฎีเกมส์ (Games Theory) ที่ใช้อธิบายการแพ้ชนะ ในทางการแข่งขันทางธุรกิจเมื่อไม่นานมานี้

 ว่าอาจนำมาใช้วิเคราะห์การแข่งขันทางการเมืองระหว่างสองพรรคใหญ่ได้ ซึ่งเป็นที่มาของคำพูดติดปากว่าเป็น Zero-sum Games คือผู้ชนะกินรวบ ผู้แพ้ไม่เหลืออะไรเลย กับ Non Zero-sum Games คือทั้งคู่อาจจะ Win-Win ชนะ-ชนะ คือได้ทั้งคู่ หรือ Lose-Lose แพ้-แพ้ คือแพ้ทั้งคู่

อีกทฤษฎีหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ Prisoner's Dilemma หรือ "ทฤษฎีนักโทษที่เข้าตาจน" ที่สามารถนำมาอธิบายปรากฎการณ์การแข่งขัน ระหว่างสองคู่แข่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าในทางธุรกิจที่เป็นบริษัทคู่แข่งในสนามธุรกิจ หรือในทางการเมืองที่พรรคการเมืองเป็นคู่แข่งในสนามการเลือกตั้งทางการเมือง

ทฤษฎีนี้ เริ่มต้นจากทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชื่อ John Nash ในปี 1994 เรียกว่า Nash Equilibrium

ทฤษฎีนี้ เป็นที่รู้จักจากการสร้างตารางตัวอย่าง อธิบายผลที่จะเกิดขึ้นกับนักโทษสองคนที่จะต้องรับโทษทางอาญา จากการรับสารภาพ (Confess) หรือจากการเงียบไม่ปริปาก (Silent) วิธีการของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือเอาสองนักโทษนี้แยกขังเดี่ยว แล้วถามนักโทษทีละคนว่าจะสารภาพ หรือจะเงียบไม่ปริปาก แล้วบอกกับนักโทษถึงผลที่จะได้รับดังนี้

  1. ถ้าทั้งคู่สารภาพ ทั้งคู่จะติดคุกคนละ 10 ปี
  2. 2. ถ้าทั้งคู่ ไม่ปริปาก (คือ เงียบ) ทั้งคู่จะติดคุก คนละ 1 ปี
  3. 3. ถ้านักโทษ ก. สารภาพ แต่นักโทษ ข.ไม่ปริปาก นักโทษ ก.จะถูกปล่อยตัว แต่นักโทษ ข. จะติดคุกตลอดชีวิต
  4. 4. ถ้านักโทษ ก. ไม่ปริปาก แต่นักโทษ ข.สารภาพ นักโทษ ก. จะติดคุกตลอดชีวิต ขณะที่นักโทษ ข. จะถูกปล่อยตัว

เป็นกลยุทธ์สร้างความกดดันให้กับคู่นักโทษ โดยตำรวจไม่ต้องกดหัวจมน้ำ ใช้ไฟฟ้าจี้ ซ้อมแบบทารุณกรรม เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะคิดอย่างไร แน่นอนที่สุด ถ้าเป็นไปตามข้อ 2 ย่อมดีกับทั้งคู่ แต่ก็เดากันยากว่าอีกฝ่ายอาจเอาตัวรอดโดยการสารภาพ และถ้าตัวเองไม่สารภาพแต่ปิดปากเงียบ ก็อาจต้องโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต

เรื่องแบบนี้ใช้อธิบายได้กับทั้งคู่แข่งทางธุรกิจที่แข่งขันกลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า เพราะไม่ใช่จะแบบผู้ชนะกินรวบ ผู้แพ้แพ้หมด หรือชนะทั้งคู่ หรือแพ้ทั้งคู่แบบทฤษฎี Zero- sum Games แล้ว

ในทางการเมืองก็สามารถนำมาประยุกต์อธิบายได้ ถ้าเป็นการแข่งขันกันของสองพรรคใหญ่ อย่างเช่นที่กำลังเกิดที่สหรัฐ หรือที่เมืองไทย ถ้าเป็นแค่สองพรรคใหญ่ ถึงแม้ว่าในที่สุดก็จะต้องมีผู้ชนะที่อาจไม่ชนะทั้งหมด และผู้แพ้ก็อาจไม่แพ้ทั้งหมด

ในการประมูลคลื่นความถี่ระบบ 3G ที่อังกฤษ ในปี 2000 คณะกรรมการผู้จัดประมูลด้วยกลยุทธ์ "นักโทษที่เข้าตาจน" หรือ Prisoner's Dilemma สามารถทำให้สองคู่แข่งใหญ่ที่เข้าประมูลสู้กันยิบตา และได้ผู้ชนะที่จ่ายราคาประมูลสูงถึง 35.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1.234 ล้านล้านบาท สูงกว่าที่ กสทช. ได้จากการประมูลที่ผู้ชนะจ่ายแค่ 7-8 หมื่นล้านบาท ไม่รู้กี่เท่า ที่ กสทช.ว่าสูงมากเป็นประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกัน ผู้ประมูลได้ก็คงถึงกับกระอัก แม้จะชนะประมูล

ในทางรัฐศาสตร์ได้ขอยืมทฤษฎีนี้มาอธิบายการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ในสหรัฐ และนำมาประยุกต์อธิบายสำหรับประเทศอื่นได้เช่นกัน แม้ว่าจะได้มีการขยายออกไปในรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่รากเหง้าก็มาจากทฤษฎีเดียวกันนี้

แต่ที่ต่างกันคือ คนที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจในตัวอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือกระทรวงมหาดไทย หรือแม้แต่ผู้มีอำนาจอิทธิพลในประเทศ จะต้องเป็นกลาง เพียงแต่ใช้กลยุทธ์นี้ในการให้ทั้งสองพรรคแข่งกันให้ถึงที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดจะได้ตกกับประชาชนอย่างแท้จริง