ธุรกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายที่สำคัญของธุรกิจที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมคือ การแสดงออกถึงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

การดูแลสิ่งแวดล้อมที่จะแสดงออกได้อย่างชัดเจนก็คือ การจัดให้มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นกิจลักษณะขึ้นในองค์กรธุรกิจ

ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ถือได้ว่ามีมาตรฐานที่ยอมรับได้ จะต้องเป็นระบบที่มีความเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพในการจัดการกับภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ

ซึ่งได้แก่ การมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นกิจลักษณะ เช่น มีการกำหนดแผนที่ระบุเงื่อนไขด้านเวลาที่เป็นเอกสาร สามารถตรวจสอบและยืนยันได้ว่า กิจกรรมต่างๆ ได้ดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้อย่างสมบูรณ์หรือไม่

หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน จะต้องสามารถระบุสาเหตุและแผนการที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคตไว้

การวางแผน จะทำให้ธุรกิจจะต้องกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นก่อน เพื่อให้สามารถกำหนดแผนดำเนินการได้อย่างมีทิศทางที่เป็นได้ตามความประสงค์ของธุรกิจ

แผนด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ยังจะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อม การมีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมตามความจำเป็น ขนาดของกิจกรรม ความเสี่ยงและโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นได้

ภายใต้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตามกระแสผลักดันจากปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมของโลกที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจที่มีการเตรียมการรองรับด้วยการจัดให้มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบ จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนการบริหารจัดการที่ต่ำลง และลดความเสี่ยงที่จะถูกปรับหรือชดใช้ค่าเสียหายหากต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ในปัจจุบัน ระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการเชื่อถือว่าเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับโลก ได้แก่ มาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งธุรกิจโดยทั่วไปสามารถศึกษาแนวทางปฏิบัติจากมาตรฐานฉบับนี้ได้โดยง่าย

องค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมของธุรกิจเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดการให้มีฐานข้อมูลหรือสถิติตัวเลขที่แสดงถึงผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ

ยกตัวอย่างเช่น สถิติการใช้น้ำหรือสถิติการบำบัดน้ำเสีย สถิติการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงต่างๆ รวมถึงการใช้ไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สถิติการใช้กระดาษ หรือวัสดุประกอบการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ที่เป็นวัสดุที่มีความสัมพันธ์ต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระหว่างการผลิต เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มักจะมีการรายงานตัวเลขและสถิติเหล่านี้ให้สาธารณชนได้ทราบถึงประสิทธิภาพในการดูแลสิ่งแวดล้อมของกิจการ ผ่านการรายงานในรายงานประจำปีของบริษัท นอกเหนือไปจากการรายงานผลการดำเนินการทางบัญชีและการเงิน ตามปกติ

การเปิดเผยข้อมูลและตัวเลขสถิติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่อาจมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถสร้างขึ้นทดแทนได้โดยง่าย และการนำเสนอแนวทางในการลดกิจกรรมเหล่านี้ลง ถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

องค์ประกอบสุดท้ายที่จะสร้างความเชื่อถือต่อสาธารณชนได้ว่า ธุรกิจได้แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่เหมาะสมกับขนาดและลักษณะการดำเนินธุรกิจ ก็คือ การมีระบบบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งรวมถึง การประเมินผลกระทบต่อธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฏระเบียบและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และมาตรการรองรับ การเตรียมบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม การคาดการณ์เหตุการณ์อุบัติใหม่ทางด้านสิ่งแวดล้อม และการเตรียมเครื่องมือด้านบริหารจัดการที่จำเป็นสำหรับการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น

และสำหรับธุรกิจที่มีการแสดงความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งนอกเหนือไปจากการบริหารจัดการภายในบริษัทของตนเองแล้ว ยังพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ สนับสนุนและชักจูงให้คู่ค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า ให้เกิดจิตสำนึกและเริ่มดำเนินการด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในธุรกิจของตนเองตามความเหมาะสมกับธุรกิจ

อันจะเป็นเหตุให้ทั้ง “ธุรกิจ” และ “โลก” สามารถที่จะ “สวย” ไปพร้อมๆ กันได้อย่างยั่งยืน