ประชุม‘นัดพิเศษ’อาเซียน-จีน : ไฉนแถลงการณ์จึงถูก‘ถอน’กลับ?

แถลงการณ์อาเซียนหลังประชุม “นัดพิเศษ”
กับจีนที่ยูนนานเมื่อวันอังคารเกิดปัญหาครับ
ตัวแทนมาเลเซียปล่อย “แถลงการณ์ร่วมอาเซียน” ออกมา แสดงความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียด อันเกิดจากข้อพิพาทในทะเลจีนใต้... ผ่านไป 3 ชั่วโมง ก็ขอ“ถอน”กลับไป บอกว่าจะไป“แก้ไขข้อผิดพลาดบางประการ”
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีแถลงการณ์ที่“แก้ไขแล้ว”ออกมา
แวดวงการทูตภายในอ้างว่าจีนเห็นข้อความนี้แล้วไม่สบายใจ ไปล็อบบี้ตัวแทนของ สปป. ลาวซึ่งปีนี้เป็นประธานว่าขอไม่ให้ระบุถึงจีนจะได้ไหม
ถึงตอนที่เขียนอยู่ (เช้าวันพฤหัสฯ) ก็ยังไม่มีแถลงการณ์ฉบับแก้ไขออกมาแต่อย่างไร
ทำให้มีประเด็นต้องขบคิดกันไม่น้อยทีเดียว
ภาพที่นำมาให้ดูนี้สะท้อนอะไรหลายอย่าง และที่มีความหมายเป็นพิเศษคือคำว่า “Special….Meeting” ซึ่งแปลว่าเป็นการประชุม “นัดพิเศษ” โดยที่เจ้าภาพคือจีน ที่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้ง 10 ไปปิดประตูคุยกันที่เมืองยู่ซี มณฑลยูนนาน ห่างจากคุนหมิงไปทางใต้ประมาณ 90 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“พิเศษ” อย่างไรไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่ก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อได้อ่านแถลงการณ์ร่วมที่ออกมา โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศจีนคือคุณหวังอี้ยืนอยู่หัวแถว
เพราะหัวข้อหลักคือ “ทะเลจีนใต้”
ผู้ร่วมประชุมคือสมาชิกอาเซียน
และจังหวะเวลาใกล้กับที่ศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮก จะมีคำพิพากษากรณีที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีน ว่าด้วยข้อพิพาทว่าด้วยการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะบางแห่งในทะเลจีนใต้นี่เอง
เมื่อเขาปิดประตูคุยกัน เราก็ไม่รู้ว่าบรรยากาศของการสนทนาเป็นอย่างไร ที่น่าสนใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็นว่า
1. รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกับฟิลิปปินส์คุยกันอย่างไร มีการเสวนานอกรอบกันอย่างไรหรือไม่?
2. รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน มีการพูดคุยกันเองอย่างไรก่อนที่จะพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน?
3. ใครเป็นฝ่ายริเริ่มให้มีการประชุมนัดพิเศษ ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน?
4. ใครร่าง “แถลงการณ์ร่วม” ของอาเซียน? และข้อความไหนที่ทำให้ต้องมีการ “ถอน” ออกไปเพื่อแก้ไข?
ในการแถลงข่าวหลังการประชุมนั้น ภาษาที่ใช้ค่อนข้างสุภาพเรียบร้อยแบบภาษาการทูต โดยยืนยันว่าอาเซียนกับจีนจำเป็นต้อง “ร่วมกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ” ในย่านนี้
และเรียกร้องให้มี “ความร่วมมือทางทะเลที่เป็นรูปธรรม”
อีกทั้งยังตกลงว่าจะต้องเร่งให้ “หลักปฏิบัติร่วม” (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้เสร็จในเร็ววัน
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนหวังอี้บอกนักข่าวว่าอาณาบริเวณนี้ “ไม่ควรจะกลายเป็นอีกจุดหนึ่งแห่งความแปรปรวนผันผวน” เพราะโลกทุกวันนี้มีความยุ่งเหยิงมากพอแล้ว
หวังอี้บอกว่าการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากข้อเสนอของสมาชิกอาเซียน และเขาเห็นว่าเป็นการพบปะที่ได้จังหวะเหมาะเจาะ มีนัยสำคัญและมีส่วนในการสื่อสารด้านยุทธศาสตร์
“การประชุมครั้งนี้บรรลุเป้าหมายที่คาดหวัง จีนพร้อมจะมีพันธะผูกพันที่จะมีการประชุมอีกในอนาคต เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและขจัดความเข้าใจผิด” รัฐมนตรีต่างประเทศจีนบอก
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริสนัน ทำหน้าที่เป็น “ประธานร่วม” ของการประชุมครั้งนี้ด้วย
เขาบอกว่า “การประชุมครั้งนี้แสดงว่าอาเซียนกับจีนสามารถปรึกษาหารือ หัวข้อที่ยากอย่างตรงไปตรงมา สร้างสรรค์และเปิดเผย”
เมื่อบอกว่าการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ “ตรงไปตรงมา” และ “เปิดเผย” ก็ย่อมแปลว่ามีการแสดงความเห็นกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันพอสมควร ระหว่างจีนกับประเทศคู่กรณี ในประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้เช่นฟิลิปปินส์และเวียดนาม
แน่นอนว่าการปะทะกันด้วยวาจา ย่อมจะดีกว่าการเผชิญหน้าด้วยเรือรบหรือเครื่องบิน หรือกำลังทหารในทะเลจีนใต้อย่างที่ปรากฏมาแล้วในหลาย ๆ ครั้งระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านและสหรัฐ
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ก็เชิญผู้นำอาเซียนไปพบปะกันที่สหรัฐ และญี่ปุ่นก็ได้เชิญชวนผู้นำอาเซียนไปวิสาสะอย่างเปิดเผย พร้อมแถลงความพร้อมที่จะร่วมมือกับอาเซียนในการขจัด “ภัยคุกคาม” จากประเทศใหญ่ ๆ ในย่านนี้เหมือนกัน
ไทยเราไม่ใช่คู่กรณีในความขัดแย้งทะเลจีนใต้ จึงอยู่ในฐานะที่จะเล่นบทเป็นผู้ช่วยคลายความตึงเครียดด้วยการไกล่เกลี่ยหรือ “อำนวยความสะดวก” ให้เกิดการพูดจาแลกเปลี่ยนระหว่างจีน อาเซียน อเมริกาและญี่ปุ่นได้ในหลายมิติ
จะทำได้หรือไม่ได้เพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความ “เก๋า” ในวิทยายุทธ์ทางการทูต ที่ระยะหลังดูเหมือนจะหดหายไปพอสมควร เพราะความขัดแย้งภายในของเราเอง จนทำให้สถานภาพที่ครั้งหนึ่งเคยเข้มแข็ง กลับอ่อนปวกเปียกไปหลายระดับทีเดียว