กระทบไหล่จินลี่ฉวิน ประธาน AIIB :

ใครบอกว่าธนาคารนี้เป็นของจีน?
จินลี่ฉวิน (金立群) คือประธานของ “ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ที่รัฐบาลจีนเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือรัฐบาลจีนเพื่อปะทะกับธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ที่ถูกสหรัฐและญี่ปุ่นครอบงำมาตลอด
ได้เจอคุณจินลี่ฉวินครั้งแรกที่ปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงรับรู้ถึงความมั่นใจเปี่ยมล้นของเขาที่จะนำพาธนาคารใหม่แห่งนี้เพื่อเล่นบท “มืออาชีพที่โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล” ไม่ให้ใครนินทาว่าเขาเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลจีนที่มาบริหารธนาคารของจีน
เขายืนยันด้วยภาษาอังกฤษที่ฉาดฉาน (ร่ำเรียนภาษาอังกฤษด้วยการฟังข่าว BBC ขณะทำงานกับชาวชนบทจีนและศึกษาวรรณกรรมอังกฤษ เช่นผลงานบทละครของ Shakespeare) ว่าธนาคารแห่งนี้จะบริหารด้วย “มาตรฐานสากล” และจะไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศของจีน อย่างที่นักวิพากษ์หลายสำนักได้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้น
ถึงวันนี้สมาชิกก่อตั้งธนาคารจากเดิม 57 ประเทศเพิ่มมาเป็น 65 และจะเข้าใกล้ 100 ในเร็ว ๆ นี้
ความที่เขาเคยเป็นรองประธานธนาคารโลก และรองประธานธนาคารพัฒนาเอเชียในนามรัฐบาลจีน จินลี่ฉวินจึงมีความช่ำชองในงานธนาคารลักษณะนี้
“ธนาคารใหม่แห่งนี้ไม่ใช่ของจีน เป็นธนาคารสากลที่มีผู้ถือหุ้นมากมาย และจะบริหารโดยคณะกรรมการที่มาจากผู้ถือหุ้นทั่วโลก อีกทั้งรัฐบาลจีนจะไม่ขอกู้จากธนาคารแห่งนี้ เราไม่ได้ต้องการมาแข่งขันกับธนาคารโลกหรือไอเอ็มเอฟ แต่ต้องการเสริมสิ่งที่ยังขาดอยู่...” คุณจินในวัย 67 บอกกล่าวกับคณะบรรณาธิการจาก Asia News Network (ANN) อย่างไม่ลังเล
คุณจินเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของจีน แต่ความที่ร่ำเรียนภาษาอังกฤษอย่างลุ่มลึกด้วยตนเอง และผ่านมหาวิทยาลัยการศึกษาต่างประเทศปักกิ่ง (Beijing Foreign Studies University) จบปริญญาด้านภาษาอังกฤษ เขาจึงพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างคล่องแคล่ว
ระดับนำของจีนน้อยคนจะมีความคล่องแคล่วในภาษาอังกฤษ และสามารถตอบโต้ในระดับสากลอย่างเจนจัดเช่นเขา
ผมถามคุณจินว่าในฐานะเขาเป็น CEO ของธนาคารแห่งใหม่นี้ คำถามที่เขาหนีไม่พ้นก็คือมันมียี่ห้อจีนติดอยู่เต็มประตู ซึ่งขัดกับที่เขาอ้างว่าธนาคารแห่งนี้ไม่ใช่ของจีน แต่เป็นของผู้ถือหุ้นจากทั่วโลก (“ที่นั่งยังว่างสำหรับสหรัฐนะครับ”) หากเปรียบเทียบเป็นสินค้าที่เปิดตัวใหม่ก็จะมีปัญหาเรื่อง “ภาพลักษณ์ของสินค้า” หรือ brand image แน่นอน เขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
คุณจินลี่ฉวินตอบโดยพลันว่า “อาจมีคนวิจารณ์เราอย่างนี้ แต่เราไม่สนใจที่จะตอบโต้ ในความเห็นของผมความน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำงานอย่างจริงจัง การตอบโต้กับคนวิจารณ์อย่างนี้ไม่มีประโยชน์ พูดให้ตายก็ไร้ประโยชน์ ต้องให้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์... ถ้าเราให้เงินกู้เพื่อปรับปรุงสลัมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คุณว่าเป็นเพราะธนาคารนี้เป็นของจีนหรือเปล่า? ถ้าเราทำโครงการทำน้ำดื่มสะอาดให้คนในชนบทในประเทศใดประเทศหนึ่ง, คุณว่าเป็นเพราะธนาคารนี้เป็นของจีนหรือเปล่า?”
“จีนถือหุ้น 30% ของ AIIB แต่จะไม่ขอกู้จากธนาคารนี้” เขายืนยัน
ไทยถือหุ้นอยู่ที่ 1.45% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด 100,000 ล้านเหรียญ (หรือประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนของธนาคารโลก และสองส่วนสามของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
มีคำถามว่าการที่จีนเป็นตัวตั้งตัวตีธนาคารแห่งนี้ เป็นเพราะต้องการใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตของตนหรือไม่?
เขาตอบ “นักข่าวนิวยอร์กคนหนึ่งถามผมอย่างนี้ที่ดาวอส ถามว่าการตั้งธนาคารนี้ถือเป็นความสำเร็จทางการทูตระหว่างประเทศของจีนใช่หรือไม่ ผมตอบว่าใช่, มันเป็นความสำเร็จทางการทูตของทั้ง 57 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งมันขึ้นมา”
โครงการที่จะได้รับอนุมัติเงินกู้ชุดแรกโดย AIIB จะออกมาเร็ว ๆ นี้ รายละเอียดออกมาเมื่อไหร่ก็จะประเมินได้ว่า ทิศทางการให้กู้ของธนาคารแห่งนี้ไปทางไหน
แต่คุณจินไม่ยอมแย้มพรายว่ามีโครงการอะไรบ้าง อ้างว่ายังต้องให้คณะกรรมการของธนาคารอนุมัติอย่างเป็นทางการเสียก่อน
ใครได้ตั้งวงแลกเปลี่ยน ถามคำถามแรง ๆ กับคุณจินลี่ฉวินคนนี้จะต้องรับรู้ถึงความไม่ธรรมดาของนักบริหารจีนที่เคยเป็น “เรดการ์ด” เมื่อวัย 17 ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมและตัดสินใจหลบหนีออกจากแวดวงนั้น เมื่อเห็นความรุนแรงและบ้าคลั่งของหนุ่มสาวที่เริ่มทุบตีครูของตัวเองอย่างไร้เหตุไร้ผล
เขาเคยบอกนักข่าวฝรั่งคนหนึ่งว่า “ผมไม่ได้โม้นะ แต่ผมมีความตระหนักเรื่องจังหวะการเมืองที่ดีไม่น้อยทีเดียว”