เมื่อสมองโล่ง ความเครียดลด งานดีขึ้น

เมื่อสมองโล่ง ความเครียดลด งานดีขึ้น

ท่านผู้อ่านเคยมีความรู้สึกไหมครับว่า วันๆ หนึ่งเรามีหน้าที่ งาน ความรับผิดชอบที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา

 ไม่เคยได้หยุดนิ่ง ยังไม่นับเรื่องราวส่วนตัวต่างๆ ที่ต้องทำ ทำให้สมองของเราแทบจะไม่ค่อยมีเวลาที่จะหยุดคิด หรือมีโอกาสที่จะโปร่งโล่งไปจากการคิดในสิ่งต่างๆ หลายครั้งที่สิ่งที่เราคิดหรือติดอยู่ในใจนั้น ก็จะตามไปหลอกหลอนเราถึงในฝัน ดังนั้น จะเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะฝันถึงเรื่องงานที่ติดพัน หรือที่จะต้องทำ

หลายครั้งเราจะรู้สึกว่า เวลาที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับงานที่ต้องทำ เรามักจะบ่นกันตลอดว่าเวลาไม่พอ เวลาไม่พอ แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาของพวกเราไม่ใช่เรื่องของเวลาที่ไม่พอครับ แต่เป็นเรื่องของวิธีการในการจัดการกับสิ่งที่อยู่ในใจเรา วิธีการในการบริหารในสิ่งที่เราต้องทำให้สำเร็จ

ท่านผู้อ่านลองถามตัวเองนะครับว่า ครั้งสุดท้ายที่รู้สึกว่าสมองโล่ง สงบนิ่ง ปราศจากความคิดกวนใจ สิ่งต่างๆ ที่อยากจะทำ หรือคิดจะทำนั้น คือเมื่อใด? และลองสังเกตดูว่า เมื่อสมองเราโล่งแล้ว อาการเครียด นอนไม่หลับก็จะหายไป อีกทั้งเราก็สามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิมากขึ้น มีความรู้สึกว่า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้สมองของเราโล่ง สงบนิ่ง ปราศจากความเครียด รวมทั้งทำในสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น?

ผมค้นพบเทคนิคง่ายๆ อย่างหนึ่งจากแนวคิดขายดีของ David Allen ที่ชื่อ Getting Things Doneหรือ GTD ที่เป็นแนวคิดในการเพิ่ม Personal Productivityที่เป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ตอนแรกที่ได้ยิน ได้อ่าน (แบบคร่าวๆ) ในเรื่องของ GTD นั้น ก็นึกว่าคงจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการจัดลำดับความสำคัญ การทำพวก To-Do List เหมือนกับเทคนิคอื่นๆ จนกระทั่งถูกโค้ชจากผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธี และกลับมาอ่านหนังสือของ David Allen อีกครั้งถึงพบว่า เรื่องของ GTD นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการจัดระบบของสิ่งต่างๆ ที่จะทำในชีวิตเท่านั้น แต่จริงๆ เป็นแนวคิดที่ช่วยทำให้สมองเราโล่ง สงบนิ่ง และทำให้มีสมาธิในการทำงานหรือกับสิ่งที่ทำมากขึ้น

แนวคิดของ GTD เริ่มจากปัญหาที่พวกเราทุกคนเป็นกัน นั่นคือมันมีเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำอยู่ในสมองเราตลอดเวลา ทั้งสิ่งเดิมๆ ที่มีมานานแล้ว รวมทั้งสิ่งใหม่ๆ ที่เพิ่งคิดขึ้นมา ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาในจิตใจ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว) เมื่อใดก็ตามที่ยังไม่ได้รับการจัดการ หรือนำไปจัดเก็บไว้ในระบบที่เราไว้วางใจได้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ในใจเรา และสมองเราก็จะครุ่นคิดถึงมันอยู่ตลอดเวลา

ในเรื่องของงานนั้น เราจะมีความคิดโผล่เข้ามาในใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต้องตอบอีเมล ตอบข้อความ โทรศัพท์หาลูกค้า รายงานเจ้านาย สั่งการลูกน้อง จัดทำเอกสาร ถ่ายเอกสารสำคัญ ไปเยี่ยมลูกค้า ฯลฯ ส่วนเรื่องส่วนตัวนั้น ก็ไม่ว่าจะเป็น การโทรศัพท์กลับไปรายงานตัวกับที่บ้าน การต้องไปซื้อของที่จำเป็น เรื่องที่จะต้องคุยกับลูกๆ การเติมน้ำมัน การหาเอกสารสำคัญ ฯลฯ ท่านผู้อ่านจะสังเกตนะครับว่า ในวันๆ หนึ่ง เรามีเรื่องเป็นสิบๆ เรื่องที่ผุดและโผล่ขึ้นมาในจิตใจเสมอ และตราบใดก็ตามที่เรื่องเหล่านั้นยังไม่ได้รับการจัดการ หรือ นำไปเก็บในระบบที่เชื่อถือได้ เรื่องต่างๆ เหล่านั้น ก็จะคอยรบกวนจิตใจของเราอยู่เสมอ แถมบางทีเรื่องเหล่านั้นจะโผล่มาในช่วงที่เราไม่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่กำลังต้องใช้สมาธิทำงานสำคัญ หรือช่วงที่กำลังคุย เจรจาการค้ากับคู่ค้า

แถมปัญหาต่อมาคือ เรื่องต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาและยังไม่ได้รับการจัดการนั้น ถึงแม้เราจะคิดหาทางออก หรือ แนวปฏิบัติได้แล้ว แต่เมื่อเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือเก็บไว้ในระบบที่เชื่อถือได้ เราก็มักจะต้องมานั่งคิดทบทวนใหม่ทุกครั้งว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

แนวคิดของ GTD นั้น จะเริ่มต้นจากการนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจเราออกมาจัดเก็บอยู่ในระบบที่เชื่อถือได้ และเป็นระบบที่เราไว้วางใจ และจะกลับมาอ่าน ทบทวน หรือดูอย่างสม่ำเสมอครับ ตามแนวคิดของ GTD นั้น ถ้าเรื่องที่มันโผล่ขึ้นมา สามารถดำเนินการหรือจัดการได้เสร็จสิ้นภายใน 2 นาที ก็ให้ทำในทันที แต่ถ้าไม่สามารถจัดการได้ภายในเวลา 2 นาที ก็จะต้องมีการจัดเก็บเข้าไปในระบบอะไรบางอย่างที่เราไว้วางใจ และจะกลับมาทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนตัวผมเองพบว่า พอเริ่มเอาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในใจหรือที่คิดจะทำให้ไปอยู่ในระบบบางอย่างที่เราไว้ใจได้นั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ สมองจะโล่ง และสงบนิ่งมากขึ้น ไม่ต้องเฝ้าคิด เฝ้าพะวงในเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อเรามีเวลาหรืออยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เราก็สามารถกลับไปดูเจ้าระบบที่น่าเชื่อถือนั้น เพื่อทำในสิ่งที่เราได้บันทึกไว้ สุดท้ายงานก็จะสำเร็จมากขึ้น อีกทั้งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลักการข้างต้นทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ผิวๆ ของ GTD เท่านั้นนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ