Open Data เพื่อความโปร่งใสของภาครัฐ

 Open Data เพื่อความโปร่งใสของภาครัฐ

คงไม่มีข้อถกเถียงอีกต่อไปแล้ว ถึงอิทธิพลและความสำเร็จของโซเชียลมีเดีย ในการเป็นสื่อกระแสหลักของคนรุ่นใหม่

และด้วยคติพจน์ที่ว่า ใครก็สามารถเป็นสื่อได้ ในยุคของโซเชียลมีเดีย ผ่านเทคโนโลยี 3G-4G และสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ทุกแห่งหน และมีการเข้าถึงเกินครึ่งหนึ่งของประชากรไทย โลกดิติทัลในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ในปริมาตรและปริมาณอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีการเผยแพร่ ถูกเรียกเป็น User Generated Content ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย และมีการเผยแพร่เนื้อหาของตัวเอง ในรูปแบบของ ตัวหนังสือ ภาพ วีดิโอ และ พฤติกรรมอื่นๆ เพื่อส่งต่อและแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้คนอื่นในสังคมออนไลน์

User Generated Content ในปัจจุบัน มีปริมาตรและปริมาณอย่างมหาศาล และเป็นส่วนที่สำคัญของอภิมหาข้อมูล หรือที่เรียกกันว่า Big Data ที่สามารถถูกนำมาวิเคราะห์เจาะลึกให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ ต่อธุรกิจ การเมือง การศึกษา สังคม ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น ข้อมูลเกือบทั้งหมด ล้วนถูกสร้างขึ้นจากจากผู้ใช้งานในภาคส่วนของเอกชน ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล ธุรกิจ การศึกษา ฯลฯ

ในประเทศไทย ยังไม่ปรากฏมีการเปิดเผยและนำเสนอข้อมูลของภาครัฐ ในโลกดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และในรูปแบบที่มีความร่วมสมัยกับยุคของ Big Data เพื่อให้บุคคลโดยทั่วไป สามารถนำไปวิเคราะห์เจาะลึก ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า Open Data ซึ่งยังคงอยู่ในระยะก่อนเริ่มต้น สำหรับประเทศไทย

Open Data สำหรับภาครัฐ คือการเปิดเผยและนำเสนอข้อมูล เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อพัฒนาความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และประสิทธิภาพของภาครัฐ

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอังกฤษ ภายใต้โครงการ data.gov.uk ได้เผยแพร่ข้อมูลทางการเงินทั้งหมดรวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยที่ข้อมูลมีปริมาณถึงหลายล้านรายการต่อปี และเป็นข้อมูลที่ลงรายละเอียดในเชิงลึก โดยที่มิใช่บทสรุปแต่เพียงผิวเผิน data.gov.uk มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความโปร่งใส โดยที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐได้ตลอดเวลา

ในอีกตัวอย่างหนึ่ง รัฐบาลของเดนมาร์ค ได้เผยแพร่ข้อมูลกิจกรรมการเคลื่อนไหวทั้งหมดในรัฐสภา ซึ่งรวมไปถึง การบวนการร่างกฎหมาย และพฤติกรรมในเชิงลึกของนักการเมืองกับเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

หากนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย Open Data จะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถถูกตรวจสอบได้อย่างเป็น Real Time โดยประชากรเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 3G-4G และสมาร์ทโฟนได้ พฤติกรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ จะถูกเผยแพร่ด้วยข้อมูลที่ลงรายละเอียดในเชิงลึก ในรูปแบบของ Raw Data และมิใช่บทสรุปที่ทำให้ทุกอย่างดูดีอีกต่อไป

นอกจากนี้ ประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ ยังสามารถนำ Open Data ของภาครัฐมาวิเคราะห์เจาะลึก เพื่อนำเสนอแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาปริญญาโท อาจค้นพบความบกพร่องที่สำคัญ ในขั้นตอนของการปฏิบัติการหรือในเชิงโครงสร้างของหน่วยงานรัฐ จากการวิเคราะห์ Open Data และนำเสนอหนทางแก้ไข ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ เนื่องจากประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ และอยากช่วยประเทศชาติมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพของภาครัฐ

Open Data ที่แท้จริง ที่มีความร่วมสมัยกับยุคของ Big Data ย่อมต้องเปิดเผยข้อมูลในเชิงลึก มีปริมาตรและปริมาณไม่แพ้อภิมหาข้อมูล และจะเป็นยิ่งกว่าการเป็นสื่อในยุคของโซเชียลมีเดีย เพราะด้วย Open Data หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่สามารถ “เลือก” ที่จะเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์เฉพาะข้อมูลที่ต้องการจะเปิดเผย แต่พฤติกรรมทั้งหมด ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ที่สามารถถูกบันทึกเป็นระบบดิจิตอลได้ จะถูกเผยแพร่ เพื่อความโปร่งใส ของภาครัฐ

ประเทศไทยมีตัวอย่างของ data.go.th ซึ่งในปัจจุบัน ยังคงเปิดเผยข้อมูลที่หาได้ทั่วไป และเป็นข้อมูลสถติในเชิงผิวเผิน และไม่ได้มีความร่วมสมัยกับยุคของอภิมหาข้อมูล จึงอาจไม่เอื้ออำนวยต่อวัตถุประสงค์หลักของ Open Data เพื่อการพัฒนา ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และประสิทธิภาพของภาครัฐ

การผลักดันเพื่อให้เกิด Open Data เป็นนโยบายระดับชาติ ที่ต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปเชิงนโยบาย จุดแรกเริ่มที่สำคัญ ย่อมมากจากความรู้ความเข้าใจ และการเรียกร้องของประชาชน