รัสเซียไยต้องยึดไครเมีย

รัสเซียไยต้องยึดไครเมีย

รัสเซียขัดแย้งกับชาติตะวันตกมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ความขัดแย้งนี้หนักเสียด้วยถึงขนาดคว่ำบาตรกัน ไม่ร่วมมือกันในหลายเรื่อง

และถึงขั้นวางกำลังและอาวุธประจันหน้ากัน ซ้อมรบอวดกันราวกับพร้อมประจัญบานได้เสมอ เหตุผลความขัดแย้งมีหลายหลากตั้งแต่ระดับโครงสร้างที่ระบบประชาธิปไตยไปกันไม่ได้กับกึ่งอัตตาธิปไตย ไปจนถึงผลประโยชน์ต่างๆ นานา แม้ว่าฟางเส้นสุดท้ายจะเป็นยูเครน ที่แตกแยกเป็นหลายเสี่ยง แต่สิ่งที่รัสเซียต้องการจริงๆ นั้นคือไครเมีย ที่ไม่อยากยกให้ใครถ้าไม่จำเป็น การผนวกไครเมียนั้นเกิดขึ้นนานปีเศษแล้ว แต่อยากบันทึกไว้หน่อยว่าทำไมถึงสำคัญต่อรัสเซียนัก


คาบสมุทรไครเมีย เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ 27,000 ตร.กม. ตั้งอยู่ชายฝั่งเหนือทะเลดำ มีประชากร 2.4 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ยูเครน โดยครึ่งหนึ่งเป็นชนเชื้อสายรัสเซีย ที่เหลือเป็นชนเชื้อสายยูเครนและชนเชื้อสายตาด ไครเมียเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมองโกลในรัสเซียหรือที่เรียกว่าอาณาจักรกระโจมทอง (Golden Hordes) ต่อมากลายเป็นประเทศราชของอาณาจักรออตโตมันเตอร์ก ก่อนที่รัสเซียที่เริ่มเกรียงไกรของพระนาง Catherine มหาราชจะผนวกไครเมียในปี พ.ศ.2326


รัสเซียพยายามครอบครองไครเมียเรื่อยมา แม้จะต้องเสียอธิปไตยในไครเมียในบางครั้ง เช่น สมัยสงครามไครเมียในศตวรรษที่ 19 หรือ Crimean War ที่รัสเซียต้องรบกับอาณาจักรออตโตมันเตอร์ก ที่มีพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส และสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเยอรมันก็ยึดแคว้นนี้ได้ถึงสามปี แต่รัสเซียก็ยังทวงคืนได้ในเวลาต่อมา


รัสเซียมาเสียสิทธิการครอบครองไครเมียอย่างไม่น่าจะเสียในปี 2497 เมื่อจู่ๆ นึกยังไงไม่รู้ ประธานาธิบดี Nikita Khruschev ผู้นำโซเวียตในขณะนั้นได้ยกไครเมียให้เป็นของยูเครน ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตด้วยกัน โดยอ้างว่าเพื่อสัมพันธไมตรีอันดี รัสเซียก็ไม่ว่ายังไง และต่อมาเมื่อยูเครนได้เอกราชจากโซเวียตในปี 2534 ไครเมียก็เป็นส่วนหนึ่งของยูเครนจนถึงมามีเรื่องเอาเมื่อต้นปี 2557 ที่กลุ่มนิยมรัสเซียเข้ายึดสภาท้องถิ่นและทำประชามติขอนำไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียเสียเลย รัสเซียก็เร็วใจหายรับรองสถานะดังกล่าวเมื่อ 18 มี.ค.57 สร้างความไม่พอใจแก่ชาติตะวันตกจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกในปัจจุบัน จนถึงบัดนี้ มีเพียง 7 ชาติที่รับรองสถานะดังกล่าว


รัสเซียมีความจำเป็นที่ต้องครอบครองไครเมียโดยตรง ซึ่งต่างจากอดีตรัฐบริวารอื่นที่มีพรมแดนติดกับยูเครน เช่น มอลโดว่า ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของยูเครน รัสเซียแทรกแซงน้อยกว่าเนอะ ทั้งนี้เพราะไครเมียมีความสำคัญต่อรัสเซียมาก


ประการแรก ไครเมียเป็นจุดศูนย์ดุลทางยุทธศาสตร์ในทะเลดำ มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลทั้งน้ำมันและแหล่งอาหารทะเล Sevastopol เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือแห่งเดียวของรัสเซียที่อยู่ในทะเลปิด รัสเซียเป็นเจ้าของฐานทัพเรือนี้แม้แต่สมัยที่ยูเครนเป็นเจ้าของไครเมีย โดยมีสัญญาเช่ากันยาวนาน ปัจจุบัน เซวาสโตโปลยังเป็นที่ตั้งส่งกำลังบำรุงสำคัญให้รัฐบาลซีเรียในการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านที่ชาติตะวันตกหนุนหลัง และที่สำคัญที่สุด ไครเมียยังเป็นจุดที่รัสเซียใช้จ่อคอหอยยูเครนเพื่อป้องกันไม่ให้อิทธิพลขององค์กรนาโต้ขยายมาสู่ทะเลดำ


ประการที่สอง ไครเมียเป็นอนุสรณ์ประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เป็นหนึ่งในมาตุภูมิที่ทุกคนจดจำ ถมศพลงไปเยอะมาก ทหารรัสเซียเสียชีวิตถึง 4 แสนนายเพื่อปกป้องดินแดนแห่งนี้ในสงครามไครเมียปี 2396 ปัจจุบันประธานาธิบดี Vladimir Putin กำลังปลุกกระแสชาตินิยม ฟื้นฟูเกียรติภูมิของรัสเซียที่เสียไปในยุคของอดีตประธานาธิบดี Boris Yeltsin การได้ครอบครองไครเมียเป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่อาจนำไปสู่การขยายเป็น Greater Russia คืบคลานเข้าไปครอบครองพื้นที่อื่นที่เคยเป็นของรัสเซียในอดีตเดิมหรือรัฐบริวารก็เป็นได้


ประการที่สาม ประธานาธิบดี Putin ต้องการรักษาอิทธิพลของตนในการเมืองรัสเซีย เป็นที่ทราบกันว่าในขณะที่ปูตินมีอำนาจมากขึ้นทุกวัน การต่อต้านอำนาจผูกขาดของเขาในรัสเซียก็มีมากหลากหลายต่อเนื่องตามไปด้วย การได้ไครเมียเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับชาวรัสเซียที่เห็นความจำเป็นของการมีผู้นำที่แข็งแกร่ง ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของชาติตะวันตก ปูตินจึงต้องครอบครองไครเมียไม่มีปล่อย


ณ ปัจจุบันสถานการณ์ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเต็มตัว รัสเซียจะไม่ยอมให้ไครเมียเป็นอิสระตามแรงกดดันจากชาติตะวันตก และจะยิ่งเพิ่มการประจำการกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ ในพื้นที่แห่งนี้ ในระยะแรกการกระทบกระทั่งกับยูเครนจะยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะไม่หนักหน่วงเท่ายูเครนตะวันออกที่ยูเครนไม่ยอมเสียให้ฝ่ายกบฏง่ายๆ ในระยะยาวไครเมียอาจเกิดความขัดแย้งภายในพื้นที่เพราะชาวยูเครนก็อึดอัด เช่นเดียวกับชาวตาด ซึ่งก็มีประชากรไม่น้อย อาจเรียกร้องความเป็นอิสระจากการปกครองของรัสเซียมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยนั้น แม้จะยังคงไม่รับรองสถานะของไครเมียว่าเป็นของรัสเซีย แต่ไม่น่ามีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับไทยแต่อย่างใด เพราะรัสเซียไม่บีบคั้นไทยในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการไม่เร่งรัดจริงจังให้ไทยเข้าเขตศุลกากรยูเรเซียกับเขา รัสเซียทราบดีว่าตนเองยังใหม่ในการกลับเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง ต้องค่อยๆ เดินเกมในการแข่งขันกับจีนและสหรัฐ