'วิถีท่องเที่ยวไทย' อย่าให้เสียของ

'วิถีท่องเที่ยวไทย' อย่าให้เสียของ

การส่งเสริม "ปีท่องเที่ยววิถีไทย" หรือ 2015 Discover Thainess เปิดฉากอย่างเป็นทางการ

ด้วยงาน "เทศกาลเที่ยวไทย 2558" วันที่ 14 - 18 ม.ค.นี้ ณ สวนลุมพินี ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเป็น "วาระแห่งชาติ" ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 12 พ.ย. 2557 ต้อนรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ในความเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และหลายประเทศอาเซียนได้เป็นอย่างดี มีทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่น รวมทั้งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่ชัดเจนและแตกต่าง แต่ด้วยการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ทุกประเทศล้วนวางเป็นยุทธศาสตร์สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกันทั้งสิ้น ขณะที่ขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยรวมของไทย ท่ามกลางประเทศอาเซียนคือสิ่งที่จำเป็นต้องเร่งทบทวน และวางกรอบยุทธศาสตร์ที่สามารถเดินหน้าอย่างได้เปรียบ

ปีท่องเที่ยววิถีไทย กำหนดเริ่มต้นตั้งแต่เดือนม.ค. - ธ.ค. 2558 มุ่งนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยในมุมมองใหม่ เน้นคุณค่าที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการมาเที่ยวเมืองไทยผ่านวิถีไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับความเป็นไทย ตลอดจนให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ โดยมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เฟ้นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆ เป็นการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนโดยตรง

แนวคิด "วิถีไทย" ที่ถูกเลือกมาใช้เป็นจุดเด่นทางการตลาดของ "ท่องเที่ยวประเทศไทย" นั้น นับเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวอยู่ในวิถีชีวิตคนไทย ไม่ว่าจะด้านอาหารการกิน การแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ภาษา ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรี ความเชื่อ ฯลฯ ที่ล้วนแตกต่างกันไปตามแต่ละ "ท้องถิ่น" ทั่วประเทศ ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน คือ "ความหลากหลาย" ที่เป็นจุดขายที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ ต้องการมาเยี่ยมเยือน สัมผัส และมีประสบการณ์ร่วมด้วยตัวเองกับ "สยามเมืองยิ้ม" สะท้อนความเป็นเมืองแห่งรอยยิ้มของคนไทยที่มีอัธยาศัยที่ดี

จะว่าไป “วิถีไทย” ไม่ใช่เพียงจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กลับเป็นสิ่งที่ "นักท่องเที่ยวชาวไทย" หรือ "คนไทย" เอง กำลังแสวงหาอดีต และรากเหง้า จะเห็นได้จากความสนใจในบรรยากาศย้อนยุคที่กลับมาเฟื่องฟู ผ่านสินค้าและบริการในรูปแบบต่างๆ ร้านอาหาร-ร้านกาแฟ ย้อนยุค โรงแรม แฟชั่น ดีไซน์วินเทจ คือการจับเอาวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือรากเหง้า กลับมาฟื้นคืนชีวิต ซึ่งกลายเป็นมูลค่าเพิ่มในยุคสมัยใหม่นี้

ในแต่ละเดือนของปีวิถีท่องเที่ยวไทยวางแนวทางการจัดกิจกรรมยาวต่อเนื่อง เริ่มจากเดือนก.พ.เฉลิมฉลองในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา โดยกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐประชาชน จีน ได้จัดส่งคณะนักแสดงจากประเทศจีนมาร่วมงาน โดยจัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี พร้อมเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลความรัก

เดือนมี.ค. “มวยไทย ศิลปะไทย มรดกไทย มรดกโลก และไหว้ครูมวยไทยโลก” ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (วัดมหาธาตุ/วัดหลังคาขาว) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อเนื่องด้วยเทศกาลแห่งความสนุกสนาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศทั้งเชียงใหม่ สุโขทัย ขอนแก่น นครพนม หนองคาย มุกดาหาร ภูเก็ต หาดใหญ่ ชลบุรี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา มีศูนย์กลางที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

เดือนพ.ค. “เทศกาล Thailand Music Festival” หาดชะอำ เพชรบุรี ร่วมต้อนรับศิลปินเอกทางดนตรีที่มีชื่อเสียงทั้งไทยและเทศหลากหลายแนวดนตรีที่จะมาช่วยกันสร้างสีสัน เดือนมิ.ย. “มหกรรม Thailand Grand Sale” ที่มีการขยายความร่วมมือห้างสรรพสินค้าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึง "ตลาดนัดจตุจักร" และผู้ค้า "ย่านประตูน้ำ" แหล่งรวมแฟชั่นราคาประหยัด ที่กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการชอปปิง เป็นต้น

จบเดือนธ.ค. กับ “เทศกาลมหกรรมแห่งความสุข” เริ่มตั้งแต่วันพระบรมราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ก่อนเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ด้วยงาน "เคาท์ดาวน์ " ที่กรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายระดับโลกเช่นกัน โดยมี "สวดมนต์ข้ามปี" แบบวิถีไทย วิถีพุทธ เป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ

ปีท่องเที่ยววิถีไทย ที่มี "ชาวไทย" ทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพ คือ "จิ๊กซอว์" สำคัญร่วมฟื้นฟู เสริมสร้างความเข้มแข็ง ปลุกความเชื่อมั่นของ "ท่องเที่ยวไทย" ในเวทีโลกให้กลับมาผงาดเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาด จะบอกว่ามี "เศรษฐกิจไทย" เป็นเดิมพันก็ยังได้