อุดมคติกับลักษณะเฉพาะ ในระบอบประชาธิปไตยไทย

อุดมคติกับลักษณะเฉพาะ ในระบอบประชาธิปไตยไทย

คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุปในประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยเห็นชอบในหลักการ

และยืนยันถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าควรมาจากรูปแบบปกครองของรัฐสภา มาโดยการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร และเกณฑ์การลงมติเลือกบุคคลนั้นต้องนับจากคะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นอันได้ข้อยุติหลังจากเป็นประเด็นถกเถียงกันมานาน จนดูเหมือนจะหาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากแต่ละเหตุผลต่างมีข้อดีและข้อเสียในการโต้แย้งถึงที่มาของนายกรัฐมนตรี

นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่า"ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้ระบบการปกครองแบบรัฐสภาที่ใช้มา 82 ปี จะมีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดสามารถที่จะแก้ไขได้ ส่วนระบบใหม่ที่เสนอยังไม่มีหลักประกันที่ทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาหรือความเสี่ยงใดๆเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงยอมรับความเสี่ยงในระบบเก่าเพราะเชื่อว่าจะเสี่ยงน้อยกว่าระบบใหม่" ซึ่งความเห็นของนายสุจิตชี้ให้เห็นว่ากฎกติกาใหม่ทางการเมืองที่กำลังทำกันอยู่นี้มากจากปัญหาที่ผ่านมานั่นเอง

แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ และยังเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป คือนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)หรือไม่ โดยมีข้อเสนอ 2 แนวทางคือ ทั้งมาจากส.ส. และไม่ต้องมาจากส.ส. ซึ่งหากเป็นสถานการณ์การเมืองก่อนหน้าหน้าอาจไม่เป็นประเด็นที่ต้องมาอภิปรายกันให้เสียเวลา เพราะนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายบริหารสูงสุดก็ต้องมาจากตัวแทนประชาชนอยู่แล้ว กล่าวคือเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามาด้วย ตามหลักประชาธิปไตยแบบตัวแทน

เมื่อมีประเด็นว่านายกรัฐมนตรีอาจไม่จำเป็นต้องมาจากส.ส. ทำให้อาจกลับไปสู่สถานการณ์แบบเดิม นั่นคือนายกรัฐมนตรีคนกลาง แม้ว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะอ้างเหตุผลว่า ในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและเกิดการฟ้องร้อง จนบรรดานักการเมืองต้องสิ้นสภาพไปด้วยนั้น ในบางกรณีนายกรัฐมนตรีก็ต้องสิ้นสภาพเป็นส.ส.ไปด้วย ผลก็คือจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้นมา ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น

ดังนั้นหากติดตามแนวคิดการยกร่างรัฐธรรมนูญ และความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอแนวคิดต่างๆนั้น จะเห็นได้ว่ามีอุดมคติในเรื่องของประชาธิปไตยแบบ"กว้างๆ"เท่านั้น แต่ในที่สุดแล้ว กติกาประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกหนึ่งปีข้างหน้านั้น มาจากสถานการณ์ในอดีตเป็นสำคัญ กล่าวคือ เป็นกติกาที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในอดีต ไม่ใช่เกิดจากอุดมคติที่ควรจะเป็นของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และความขัดแย้งทางความคิดขณะนี้ก็มาจากจุดนี้เอง

เราเห็นว่าข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบการปกครองก็ดี หรือ ที่มาของอำนาจอธิปไตยก็ดี ล้วนแต่มาจากความขัดแย้งสองแนวคิด ระหว่างอุดมคติกับลักษณะเฉพาะของไทย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจากนี้ไปประชาธิปไตยไทยมีแนวโน้มจะไปในทิศทางหลัง กล่าวคือเป็นประชาธิปไตยในบริบทสังคมไทยนั่นเอง เราเห็นว่าหากความขัดแย้งยังไม่มีกลไกให้ต่างฝ่ายต่างยอมรับกันได้หลังมีกติกาใหม่แล้ว ก็อาจกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้งในอนาคต และจะเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น