รถไฟฟ้าความเร็วสูง และคุณธรรมสูง

รถไฟฟ้าความเร็วสูง และคุณธรรมสูง

พาดหัวเรื่องข้างต้นอาจดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่จริงๆ ไปด้วยกันได้ดีนะครับ

ในระหว่างวันที่ 15-27 มิถุนายน ศกนี้ วันที่บทความฉบับนี้ตีพิมพ์ที่กรุงเทพธุรกิจ ผมไปอยู่สหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่การไปเรียนหนังสือที่นครบิงแฮมตัน ไปเที่ยวนครนิวยอร์ก และไปบรรยายในการประชุมนานาชาติที่นครฮาร์ตฟอร์ต และโดยที่เป็นการประชุมนานาชาติ ก็เลยมีกรณีศึกษาหลายเมืองมานำเสนอ ผมจึงนำมาเล่าให้ฟัง ขืนเก็บไว้อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ก็อาจช้าไปอีกแล้ว เพราะคราวหน้าคงมีเรื่องประเทศอื่นที่ผมไปทำงานมาเล่าให้ฟังอีก

ที่เมืองไทยของเรา ชาวบ้าน "เข็ดขี้อ่อนขี้แก่" กับการเวนคืน แม้แต่เจ้าหน้าที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยังพูดติดตลกว่าตนทำงาน "ต่ำช้า" กล่าวคือเวลาจะจ่ายค่าทดแทนจากการเวนคืน ก็มักจ่ายต่ำๆ จ่ายช้าๆ นั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้ราชการไทยก็ปรับปรุงดีขึ้นตามลำดับ แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีสมาคมที่เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคหรือสมาคมเขตทางนานาชาติมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 หรือ 80 ปีมาแล้ว

การสร้างทางรถไฟ ท่อแก๊ส ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ฯลฯ เขาใช้การเวนคืนน้อยมาก เขาใช้การเจรจาต่อรองเป็นหลัก จนเกิดเป็นวิชาชีพเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองเพื่อการจัดซื้อที่ดินบนพื้นฐานที่ให้ความเป็นธรรม ไม่กดราคา แถมยังต้องคำนึงถึงความเสียหายอื่นๆ อีกด้วย และสาธารณูปโภคต่างๆ ของเขามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการเจรจาต่อรองอย่างมืออาชีพ

ความเป็นอารยะที่สืบทอดกันมานานในสังคมตะวันตกคือการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้น จึงมีวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินโดยในกรณีนี้คือทรัพย์ที่เวนคืนซึ่งมีทั้งที่ดิน อาคาร สิ่งติดตรึงในอาคาร ซึ่งนับรวมเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสังหาริมทรัพย์ที่แม้จะโยกย้ายได้ แต่บางครั้งก็ต้องจ่ายค่าทดแทนเช่นกัน รวมถึงมูลค่าของกิจการที่อาจเสียหายไปในการเวนคืน เป็นต้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงที่แพร่กระจายไปทั่วโลกเช่น "ไฟลามทุ่ง" นั้น ก็เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้างเช่นกัน ในสหรัฐอเมริกา กำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงในมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มุ่งเชื่อมต่อจากเหนือจรดใต้ โครงการนี้แม้จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ทางราชการก็มุ่งส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการร่วมโครงการ เช่น จัดจ้างมาช่วยสำรวจ ผลิตอุปทานสินค้าต่อเนื่อง ไม่ใช่มุ่งแต่สัมฤทธิผลอย่างเดียว และคาดว่าภายใน 6 ปีข้างหน้า เราอาจได้มีโอกาสใช้บริการเมื่อไปเยือน

อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้รถไฟเป็นประเทศแรกในโลกเมื่อ 203 ปีก่อนนั้น ก็กำลังพัฒนารถไฟความเร็วสูง ที่วิ่งได้ประมาณ 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสายแรกจะวิ่งจากกรุงลอนดอนไปยังนครเบอร์มิงแฮม ระยะทางแค่ 200 กิโลเมตรก่อน ในการนี้ก็ต้องมีการเวนคืน-จัดซื้อที่ดิน และทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ต่างก็เคารพสิทธิของประชาชน แต่ในอีกทางหนึ่งจะยอมให้ใครขวางประโยชน์ของส่วนรวมด้วยเหตุผลหรือประโยชน์ส่วนตัว คงไม่ได้เช่นกัน จึงต้องมีการเวนคืนในบางกรณี

อันที่จริงหลายประเทศในยุโรปก็มีรถไฟความเร็วสูงกันแล้ว ผมก็พาคณะไปลองนั่งดูกันมาแล้วโดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส แต่ในเอเชีย ประเทศแรกที่มีก็คือญี่ปุ่น ที่เรารู้จักกันว่ามีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นแห่งแรก โดยมีระยะทางรวม 2,664 กิโลเมตร แต่ประเทศที่รถไฟความเร็วสูงมากที่สุดในโลกก็คือ จีนที่ขณะนี้เปิดใช้แล้ว 14,424 กิโลเมตร และยังจะสร้างอีกนับเท่าตัว การพัฒนาสาธารณูปโภคของจีนนั้นรวดเร็ว และถือเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ อย่างไรก็ตาม ในจีน ไม่ต้องใช้วิชาชีพเจรจาต่อรองเพื่อการจัดหาที่ดิน แต่ใช้อำนาจเป็นหลัก

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงของทั่วโลกในอนาคต ที่น่าสนใจ ได้แก่

มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์) - สิงคโปร์ จะสร้างระยะทาง 350 กิโลเมตร ณ ความเร็ว 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมียนมาร์ จะสร้างระยะทาง 1,920 กิโลเมตร โดยการลงทุนของจีน แต่ยังพับโครงการไว้ก่อน

เวียดนาม จะสร้างระยะทาง 1,555 กิโลเมตร ณ ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อินโดนีเซีย บนเกาะชวา จะสร้างระยะทาง 685 กิโลเมตร ณ ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกเหนือจากนั้นยังมีประเทศอื่น ๆ นอกอาเซียนเช่น

โมร็อกโก จะสร้างระยะทาง 200 กิโลเมตร ณ ความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

รัสเซีย จะสร้างระยะทาง 660 กิโลเมตร ณ ความเร็ว 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อัลจีเรีย จะสร้างระยะทางแค่ 66 กิโลเมตร ณ ความเร็ว 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อาหรับ จะสร้างระยะทาง 2,200 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างรัฐต่าง ๆ ในย่านนั้น

อินเดีย มีแผนการก่อสร้างถึง 4,400 กิโลเมตรทั่วประเทศ

ที่เหลือเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกาอีกหลายประเทศ

ผมอยากบอกว่า รถไฟความเร็วสูงอาจเป็นดัชนีชี้ความโปร่งใสได้อย่างหนึ่ง ประเทศที่ทำได้ แสดงว่าต้องมีอารยธรรมพอสมควร จึงสามารถทำโครงการขนาดใหญ่โดยไม่มีข้อครหาเรื่องเงินทอน (ทุจริต) และคุยกับประชาชนที่ถูกขอซื้อหรือเวนคืนที่ดินรู้เรื่อง (ยกเว้นจีน) แต่ก็แปลกอย่างหนึ่งคือประเทศที่มีอารยธรรม คุณธรรมสูงอาจดู "ไม่เป็นกันเอง" หรือ "หยวนๆ" เยี่ยง ไทย - จีน อย่างเช่นเยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่นซึ่งผมไปเมื่อ 30 ปีก่อน ผู้คนเอาจริงเอาจัง เดินผ่านกัน รู้สึกเย็นชาคล้ายเดินผ่านเสาไฟฟ้าหรือหุ่นยนต์

แม้แต่อังกฤษโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซี ก็ยังเคยไปศึกษาว่าสังคมเยอรมนีเป็นอย่างไรจึงเลิศได้เพียงนี้ สิ่งหนึ่งที่ค้นพบก็คือพวกเขามีธรรมะ มีหิริโอตตัปปะจริง ไม่ใช่ ‘อมพระมาพูด’ เช่นที่เห็น ‘คนดี’ พูดกันในประเทศไทย! ที่ดูเหมือนเขาเป็นหุ่นยนต์ก็เพราะเขาเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่หน้าไหว้หลังหลอก มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปจริงๆ แต่เขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ (แต่เปลือก) นะครับ

ว่ากันว่าสังคมตะวันตกโดยเฉพาะชาวเยอรมัน พยายามให้ทำงานตามสมควร เน้นการให้เวลากับครอบครัว เวลาทำงานก็ไม่ "เมาท์มอย" (คุยเล่นน้ำท่วมทุ่ง) เด็กๆ ใช้เวลาในโรงเรียนน้อย หลังเที่ยงก็กลับไปอยู่กับครอบครัว ญี่ปุ่นก็คล้ายกัน ปกติคุณพ่อทำงานคนเดียว คุณแม่อยู่ดูแลครอบครัว สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง พ่อแม่ต้องรับผิดชอบต่อลูก จะปล่อยให้ออกมาเที่ยวเล่นตามร้านตู้เกมส์หรือเดินห้างส่งเดชไม่ได้ เขาจับและปรับถึงพ่อแม่ แม้แต่ในอเมริกา ออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ก็ใช้นโยบายอย่างนี้

วินัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการไม่ใช้เงินเกินตัว หนี้สินครัวเรือนในเยอรมนีจึงมีน้อยมาก ไม่ใช่แบบประเทศไทยที่โฆษณาเรื่องพอเพียง แต่ไม่รับไปปฏิบัติกันจริง โดยเฉพาะพวกชนชั้นสูงไม่เคยพอเพียงจริงๆ กลายเป็นการรณรงค์ให้ชาวบ้าน “ทำใจ” พอเพียงเป็นหลัก และเพื่อความอยู่รอดเฉพาะหน้าของสถาบันการเงินไทย เราก็กลับส่งเสริมการมีหนี้ ทั้งที่หลักการสำคัญของการมีหนี้ก็คือ

1. อย่าเป็นหนี้

2. ถ้าจำเป็น ก็ต้องเป็นหนี้แต่น้อย

3. ใช้คืนหนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เสียโอกาส (Opportunity Costs) ในการลงทุนอื่น

4. อย่าเป็นหนี้หลายทางในเวลาเดียวกัน

ผมขอปิดท้ายตรงนี้ว่า หลายท่านคงเคยได้รับบทความที่แปลมาจาก forward mail ของแขกที่เริ่มเผยแพร่ในปี 2554 ยกย่องสังคมเยอรมันต่างๆ นานาและลงท้ายด้วยกรณีความประหยัดว่าหญิงชราคนหนึ่งไม่พอใจที่พบคน "กินทิ้ง กินขว้าง" ในร้านอาหาร จึงเรียกเจ้าหน้าที่มาตักเตือน ด้วยคำพูดว่าแม้เงินเป็นของคุณ แต่ทรัพยากรเป็นของสังคม (Money is yours but resources belong to the society) forward mail นี้สุดประทับใจ แต่ความจริงนี่เป็นเรื่อง "ดรามา" เพราะในเยอรมนีไม่มีกฎหมายห้ามการ "กินทิ้งกินขว้าง"

คนดีที่ชอบ "ดรามา" พูดเรื่องดี ๆ เอาดีใส่ตัว มีมากมายในสังคมครับ โปรดระวัง