5อันดับปฏิวัติการใช้สื่อดิจิทัล

5อันดับปฏิวัติการใช้สื่อดิจิทัล

ในยุคที่ผู้บริโภคดิจิทัลปัจจุบัน ถูกจัดว่าเป็น banner-blindness นั่นคือ สามารถมองผ่านสื่อดิจิทัล แบนเนอร์ไปโดยอัตโนมัติเสมอ

เหมือนไม่ได้เห็นการมองสื่อดิจิทัลเป็นพื้นที่ใหม่ สำหรับการซื้อพื้นที่สื่อให้ครบมิตินั้น นับเป็นความเชื่อที่ไม่เข้ากับยุคสมัย

ปัจจุบันผู้บริโภคดิจิทัลต่างเคยชินกับ พฤติกรรมการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆกัน เสพสื่อด้วยเทคโนโลยีหลากหลายหน้าจอ คาดหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกขณะจิต เคยชินกับการสื่อสารผ่านภาพด้วยความรวดเร็ว ไม่นิยมรับสารที่ยากจะเข้าใจหรือใช้เวลานาน และมีความสามารถพิเศษในการกลั่นกรองข้อมูลในช่วงเวลาสั้นๆ

การสื่อสารดิจิทัลของแบรนด์ จึงต้องอาศัยความเข้าใจในอินไซท์ใหม่ๆเหล่านี้เป็นอย่างมากในการปฏิวัติ เนื้อหา (Content) รูปแบบและวิธีการ (Platform & Mechanic) และการเลือกใช้สื่อ (Media Journey) ที่เหมาะสมและกลมกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคดิจิทัลในปัจจุบัน

1.ยุคทองของ กลยุทธ์คอนเทนท์

ในปีนี้ คอนเทนท์ ถือเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อน ไม่ว่าจะสื่อสารดิจิทัลใดๆ คำถามแรกที่อาจต้องหันมาเน้นหนักนั่นคือ เนื้อหาแบบไหนที่ผู้บริโภคของเราสนใจและใส่ใจ และเนื้อหาแบบไหนที่เข้ากับความเป็นแบรนด์ เพื่อหาจุดกลางของคอนเทนท์ที่เหมาะสม ส่วนตัวคิดว่าไม่มีประเด็นในการไปซื้อสื่อเพื่อ impressions และไม่ก็ให้เกิด engagement หากไม่มีกลยุทธ์คอนเทนท์ที่ลึกซึ้ง

2.ปรับผังโซเชียลมีเดีย เพื่อ ผู้บริโภค

ในมุมมองของโซเชียลมีเดียวิธีการพูดกับผู้บริโภคในวิธีใหม่ๆ ถือเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งสำหรับสื่อ ด้วยแพลตฟอร์มที่มีอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะผ่านภาพ ผ่านเสียง ผ่านวีดิโอ ผ่านคำ เป็นต้น หลายๆ แบรนด์อาจต้องหันมาสร้างวิธีการที่เหมาะสม โดยเฉพราะเรื่องของสไตล์ ที่เมื่อไม่ตรงกับสิ่งแวดล้อมและความต้องการของผู้บริโภค ก็จะถูกมองผ่านเป็นสื่อขยะได้อย่างทันที

3.เทคนิคการ ซื้อคำ สำหรับเสิร์ช

เมื่อเวลาที่ผู้บริโภคเริ่ม เสิร์ช ในโลกออนไลน์นั้น เปรียบเสมือน วินาทีการตัดสินใจซื้อ ในโลกปกติ ขณะที่หลายๆแบรนด์ใช้เวลาไปมากมายกับการซื้อสื่อเพื่อให้ผู้บริโภคเห็น การซื้อคำ เมื่อผู้บริโภคเสิร์ชนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อเช่นกัน ทั้งนี้ การเลือกคำที่ถูกต้อง และการสร้างคอนเทนท์ ที่เข้าใจง่ายเมื่อเสิร์ชเจอ ถือเป็นหัวใจหลักสำหรับการนี้

4.สร้างหูฟังผู้บริโภคในโลกดิจิทัลผ่าน Social Listening

ถึงจะยังมีปัญหากันอยู่เรื่องที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกแยะความคิดเห็นของคนไทยได้ ว่าเป็นเชิงบวกหรือลบ ด้วยความซับซ้อนทางภาษาของคนไทยที่มีทั้ง ชื่อที่ไม่มีความหมาย คำสร้อย คำประชด อะไรต่างๆ แต่การทำ Social Listening นั้นถือเป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้ทุกอย่างแก้ไขได้แบบ real-time นั่นคือการนำเสนอเนื้อหาอะไรที่ไม่เวิร์ค สามารถแก้ไขและปรับปรุงได้เสมือนเป็นการทำความเข้าใจผู้บริโภค Focus Group แบบออนไลน์ก็ว่าได้

5. Key Performance Indicators (KPIs) วัดผลที่ตัวเลขไม่ใช่สิ่งแรก

จริงอยู่ว่าสำหรับสื่อดิจิทัล เราสามารถวัดผลที่ตัวเลขกันได้ แต่ความสบายใจในแง่ผลตัวเลขไม่สามารถเป็นแนวคิดให้เกิดไอเดียใหม่ๆได้ ด้วยเพราะคุณภาพของไอเดียไม่สามารถถูกวัดผลได้จนกว่าจะถูกผลิตออกมาเป็นรูปแบบการสื่อสารจริง

นี่ก็ถือเป็น 5 สิ่งหลักๆที่หลายๆนักการตลาดดิจิทัล คงจะหันมาใส่ใจกันมากขึ้น ในยุคสื่อที่ต้องจ่ายเงินซื้อ ไม่ได้แปลว่าจะมีประสิทธิภาพหรือสร้างประสบการณ์ร่วมได้อย่างแท้จริง

ด้วย 5 แนวคิดนี้ ก็หวังว่าคงจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในโลกดิจิทัลบ้านเรา