ทองคำ เงินเฟ้อ และสงคราม กับปัจจัยบวกและลบในช่วงต่อไป

ทองคำ เงินเฟ้อ และสงคราม กับปัจจัยบวกและลบในช่วงต่อไป

สินทรัพย์ปลอดภัย หรือ Safe Haven Asset คือ สินทรัพย์ที่นักลงทุนใช้เป็นที่หลบภัยในภาวะที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ตลาดเงิน หรือการลงทุนต่างๆ

โดยเป็นคำเรียกรวมๆ ของสินทรัพย์หลายๆ อย่าง ได้แก่ เงินสด พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ หรือ สกุลเงินบางชนิด เช่น ดอลลาร์ หรือ เยนญี่ปุ่น ที่ราคามักจะปรับสูงขึ้นในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวน ซึ่งแต่ละชนิดก็จะให้ผลตอบแทนและเป็นที่นิยมในภาวะที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่าง 

โดยทองคำมักจะเป็นที่นิยมในช่วงที่เงินเฟ้อสูง เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้ (Inflation Hedge) เนื่องจากทองคำมีจำนวนจำกัดแตกต่างจะเงินในระบบเศรษฐกิจที่สามารถพิมพ์ขึ้นมาได้เรื่อยๆ หรือแม้แต่ในภาวะสงคราม ราคาทองคำก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากทองคำสามารถใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกได้

 

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ต้นปี 2022 ซึ่งเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกถูกกดดันด้วยปัญหาเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านสงคราม ราคาทองคำกลับปรับตัวลดลงกว่า 5.6% (จากระดับต้นปีที่ 1,829.2 เป็น 1,727.6 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ค. 2022) 

โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลการไหลเข้าของเงินทุนไปยังตลาดทองคำ โดยในช่วง 6 เดือนแรกมีเงินทุนไหลเข้าไปลงทุนใน Gold ETFs สุทธิทั้งหมด 15,300 ล้านดอลลาร์ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง ม.ค. ถึง เม.ย. ในช่วงที่นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่ยังคงปรับตัวขึ้นช้า รวมถึงปัญหาสงครามในยูเครนที่รัสเซียเริ่มใช้กำลังทางทหารบุกโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือน ก.พ. ก่อนที่จะเริ่มมีเงินทุนไหลออกจากกองทุน ETFs ในช่วงตั้งแต่ พ.ค. จนถึงปัจจุบัน

 

โดยสาเหตุหลักเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจก็น้อยกว่า หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศหลัก โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์เห็นได้ชัดเจนทั้งเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา รวมถึงสินทรัพย์ต่างๆ ที่ถูกตีค่าในรูปของเงินดอลลาร์ด้วย (โดยทองคำในรูปของเงินดอลลาร์ปรับลดลง แต่หากวัดในรูปของสกุลเงินอื่นๆ ทองคำยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก เช่นเดียวกับในรูปของเงินบาทที่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่เกิดจากการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นหลัก) 

และ (2) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) เทียบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของนักลงทุน (Inflation Breakeven) ที่ปรับตัวเป็นบวก เช่น ในปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.75% เทียบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อ 10 ปีที่อยู่ที่เพียง 2.34% ซึ่งเราไม่ได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในลักษณะนี้เป็นบวกมาแล้วกว่า 2 ปี

ในขณะที่มองไปข้างหน้าปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ (1) เงินเฟ้อที่น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยแม้จะมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ประเทศอื่นๆ ยังน่าจะเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อก็อาจจะทำให้เป็นที่ต้องการของนักลงทุนต่อเนื่อง (2) ความผันผวนในตลาดการเงินอันเกิดจากความไม่แน่นอนในนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะชะลอตัวลงและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามในยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและหาข้อสรุปไม่ได้ และ (3) ภาพรวมของหุ้นและบอนด์ที่ยังน่าจะปรับตัวลง แม้อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยลบ ได้แก่ (1) แนวโน้มดอกเบี้ยที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่แนวโน้มดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ทองคำมักจะให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก (2) เรื่องของแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ (3) แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจทำให้อุปสงค์ของการซื้อทองคำในส่วนของการทำเครื่องประดับ (Jewellery Fabrication) ลดลง โดยเฉพาะจากจีน ที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงของการชะลอตัวมากกว่าคาดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย zero-COVID หรือปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ในขณะที่อินเดียก็ยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ความไม่แน่นของเศรษฐกิจ และการขึ้นภาษีนำเข้าทองคำจาก 7.5% เป็น 12.5% ในขณะที่อุปสงค์จากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเอง ก็น่าจะอยู่ในระดับต่ำจากภาวะตลาดเงินที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพิ่มเติม และเงินสำรองทางการที่น่าจะลดลงจากราคาหุ้นและบอนด์ที่ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้บทบาทและแนวโน้มของทองคำอาจจะยังคงผันผวนขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งมีทั้งบวกและลบผสมกัน ทำให้ภาพรวมคาดว่าอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ทองคำให้ผลตอบแทนดีนัก แต่ต้องอย่าลืมบทบาทที่สำคัญของทองคำอีกอย่างหนึ่งคือการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะในภาวะที่ทั้งหุ้นและบอนด์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากความสัมพันธ์ในภาวะปรกติ การมีทองคำติดพอร์ตการลงทุนไว้บางส่วนก็อาจจะไม่เสียหายนักครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด