การเดินขบวนประท้วงผู้บริหาร มมส ม.มหาสารคาม ในยุคอธิการ "ประยุกต์ ศรีวิไล"

การเดินขบวนประท้วงผู้บริหาร มมส ม.มหาสารคาม ในยุคอธิการ "ประยุกต์ ศรีวิไล"

ระยะหลังมานี้ ได้รับข้อมูลเกี่ยวการบริหารงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ มมส ด้าน "ลบ" มากกว่าบวก? ยิ่งเห็นภาพการเดินขบวนประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในยุค รศ.ดร. "ประยุกต์ ศรีวิไล" เป็นอธิการบดี

จึงสมควรแก่เหตุที่ต้องกล่าวถึงเพื่อประโยชน์สาธารณ ต่อประชาคมชาว มมส คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และศิษย์เก่า จากกรณีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดน้อย ออกมาเคลื่อนไหว เพราะไม่พอใจนโยบายผู้บริหารปมยกเลิกการต่อสัญญาเพื่อจะเปิดประมูลใหม่ ซึ่งจะมีการปรับขึ้นค่าเช่าแผงจากเดิม 100% เช่น ค่าล็อกอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว จากเดิมค่าล็อกเดือนละ 6,000 บาท , ค่าน้ำค่าไฟค่าส่วนกลางต่างหาก ปรับเป็นเดือนละ 12,000 บาท ถ้าเป็นล็อกตรงกลางล็อกใหญ่ เดือนละ 3,000 ปรับเป็น 6,000 บาท ล็อกเล็กล็อกละ 1,500 ปรับเป็น 3,000 บาท ใช่หรือไม่ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง


เกิดคำถามว่า พ่อค้าแม่ค้าต้องประสบกับวิกฤต โควิด-19 ตลอด 2 ปีครึ่ง งดเข้าห้องเรียนให้เรียนออนไลน์ เมื่อทางมหาวิทยาลัยมีการเปิดภาคการศึกษาแบบ On site เมื่อ 24 มิถุนายน 2565 พ่อค้าแม่ค้าที่มาขายอาหารและเครื่องดื่มให้กับนิสิต ผ่านมาเพียง 20 วัน กลับต้องมาเจอนโยบายดังกล่าว แทนที่จะทำมาค้าขายพอได้ลืมตาอ้าปาก ขณะที่เสียงของ "นิสิต" ที่ไม่เห็นด้วย มองว่าถ้าปรับค่าเช่าขึ้นเป็นสองเท่า จะได้รับผลกระทบเพราะสินค้าตลาดน้อยจะถูกปรับราคาขึ้น ทั้งคนขายและคนซื้อจะอยู่ได้อย่างไร ทั้งแม่ค้าและนิสิตเจอวิบากเช่นนี้ จนต้องรวมตัวเดินขบวนในที่สุด

การเดินขบวนประท้วงผู้บริหาร มมส ม.มหาสารคาม ในยุคอธิการ \"ประยุกต์ ศรีวิไล\"
 

 

แน่นอนว่า ท่านอธิการบดี "ประยุกต์ ศรีวิไล" พลิกสถานการณ์ร้ายกลายเป็น "พระเอก" เปิดห้องเชิญตัวแทนม็อบนั่งร่วมตกลงและเจรจาหารือ สรุปเบื้องต้น  พิจารณาการต่อสัญญาการใช้พื้นที่ระยะเวลา 1 ปี (1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566) โดยให้คงอัตราค่าเช่าเดิม และพิจารณาทบทวนปรับลดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม รอฟังผลการพิจารณาตามมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดหารายได้และผลประโยชน์ และกรณีผู้ประกอบการกับมหาวิทยาลัย ตกลงอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมแล้วมหาวิทยาลัยจะพิจารณาขยายสัญญา อีก 2 ปี

ทำให้กลุ่มพ่อค้าแม่ตลาดน้อย ยอมรับข้อเสนอสลายตัวการชุมนุมและเปิดขายของที่ตลาดน้อยตามปกติแล้ว (22 ก.ค. 2565) ท่ามกลางประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ว่า "คณะผู้บริหาร" มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย  

รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี , ผศ.ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร , ศ.ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม , ผศ.ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและพัสดุ , รศ.ดร.อรวิชญ์ กุมพล รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและพัฒนาองค์กรดิจิทัล , รศ.ดร.ภญ.จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการเรียนรู้

ผศ.ดร.ดาริกา โพธิรุกข์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมายบริหารพัสดุและทรัพย์สิน , ผศ.ดร.จุลสุชดา ศิริสม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบบริหารการเงินและบัญชี , รศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและทรัพยากรบุคคล , อ.อังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและสื่อสารองค์กร , ผศ.ดร.โรจนี หอมชาลี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประเมินและพัฒนาการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ , ผศ.ดร.ธนายุทธ ไชยธงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสถาปัตยกรรมและพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ , ผศ.เมทินี โคตรดี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อม , ผศ.ดร.ภญ.คัทลียา เมฆจรัสกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการเรียนรู้ ผศ.ดร.ศิวา แก้วปลั่ง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

กล่าวคือ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ทั้งหลายคิดเห็นประการใด ต่อการยกเลิกการต่อสัญญาเพื่อจะเปิดประมูลใหม่ และปรับขึ้นค่าเช่าแผงจากเดิมสองเท่า ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจกำลังรุมเร้า การที่หน่วยงานรัฐมีแนวคิดจะผลักภาระเพื่อจัดหารายได้และผลประโยชน์จากผู้เช่าซึ่งจะกระทบกับบุคลากรและนิสิตในที่สุด

ทั้งนี้ เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องหารายได้ เพื่อนำไปบริหารจัดการภาระค่าใช้จ่ายกิจการภายใน แต่การใช้นโยบายที่ส่อให้เกิดผลกระทบหนักต่อผู้เกี่ยวข้อง จึงต้องคำนึงและไตร่ตรองให้มากกว่านี้

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการบริหารของภายใต้การนำ รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี ซึ่งท่านก็เป็น "เลือด มมส" จากนิสิตจนเป็นอาจารย์ และผู้นำองค์กร ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก ซึ่งการบริหารงานที่ผ่านมา ยอมรับว่าได้ยินเสียงยอมรับด้านบวก แต่กรณีเกิดม็อบเดินขบวน จึงไม่แน่ใจว่า ประเมินเหตุการณ์นี้อย่างไร ท่ามกลางข่าวว่าเหตุมีควันแล้วแต่ปล่อยให้เกิดไฟลุกลาม!?

ท้ายนี้ จะหาข้อมูลต่าง ๆ มาเล่าให้ฟังในลำดับต่อไป