เปิดกลยุทธ์การลงทุน ก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลัง

เปิดกลยุทธ์การลงทุน ก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลัง

เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่คงผ่านครึ่งปีแรกมาอย่างยากลำบาก เพราะราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับลง ยกเว้นน้ำมัน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ ด้านหุ้นโลก ถ้าดูจากดัชนี MSCI All Country World Index ก็ปรับลงมากกว่า 20%

หากนับจากจุดสูงสุดของปีถึงจุดต่ำสุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายน เพราะโดนกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งสงครามรัสเซียในยูเครน ที่ลากยาวมาสู่วิกฤตราคาน้ำมันแพง ไปจนถึงการขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูง ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สร้างความกังวลว่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง หากอ้างอิงจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ จะพบว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เท่าๆ กับโอกาสที่จะขยายตัวได้ต่อในอัตราที่ชะลอลง (Soft Landing) ส่วนเงินเฟ้อยังคงเป็นตัวละครสำคัญที่มีอิทธิพลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน

 

โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า จากความต้องการซื้อที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะยอดขายบ้านที่ถูกกดดันจากดอกเบี้ยขาขึ้นและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ดิ่งลงทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี  ส่วนด้านอุปทานก็มีสัญญาณดีขึ้นหลังจีนกลับมาเปิดเมือง แต่ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรงตัวในระดับสูง

คำถามที่อยู่ในใจนักลงทุนคงหนีไม่พ้น “เมื่อไหร่ที่หุ้นจะกลับมาเป็นขาขึ้น ?”

เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดเริ่มจากเงินเฟ้อจะต้องทยอยปรับลดลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามที่สื่อสารไว้ พร้อมทั้งทำให้เศรษฐกิจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย แต่เป็นเพียงการชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) เท่านั้น และอีกกุญแจสำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนวิกฤตการขาดแคลนวัตถุดิบและอาหาร ที่จะต้องผ่อนคลายลง ซึ่งถ้าหากเงินเฟ้อปรับลง และไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นรีบาวด์ขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

แน่นอนว่าคำถามถัดไปที่ตามมาก็คือ “ควรซื้อหุ้นประเทศไหนดี ?”

ในครึ่งปีหลัง หุ้นจีนน่าสนใจมากขึ้น ด้วยวัฏจักรเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 และคาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 โดยล่าสุด ทางการจีนได้ลดจำนวนวันกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ สะท้อนว่าจีนจะเริ่มเปลี่ยนนโยบายเป็นการอยู่ร่วมกับโควิดมากขึ้น ด้านเงินเฟ้อจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำ ล่าสุดที่ 2.1% YoY ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBoC) สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ต่างจากธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

แม้นักวิเคราะห์ได้พากันปรับลดประมาณการ GDP ปี 2022 ของจีน ลงมาสู่ระดับ 4.2% แต่ปธน. สี จิ้นผิง ยังคงเน้นย้ำเป้าหมายการเติบโตที่ 5.5% รัฐบาลจึงต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้านเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายที่พุ่งเป้าบางอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ตลอดจนการสนับสนุนกลุ่มเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการบริโภคในประเทศ และลดการพึ่งพาต่างชาติ ซึ่งล้วนสนับสนุนกำไรของบริษัทจดทะเบียน และหนุนราคาหุ้นจีนให้เพิ่มขึ้นได้

ในทางกลับกัน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เพิ่มความเสี่ยงให้การลงทุนในหุ้นยุโรป เพราะยูโรโซนพึ่งพาสินค้าจากรัสเซียค่อนข้างมาก ทำให้เศรษฐกิจเปราะบางกว่าภูมิภาคอื่นๆ ด้านธนาคารกลางยุโรปยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยังฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน นอกจากนั้น นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เสถียรภาพทางการเงินอ่อนแอ เพราะราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง และดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่เป็นขาขึ้น จะกดดันเศรษฐกิจ ค่าเงิน และผลประกอบการธุรกิจ เร่งให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออก

นอกจากหุ้นแล้ว การกระจายความเสี่ยงในหลายๆ สินทรัพย์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการลงทุนในครึ่งปีหลัง ทั้งตราสารหนี้คุณภาพดี รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ตลอดจนสินทรัพย์นอกตลาดทั้งหุ้นนอกตลาด และตราสารหนี้นอกตลาด ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตในยามตลาดผันผวนได้ด้วย