การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" กรณีองค์บากและต้มยำกุ้ง

การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" กรณีองค์บากและต้มยำกุ้ง

เปิดงานวิจัย เรื่อง "การสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่ององค์บาก (2546) และต้มยำกุ้ง (2548)" มีความน่าสนใจยิ่ง จึงคัดสรรสรุปความได้ ดังนี้

          การสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่ององค์บาก (2546) และต้มยำกุ้ง (2548)
          The creative film work of Prachya Pinkaew A Case Study of Ong-bak (2003) and The Protector (2005)

นิติราษฎร์ บุญโย (1) และ บรรจง โกศัลวัฒน์ (2)
Nitirad Boonyo and Banchong Kosalvat

บทคัดย่อ
     งานวิจัยเรื่อง “การสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว กรณีศึกษาภาพยนตร์ เรื่อง องค์บาก (2546) และต้มยำกุ้ง (2548)” มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษางานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของปรัชญา (2) เพื่อศึกษากระบวนการทํางานของปรัชญาในงานภาพยนตร์ ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์ แบบเชิงลึกและการวิเคราะห์ โดยผู้วิจัยจำแนกกลุ่มตัวอย่าง ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย กลุ่มตัวอย่าง ประเภทเอกสาร ได้แก่ บทสัมภาษณ์ผู้กํากับ บทความ บทวิเคราะห์ บทวิจารณ์ภาพยนตร์ รวบรวมงานเอกสารวิจัย และรวมทั้งสืบค้นข้อมูล ผ่านระบบออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต ประเภทภาพยนตร์ ได้แก่ องค์บาก (2546) และ ต้มยำกุ้ง (2548) และ ประเภทบุคคล ได้แก่ ปรัชญา ผู้ออกแบบงานสร้างที่เคยร่วมงานกับปรัชญา และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ รวมทั้งสิ้น 3 ท่าน 

จากผลการศึกษา ได้ทราบถึงภูมิหลังของปรัชญาสนใจภาพยนตร์เป็นพื้นฐาน เลือกทำงานฝ่ายศิลป์ในกองถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ เรียนรู้จากงานจนเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ได้โอกาสกำกับภาพยนตร์เกี่ยวกับวัยรุ่น 2 เรื่อง เข้าใจงานโพรดักชันของภาพยนตร์มากขึ้นพร้อมตั้งใจอยากสร้างภาพยนตร์แอ็กชัน ลาออกจากงานผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ศึกษาภาพยนตร์แอ็กชันของไทยและมวยไทย ผ่านบททดสอบทั้งจากอาร์เอสและแกรมมี่
      (1) ปรัชญามีความเชื่อมั่นด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ได้จากประสบการณ์กำกับมิวสิกวิดีโอ โดยมี พันนา ฤทธิไกร จา พนม ยีรัมย์ และสหมงคลฟิล์ม เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างภาพยนตร์แอ็กชันที่ชูศิลปะมวยไทยเป็นจุดขายขึ้นมา กำกับภาพยนตร์แอ็กชันทั้งองค์บากและต้มยำกุ้ง ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ (Creating New Experiences) ให้กับผู้ชม โดยให้จา พนมแสดงฉากผาดโผนโดยไม่ใช้ตัวแสดงแทน และสร้างฉากต่อสู้แบบลองเทค (Long Take) ความยาว 4 นาที 
     (2) กระบวนการทำงานของปรัชญา จะให้อิสระทีมงาน ได้คิดและนำเสนอ ประยุกต์ใช้การตลาดในการผลิตภาพยนตร์ (Production Value) และสร้างสรรค์บทบู๊ตาม “หลักภาพยนตร์แอ็กชัน” ใช้ทีมงานเดิมพัฒนาจากองค์บากต่อยอดสู่ต้มยำกุ้งอันมีลักษณะองค์ประประกอบ ความเป็น “ประพันธกร” ในงานการกำกับภาพยนตร์แอ็กชันแบบไทยสมัยใหม่อันเป็นเอกลักษณ์

คำสำคัญ : งานสร้างสรรค์ ภาพยนตร์แอ็กชัน ปรัชญา ปิ่นแก้ว องค์บาก ต้มยำกุ้ง 

(1) นักศึกษาปริญญาโท, สาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
(2) รองศาสตราจารย์, สาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

Abstract
     The purposes of this research is : (1) To study the filmmaking work of Prachya Pinkaew A Case Study of Ong-bak (2003) and The Protector (2005), (2) To study the working process of Prachya Pinkaew in the movie , The research methodology uses qualitative research. with in-depth interviews and analysis The researcher classified the samples in 3 types of data collection. The sample group of document types were interviews with directors, articles, analysis, and movie reviews. collect research papers and including searching for information through the online system via the Internet. The sample group movie genre a Case Study of Ong-bak (2003) and The Protector (2005). The personal sample included Prachya, a production designer who previously worked with Prachya and a film expert. which includes a total of 3 people.
     From the results of the study, it was revealed that Prachya's background was primarily interested in cinema. Choose to work in the art department on the music video production set. Learned from work to become a music video director. Had the opportunity to direct 2 movies about teenagers. Understand the production of the film better. Ready to make an action movie, resigned from work music video director Study Thai action movies and Muay Thai. Passed the test from both RS and GRAMMY.
     (1) Prachya has the creative confidence gained from his music video directing experience with Panna Rittikrai, Tony Jaa and Sahamongkolfilm. It is a key element in the making of action films that highlight the art of Muay Thai as a selling point. Directed the action films Ong-bak and The Protector, creating New Experiences for audiences. By having Jaa perform stunts without the use of actors. and create a 4 minute long take battle scene.
     (2) Prachya's workflow gives the team the freedom to think and present and apply the Production Value to the film production. and create an action role accordingly "Action movie principle" uses the same team to develop from Ong-bak, extending to The Protector, which features elements of "Auteur" in the work of directing a unique modern Thai action film.

Keyword : film creative work, action movie, Prachya Pinkaew, Ong-bak, The Protector

บทนำ
ภาพยนตร์ไทยที่ชูศิลปะการต่อสู้เป็นเอกลักษณ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ “องค์บาก” ถือว่าโดดเด่นมากที่สุด เพราะว่านับตั้งแต่ออกฉายทั่วโลกเมื่อปี 2546 ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องถัดมาจากการกำกับของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” อย่างภาพยนตร์เรื่อง “ต้มยำกุ้ง” ประสบความสำเร็จเช่นกัน กวาดรายได้รวมกันมากกว่าพันล้านบาท ทำให้มีการสร้างภาพยนตร์องค์บาก ต่อเนื่องถึง 3 ภาค และต้มยำกุ้ง 2 ภาค
     ความต่อเนื่องระหว่างภาพยนตร์ “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เผยแพร่บทความกรณีขึ้นทะเบียนให้องค์บากเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยระบุว่า วิเคราะห์ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่ององค์บาก น่าจะเกิดจากการผสมผสานขององค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นทักษะความสามารถส่วนตัวของ จา พนม ยีรัมย์ และความพร้อมของทีมงานนักแสดงฉากต่อสู้ จากการออกแบบและการกำกับคิวบู๊ของ พันนา ฤทธิไกร มาจากภาพยนตร์บู๊เกรดบีมาอย่างโชกโชน จนพัฒนาถึงขีดสุด นอกจากนี้ยังผสมผสานการฉากคอมเมดี้ที่จัดวางให้เกิดขึ้นอย่างถูกจังหวะและลงตัวของเพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก นักแสดงตลกที่มีชื่อเสียงโดดเด่นจากรายการโทรทัศน์ องค์ประกอบสุดท้าย คือ ความสามารถของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งพยายามค้นหารูปแบบใหม่และการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ มาใส่ในภาพยนตร์ไทย การผสมผสานกันทำให้เกิดภาพยนตร์ประเภทศิลปะการต่อสู้แบบไทย ที่มีเอกลักษณ์และเป็นเอกภาพ มีฉากแอ็กชันที่น่าตื่นตาตื่นใจตลอดทั้งเรื่อง
     ภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งปรากฏว่าองค์บากเป็นภาพยนตร์ไทยเพียงไม่กี่เรื่องที่ได้ออกฉายในวงกว้างในตลาดต่างประเทศ กล่าวได้ว่าสามารถสร้างปรากฏการณ์ไทยภาพยนตร์ในตลาดโลกได้อย่างแท้จริง และจา พนม ยีรัมย์ ได้กลายเป็นขวัญใจของผู้ชมทั่วโลกที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ในขณะที่กระแสศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยก็ขึ้นสูงด้วยความสำเร็จขององค์บาก เป็นไปตามหลักทั่วไปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่จะต้องมีการสร้างภาคต่อ ทีมงานนี้จึงสร้างต้มยำกุ้งออกมา ซึ่งแม้จะไม่ใช่ภาคต่อโดยตรง ซึ่งดูเหมือนพยายามจะทำให้มีแรง สั่นสะเทือนมากกว่าเดิม เน้นทักษะความสามารถของผู้แสดงมากขึ้น การกำกับคิวบู๊แบบเสี่ยงชีวิตมากขึ้น และการใช้ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติมากขึ้น ปรากฏว่าต้มยำกุ้งประสบความสำเร็จทางรายได้ในประเทศและต่างประเทศ (องค์บาก ภาพยนตร์แห่งชาติ, 2562)
     บทบันทึกจากความรู้สึกของปรัชญา ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์องค์บาก ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า อยากทำภาพยนตร์ที่มีฉากแอ็กชันแบบไทย ๆ ที่แสดงความสามารถของทีมงานของไทย ซึ่งได้หารือกับพันนาครั้งแรกเมื่อปี 2543 มีความฝันมีความตั้งใจอยากจะทำภาพยนตร์ที่เอาความสามารถของพันนามาผสมกับความคิดสร้างสรรค์ของปรัชญา จึงเกิดความคิดว่าศิลปะการต่อสู้ของชาติไทย เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับ อย่าง มวยไทย เอามาสร้างภาพยนตร์แอ็กชันแบบไทย เนื่องจากภาพยนตร์แอ็กชันของไทยส่วนมากจะไปเลียนแบบภาพยนตร์ฮ่องกงหรือฮอลลีวูด ทั้งปรัชญาและพันนาจึงเอาความคิดนี้ มาตั้งต้นฝึกมวยไทยให้กับทีมงานใหม่ทั้งหมด
    ส่วนภาพยนตร์ต้มยำกุ้งนั้น สหมงคลฟิล์ม ระบุว่า เป็นการกลับมาร่วมงานกันครั้งที่ 3 ของบุคคลสำคัญ อย่าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือเสี่ยเจียง ปรัชญา ปิ่นแก้ว พนม ยีรัมย์ (โทนี จา) เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา (หม่ำ จ๊กมก) และ พันนา ฤทธิไกร หลังจากภาพยนต์องค์บาก และภาพยนตร์ “บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม” (2547) ซึ่งภาพยนตร์ต้มยำกุ้งทุ่มทุนสร้างกว่า 300 ล้านบาท ทำให้กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ใช้ทุนสร้างสูงในประวัติศาสตร์เรื่องที่ 2 ของไทย รองจากภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” (2544) ในช่วงเวลานั้น
     “ต้มยำกุ้ง” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการตอบรับจากชาวต่างชาติ และขายได้ในตลาดโลกตั้งแต่ยังไม่เปิดกล้องถ่ายทำภาพยนตร์ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการถ่ายทำ และใช้ฟิล์มกว่า 600 ม้วน ที่ถูกใช้เพื่อบันทึกภาพ และสถานที่ถ่ายทำหลักในเรื่องคือ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ด้วยงบประมาณการถ่ายทำในส่วนนี้มากกว่าร้อยล้านบาท
      ผลงานของปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นที่ยอมรับและทำให้ยืนหยัดอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ ในวัยที่จะครบ 60 ปี ในปี 2565 ยังมุ่งมั่นสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง และนอกจากนี้ยังได้ความไว้วางใจจากเพื่อนในวงการผู้กำกับภาพยนตร์ ถูกเลือกให้เป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ช่วงปี 2552 
     ความสำเร็จของ “องค์บาก” ทำให้ปรัชญาสร้างภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ซึ่ง “ต้มยำกุ้ง” ออกฉายในปี 2548 นำเอาประเด็นเรื่องสัตว์คู่บ้านคู่เมืองอีสานประจำจังหวัดสุรินทร์ อย่าง ช้าง มาถ่ายทอดประเพณีในอีสาน การทำขวัญช้าง ประเพณีเก่าแก่นี้ถูกบันทึกไว้อย่างสวยงาม รวมทั้งทิวทัศน์หลายแห่งในอีสาน ถูกถ่ายทอดสู่สายตาคนดูทั่วโลก ได้รับความนิยมในอเมริกาสูงจนขึ้นอันดับ 4 ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในอเมริกา และสร้างกระแสมวยไทยนิยมในหมู่ชาวต่างชาติไปทั่วโลกการสร้างความบันเทิงจากฉากต่อสู้ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัฒนธรรมอีสานสู่สากล ปรับรูปโฉมใหม่ให้ทันสมัย มีเสน่ห์ ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจในรากเหง้าวัฒนธรรมตนเอง และเมื่อภาพยนตร์ออกฉายทั่วโลก วัฒนธรรมอีสานในแบบฉบับปรัชญาจึงเดินทางไปพร้อมกันด้วย จึงสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (กำกับภาพยนตร์) ประจำปี 2558 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ปรัชญา ปิ่นแก้ว กำกับภาพยนตร์, 2558)
    ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงรายได้จากทั่วโลกของภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนั้น เว็บไซต์ Box Office Mojo ซึ่งถูกใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รายงานว่า องค์บาก ภาค 1 มียอดรายได้ทั่วโลก 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 600 ล้านบาท และ ต้มยำกุ้ง ภาค 1 ยอดรายได้ทั่วโลก 27 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 800 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งองค์บาก (2546) และต้มยำกุ้ง (2548) ราว 1,400 ล้านบาท 
     จากการที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ นักวิจารณ์ สื่อมวลชน คนในแวดวงภาพยนตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม ต่างยอมรับและยกย่องคุณค่าและผลงานของปรัชญา ปิ่นแก้ว จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกศึกษาบทบาทและการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ดังที่กล่าวมาแล้ว
      ขณะเดียวกัน คำถามในใจของผู้ศึกษาต่อกระบวนการทำงานของปรัชญาในการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์อย่างไร “การสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว กรณีศึกษาภาพยนตร์ เรื่ององค์บาก (2546) และต้มยำกุ้ง (2548)” ผู้ศึกษาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สร้างงานภาพยนตร์ที่ชูศิลปะการต่อสู้ของไทยมานำเสนอเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งน่าศึกษาเพื่อเป็นแนวทางและเป็นประโยชน์แก่ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่และนิสิตนักศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับงานด้านภาพยนตร์ เกิดความรู้ความเข้าใจการทำงาน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 
     1. เพื่อศึกษากระบวนการทํางานของปรัชญา ปิ่นแก้ว ในงานภาพยนตร์
     2. เพื่อศึกษางานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว

ขอบเขตของการวิจัย
     ศึกษาการทํางานของปรัชญา ปิ่นแก้ว โดยคัดเลือกภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับด้านงานสร้างสรรค์ ประสบความสำเร็จด้านรายได้ และได้รางวัลจากสื่อมวลชน สมาคม และสถาบันการศึกษา 
จำนวน 2 เรื่อง ถือเป็นผลงานชิ้นเด่นที่สุดของปรัชญา ดังนี้
    1. องค์บาก (2546) ประสบความสำเร็จจากรายได้ทั่วโลกราว 600 ล้านบาท ได้รางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, KUNGFU CINEMA AWARD นักแสดงนำฝ่ายชายที่เน้นศิลปะการต่อสู้ยอดเยี่ยม, ออกแบบฉากและศิลปะการต่อสู้ยอดเยี่ยม และรางวัลทูตวัฒนธรรมด้านภาพยนตร์ครั้งที่ 1
    2. ต้มยำกุ้ง (2548) ประสบความสำเร็จจากรายได้ทั่วโลกราว 800 ล้านบาท ได้รับรางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ประเภทภาพยนตร์ที่มีรายได้สูงสุด
     ความสำเร็จของภาพยนตร์ องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้รางวัล “พระธาตุนาดูนทองคำ” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
สาขาวิชาชีพ ประจำปี 2556 และได้รับรางวัล ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (กำกับภาพยนตร์) ประจำปี 2558 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้น จึงคัดเลือกภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้มาทำการศึกษาค้นคว้า

วิธีดำเนินการวิจัย
   1. การวิเคราะห์เอกสาร (Document Analysis) ได้แก่ บทวิจารณ์ภาพยนตร์ บทสัมภาษณ์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว
   2. การศึกษาภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์ ได้แก่ องค์บาก (2546)   และ ต้มยำกุ้ง (2548)
  3. การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Depth Interview) โดยสัมภาษณ์ผู้กำกับภาพยนตร์ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้ออกแบบงานสร้างที่เคยร่วมงานกับปรัชญา ปิ่นแก้ว และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์
      
ประโยชน์ของงานวิจัย
  1. ได้รับความรู้แนวทางการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของปรัชญา ปิ่นแก้ว
  2. ผลการศึกษาภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ชูจุดเด่นมวยไทย สามารถนำไปใช้ในการต่อยอดการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับมวยไทย

ผลการวิจัย
การศึกษาประวัติ ภูมิหลัง บทบาท ที่มาของภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งของปรัชญา การสร้างภาพยนตร์องค์บาก ต้มยำกุ้ง ตลอดจนบทบาท กระบวนการทำงานและกระบวนการคิดของปรัชญา และขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ของปรัชญาที่ประสบความสำเร็จ โดยแบ่งการสรุปผลตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
     1.) ภูมิหลัง ที่มาภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งของปรัชญา
     2.) กระบวนการคิดและทำงานสร้างภาพยนตร์องค์บาก ต้มยำกุ้ง บทบาท ของปรัชญา
     3.) การสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ของปรัชญาที่ประสบความสำเร็จ

1. ภูมิหลัง ที่มาภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งของปรัชญา
      ภูมิหลัง
     ตั้งแต่วัยเด็กของปรัชญาชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เสนอความคิดและเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงวัยรุ่นนั้น ปรัชญาได้รับอิทธิพลและแนวคิดจากกลุ่มซูโม่สำอางที่โด่งดังในสมัยนั้น เช่น ประภาส ชลศรานนท์ และ ปัญญา นิรันดร์กุล ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและตัดสินใจเรียนสายวิชาชีพด้านสถาปัตย์ พร้อมสนใจมุ่งมั่นอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ หลังเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากบ้านเกิดที่นครราชสีมา เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจเลือกทำงานเรียนรู้ด้านโพรดักชันจากบริษัทรับผลิตมิวสิกวิดีโอ เริ่มงานตำแหน่งพนักงานระดับล่างฝ่ายศิลป์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับศิลป์ จนเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มิวสิกวิดีโอ ผ่านงานกำกับมิวสิกวิดีโอนับร้อยเพลง จนได้รับความไว้วางใจให้กำกับภาพยนตร์เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ 
     แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ค่ายเพลงหวังใช้เป็นช่องทางส่งเสริมเพลงสตริงและศิลปินวัยรุ่นก็ตาม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ปรัชญาก้าวมาสู่วงการภาพยนตร์อย่างที่ตั้งใจไว้ ซึ่งเมื่อได้ทำงานกำกับภาพยนตร์อย่างจริงจังแล้ว ยิ่งทำให้ชื่นชอบงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์มากขึ้น ขณะที่งานกำกับมิวสิกวิดีโอยังมีอยู่ต่อเนื่องและชื่อเสียงจากรางวัลผู้กำกับมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยม ทำให้ปรัชญาเป็นที่ต้องการให้ร่วมทำงานกำกับมิวสิกวิดีโอทั้งจากค่ายอาร์เอสและค่ายแกรมมี่
      ทว่า ปรัชญาตัดสินใจลาออกจากค่ายอาร์เอส หลังกำกับภาพยนตร์ 2 เรื่องเกี่ยวกับดารานักร้องวัยรุ่น อย่าง รองต๊ะแล่บแปล๊บ (2535) และ เกิดอีกทีต้องมีเธอ (2538) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ยังไม่โดดเด่นมากนัก แต่เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์จริงในงานกำกับภาพยนตร์ ทำให้เกิดความมั่นใจและก้าวออกไปหาโอกาสครั้งใหม่ หวังจะสร้างภาพยนตร์แอ็กชัน 
     ปรัชญาลาออกจากอาร์เอสได้ไม่นาน ได้รับโอกาสจากไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งปรัชญาร่วมกับเพื่อนทำค่ายเพลง “เมกเกอร์เฮด” พร้อมกับสานต่อโปรเจกต์ภาพยนตร์แอ็กชัน จนปรัชญาได้พบพันนา และจา พนม ทั้งสามคนได้รับอนุมัติจากบอร์ดภาพยนตร์ของแกรมมี่ ผลิตภาพยนตร์แอ็กชัน แต่มุมมองจุดขายของภาพยนตร์เกิดความขัดแย้งกัน และเงื่อนไขเปลี่ยนพระเอกจาก จา พนม เป็น หลิวเต๋อหัว ดาราดังจากฮ่องกง ทำให้ปรัชญาตัดสินใจลาออกจากค่ายแกรมมี่
     
ที่มาภาพยนตร์องค์บาก
     ก่อนจะเกิดภาพยนตร์องค์บากนั้น กระบวนการคิดภาพยนตร์แอ็กชันของปรัชญาเริ่มขึ้นตั้งแต่ออกจากอาร์เอส ต่อเนื่องมาถึงการทำงานที่แกรมมี่ การได้พบพันนาและจา พนมหลายครั้ง เพื่อคิดงานด้านแอ็กชันให้แตกต่างแปลกใหม่จากตลาดภาพยนตร์ฮอลลีวูดและฮ่องกง จนกระทั่งพันนาเก็บเศษฟิล์มจาก “สยามพัฒนาฟิล์ม” มาถ่ายทำภาพยนตร์สั้น 5 นาที เป็น เดโม (Demonstration) ให้จา พนมแสดงความสามารถเฉพาะตัวด้วยศิลปะมวยไทย ซึ่งใครได้ชมต่างสนับสนุนให้สร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งแกรมมี่และสหมงคลฟิล์ม เพียงแต่ภาพยนตร์องค์บากเริ่มสร้างที่สหมงคลฟิล์ม เพราะเสี่ยเจียงตอบรับเงื่อนไขของปรัชญา ให้จา พนมเป็นพระเอก ชูความสามารถเฉพาะตัวในการแสดงแอ็กชันโลดโผนด้วยตัวเองแบบไม่มีสตั๊นท์แมน โดยประยุกต์ใช้มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้
     ปรัชญาปรับทัศนคติและความคิดของพันนาและจา พนม ให้เห็นว่าภาพยนตร์แอ็กชันที่จะสร้างไม่เลียนแบบการต่อสู้จากภาพยนตร์ฮ่องกง แต่ให้แนวคิดเรื่องเอกลักษณ์การต่อสู้แบบมวยไทยเป็นของตัวเอง และต้องสู้ด้วยชีวิต เล่นจริงเจ็บจริง เปลี่ยนจา พนมจากการได้รับอิทธิพลมวยจีนเป็นมวยไทยจนสำเร็จ
     
ที่มาภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง
     ความสำเร็จขององค์บากภาคแรก ต้องมีภาคสองตามมา แต่สหมงคลฟิล์มมองว่าภาพยนตร์องค์บากภาคสองนั้น อยากให้สร้างอลังการมากขึ้นและเนื่องจากองค์บากภาคแรกมีจุดด้อย ทำให้โปรเจกต์องค์บากภาคสองถูกพักไว้ก่อน ปรับแผนสร้างภาพยนตร์ต้มยำกุ้งขึ้นมาแทน ใช้ชื่อภาพยนตร์ว่าต้มยำกุ้งสะท้อนความเป็นไทย โดยใช้มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ ช้าง และอาหาร เพื่อสื่อความเป็นสากลมากขึ้น
 
2. กระบวนการคิดและทำงานสร้างภาพยนตร์องค์บาก ต้มยำกุ้ง บทบาท ของปรัชญา
      สร้างภาพยนตร์องค์บาก
     ความตั้งใจจะสร้างความแตกต่าง เป็นมุมมองของปรัชญา นําเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวมวยไทยที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับความเป็นสากลมากที่สุด แต่การปรับเปลี่ยนจะช่วยกันคิดท่าที่แปลกใหม่ นำมาผสมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง การถ่ายทำภาพยนตร์องค์บาก ร่างโครงการก่อนการถ่ายทำ ประมาณ 5 เดือน และมีปัญหาเรื่องของฝน ทำให้งบประมาณการถ่ายทำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการถ่ายทำภาพยนตร์ใช้เวลาทั้งหมด 8 เดือน
     การออกท่ามวยไทย ให้เป็นศิลปะมวยไทย มีชื่อเรียกแต่ละท่า เช่น หนุมานแผลงศร จระเข้ฟาดหาง หนุมานพันหลัก เป็นต้น ผสมการออกแบบฉากต่อสู้ให้เข้ากับคาแรคเตอร์ของตัวแสดง โดยเป็นเล่าเรื่องจากภาคอีสานสู่เมือง ซึ่งนักแสดงนำมาจากอีสาน และผู้กำกับภาพยนตร์ก็พื้นเพเป็นคนอีสาน ทำให้เข้าใจวิถีชาวอีสาน ซึ่งปรัชญามีประสบการณ์การกำกับมิวสิกวิดีโอและภาพยนตร์มาแล้วสองเรื่อง และพันนาทำภาพยนตร์แอ็กชันหรือฉากแอ็กชัน ทำให้รู้มุมกล้องดีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์องค์บาก 
     เพียงแต่ขณะถ่ายทำภาพยนตร์องค์บาก ต้องคิดหาความแปลกใหม่ในฉากแอ็กชัน ซึ่งการทำงานของปรัชญาในภาพยนตร์องค์บาก จะมุ่งความสนใจกับการกำกับการแสดง หรือการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ มากกว่าการจัดการภายในกองถ่ายทำ ทีมงานทำงานได้อย่างสบายใจ ปรัชญาเป็นคนใจดี ไม่ค่อยพูด แต่เมื่อมีปัญหาจะแก้ไขได้ด้วยทีมเวิร์กทั้งหมด เพื่อให้งานเดินต่อได้
     การกำกับการแสดงและคิวบู๊ ปรัชญาคุยกับพันนาตลอดเวลา อยากให้คนดูชอบภาพยนตร์องค์บาก ต้องมาจากความสมจริง และต้องฝึกซ้อมการแสดงฉากแอ็กชันหลายครั้ง เพื่อเวลาแสดงจะได้สมจริง ปลอดภัยการแสดงเซฟตี้ให้ทีมงานด้วย 
     ภาพยนตร์องค์บาก ประสบความสำเร็จทั้งไทยและต่างประเทศ ปรัชญาอธิบายว่า องค์บาก ถือเป็นหนังไทยยุคแรก ๆ ที่นำเสนอศิลปะการต่อสู้แบบไทย ปรับปรุงเติมสีสันคนถึงจะชอบ เชื่อว่าต้องสำเร็จ และมั่นใจว่าไปต่างประเทศก็สำเร็จ เพราะว่าหาข้อมูลแล้วมีองค์ความรู้ว่าเกี่ยวกับมวยไทยต่างชาติที่ชื่นชอบ
     ความสำเร็จขององค์บากมาจากตัวคุณภาพของฉากแอ็กชัน มันน่าตื่นตาตื่นใจ ฉากต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายทุกฉากทุกซีนช่างดุดัน
     สร้างภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง
     ความต่อเนื่องจากภาพยนตร์เรื่ององค์บาก จึงเดินหน้าโปรเจกต์ใหม่ทันที เพราะความต้องการจากผู้จำหน่ายภาพยนตร์จากหลายประเทศ ถือเป็นตัวเร่งให้สร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ ด้วยการสร้างภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง เพราะผู้ชมทั้งไทยและต่างประเทศรอดูภาคต่อ จากคนแสดงคนเดิม ทีมงานชุดเดิม ซึ่งตั้งชื่อต้มยำกุ้ง เพื่อสะท้อนความเป็นไทยจะมีมวยไทย ศิลปะการต่อสู้ ช้าง อาหาร จะมีความเป็นสากลมากขึ้น และเอานักแสดงต่างชาติเข้าร่วมแสดงด้วย และไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ อย่าง ประเทศออสเตรเลีย
     ภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง ใช้เวลาถ่ายทำราว 2 ปี สร้างฉากผู้ชมจดจำ คือให้จา พนม ยีรัมย์ แสดงการต่อสู้ฉากแอ็กชันอย่างต่อเนื่อง แบบลองเทค (Long Take) ด้วยความยาว 4 นาทีโดยไม่มีการตัดต่อในฉากการต่อสู้กับเหล่าร้ายจากชั้น 1 ถึงชั้น 4 ของร้านต้มยำกุ้ง
     การใช้ศิลปะการต่อสู้ในการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง ถูกเลือกมาอย่างมีเหตุผล เพราะต้องการตอบสนองคนดูภาพยนตร์แอ็กชันในต่างประเทศ การเลือกตัวแทนศิลปะการต่อสู้ที่หลากหลายที่คุ้นตาในวงกว้าง ทำให้ศาสตร์มวยไทยต้องหาวิธีเทคนิคนำเสนอ นอกจากนั้น ตัวแสดงที่ถูกเลือกมาจากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน อเมริกา อังกฤษ บราซิล หรือเวียดนาม เป็นการเจาะกลุ่มคนดูเป้าหมายในแต่ละประเทศ วิธีนี้เป็นวิธีที่หวังผลกับชาวต่างชาติได้ง่ายขึ้น
      บทบาทของปรัชญา
     ประสบการณ์เป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ถือเป็นคนแรกที่เอาความเป็นภาพยนตร์เข้าไปนำสตอรี่ไปใช้ในมิวสิกวิดีโอ ขณะเดียวกันใช้จุดเด่นของมิวสิกวิดีโอ คือมุมภาพสวยงามมาเสริมในภาพยนตร์แอ็กชัน ซึ่งภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง จะเห็นการออกแบบการเคลื่อนกล้อง เน้นถ่ายทำแบบลองเทค และใช้มุมกล้องหลายมุม
     การกำกับมิวสิกวิดีโอนั้น สิ่งที่ท้าทายคือช่วง 2 นาทีแรก จะทำอย่างไรให้โดนใจผู้ชม ซึ่งอิทธิพลจากตรงนั้นมาใช้กับภาพยนตร์ การออกแบบมุมกล้องให้คนตื่นตาตื่นใจ อย่างฉากลองเทค ที่ใช้ในต้มยำกุ้ง ลองเทคมักจะใช้กับภาพยนตร์ดราม่า ไม่ค่อยมีการเอาลองเทคมาใช้กับภาพยนตร์แอ็กชัน เมื่อนำมาใช้กับภาพยนตร์แอ็กชัน ทำให้เกิดความตื่นตาและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง 
      การกำกับและเลือกมุมกล้องให้จา พนมแสดงลีลาแอ็กชันได้อย่างโดดเด่น หลากหลายรูปแบบ ความรุนแรงดุดันตามสไตล์มวยไทย แบบเล่นจริง เจ็บจริง ไม่สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ส่วนประกอบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกของภาพยนตร์ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, 2556)
    กระบวนการคิดและทำงาน
     ปรัชญาอธิบายท่ามวยไทยที่ใช้ในภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง แต่ละท่าจะมีครูมวยคิดไว้แต่ไม่ยึดติดที่ใคร มองเป็นองค์รวม และเลือกใช้ได้จริง แนะนำพันนาว่าบางท่ามวยไม่จำเป็น โดยเลือกท่าที่เป็นไคลแมกซ์ เน้นท่าที่ใช้ศอกและเข่า ให้จา พนมเรียนแอ็กติ้งจากครูหลาย ๆ คน เพื่อค้นหาเอกลักษณ์ เปลี่ยนบุคลิกการแสดง การยืนให้เป็นเอกลักษณ์แบบไทย
     ภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง นำจุดเด่นมวยไทยมาประยุกต์ ทำให้เป็นจุดเด่น เวลามวยไทยถูกนำมาเสนอในภาพยนตร์ที่ไม่ได้มาสื่อสารแบบอนุรักษ์ แต่ทำให้ผู้ชมเข้าถึงศิลปะการต่อสู้ผ่านภาพยนตร์ โดยออกแบบให้เห็นว่าสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องอยู่บนเวทีมวยอย่างเดียว มวยไทยสามารถทำได้และใช้ได้ ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงตัวละคร และทำให้ชาวต่างประเทศอยากรู้เรียนศิลปะมวยไทย อยากเป็นแบบจา พนม วิธีนี้ทำให้คนรู้สึกว่ามวยไทยเป็นสากล ส่วนการทำงานของปรัชญาเป็นคนตั้งใจจดจ่อกับงาน ซึ่งเวลาถ่ายทำภาพยนตร์จะทำให้ทีมงานและนักแสดงทุกคนไม่ตึงเครียด ให้รู้สึกสบายใจไม่กดดันมาก และพร้อมช่วยกันแก้ปัญหาพร้อมเลือกทางออกที่ดีที่สุด
     อีกทั้ง ภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง ถือเป็นงานที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย ฐณยศ โล่พัฒนานนท์ และคณะ (2563, น. 186-199) อธิบายถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมซึ่งฝั่งแน่นกับวิถีมวยโบราณได้รับการรื้อฟื้นผ่านเรื่องราว ตัวละคร และภาพนำเสนอของมวยไทยในทั้ง 2 เรื่อง มวยไทยเป็นมากกว่ากีฬาหรือการแสดงตามงานรื่นเริง ทว่ามีความสำคัญถึงขั้นเป็นวิชาสำหรับป้องกันข้าศึกรวมทั้งสยบภัยพาล มวยไทยจึงแบ่งออกได้เป็น 2 มิติคือ กีฬากับวิชารบ องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง วาดภาพมวยไทยในมิติหลังพร้อมส่งผ่านนัยทางสังคมวัฒนธรรมของสยามยุคเก่าซึ่งอยู่เหนือกาลเวลาและปลูกฝังลงในวิชามวยมาอย่างยาวนาน เป็นวัฒนธรรมทางความคิดและการประพฤติปฏิบัติอันสะท้อนความเป็นอารยชนชาวสยาม ในการนี้บุคคลต้องให้ความสำคัญแก่การพัฒนากาย ใจ ปัญญาไปพร้อมกันเพื่อบรรลุวิชามวยขั้นสูง ความมีวินัย ใฝ่สมาธิรู้จักไตร่ตรอง เคารพนอบน้อม ไม่เห็นแก่ตัว มุมานะ อดทน คือ ตัวอย่างของอารยลักษณะซึ่งอิงหลักคิดที่ยกความเป็นมนุษย์และจิตใจให้อยู่เหนือวัตถุ 
     กล่าวโดยสรุป กระบวนการทำงานของปรัชญามีคุณค่าในแง่การประยุกต์ใช้มวยไทยจากอดีตมาประกอบสร้างขึ้นมาใหม่โดยใช้ภาษาภาพยนตร์เล่าถึงอุดมการณ์ สังคม และวัฒนธรรมจากอดีตนำตอกย้ำให้คนไทยตระหนักและปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ศึกษาเรียนรู้และสื่อสารเผยแพร่มวยไทยอันเป็นศิลปะต่อสู้และป้องกันตัวสู่สายตาคนทั้งโลก

 3. การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของปรัชญาที่ประสบความสำเร็จ
      การถ่ายทำภาพยนตร์แอ็กชัน ถือว่ายาก การถ่ายทำฉากธรรมดาหรือซีนเสี่ยงตาย ยกตัวอย่าง ฉากเตะต่อสู้ บางทีก่อนจะถูกเตะนั้น จะมีการเตรียมการมาอย่างดี ยิ่งเป็นลองเทคมันยิ่งยาก ปรัชญาเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ฮ่องกงที่โจเหวินฟะเล่นลองเทคใช้ปืนนั้น เอามาเป็นต้นแบบ เพื่อจะทำให้ดีกว่า ซึ่งจะเห็นในฉากลองเทค 4 นาทีในต้มยำกุ้ง
      ภาพยนตร์ต้มยำกุ้งใช้ลองเทค เพื่อโชว์งานโพรดักชัน ปรัชญามีความคิดด้านการตลาด สร้างซีน production value เป็นฉากที่เป็นตัวอย่างให้ผู้ชมจดจำเพื่อมาดูในโรงภาพยนตร์
      การพัฒนาการสร้างสรรค์องค์บากไปสู่ต้มยำกุ้ง ปรัชญาอธิบายว่าต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชม โดยผู้ชมเกิดความแตกต่าง พบสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งภาพยนตร์ต้มยำกุ้งเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาใช้ ต่อเนื่องจากองค์บาก จุดขายที่ว่า โนสลิงและโนสตั๊นท์ ทำให้โดนใจคนไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลไปยังภาพยนตร์ต้มยำกุ้งด้วย จากเดิมผู้ชมภาพยนตร์แนวบู๊คุ้นเคยกับหนังฮ่องกง จะคุ้นเคยการออกแบบการต่อสู้ที่สวยงาม แต่ทุกคนจะรู้ว่าการมีท่าที่สวยงาม นั่นคือการใช้สลิง เมื่อองค์บากไม่มีตรงนั้น จึงเป็นภาพยนตร์โดดเด่นและแตกต่างในตลาดภาพยนตร์ในขณะนั้น
     ที่สำคัญ การถ่ายทำของปรัชญาจะชูจุดเด่นงานแอ็กชัน ด้วยการจัดวางใช้หลายมุมกล้องทำให้ผู้ชมเกิดความตื่นเต้น เช่น ฉากวิ่งไล่ล่าในตลาด เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เป็นการออกแบบที่สมจริง ทำให้ผู้ชมเกิดตื่นตาตื่นใจติดตามลุ้นไปกับฉากโลดโผนกับภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง
      จุดร่วมของภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง เพราะปรัชญามีความคิดสร้างสรรค์ และให้โอกาสทีมงานแสดงความคิดเห็น ช่วยกันตัดสินใจในการเลือกการจัดวางองค์ประกอบฉากเป็นอย่างดี การต่อยอดระหว่างองค์บากเชื่อมต่อต้มยำกุ้ง เพราะมีครบอรรถรส ทั้งดราม่า แอ็กชัน และตลก 
      การสร้างสรรค์ภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งนั้น องค์บากเกิดจากความตั้งใจที่จะขายความแปลก ส่วนความยากคือความพิถีพิถันงานสร้างภาพยนตร์จะมาอยู่ที่ต้มยำกุ้ง ซึ่งการสร้างความแปลกใหม่ ปรัชญาอธิบายว่าการสร้างประสบการณ์ใหม่ คือภาพยนตร์ต้องมีความแปลกใหม่ปรากฎในงานอย่างสม่ำเสมอ ผลิตหรือกำกับภาพยนตร์ในปีนี้ หรือในปีหน้าก็ต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชมกว่าปีนี้
     “ถึงบอกว่ามันไม่ฟลุก มันมีกระบวนการทางความคิดที่ต้องเข้าใจจริง ๆ การทำหนังที่ดี การเขียนบทที่ดี ทำได้ถ้าเข้าใจมัน บางคนอาจทำออกมาไม่ดี อาจเป็นเพราะเขาไม่เข้าใจหรือเปล่า แต่เป็นการวางแผนแล้วทำแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อาจจะเป็นเพราะความคิดที่แตกต่าง ต้องมีการเรียน เช่นทุกวันนี้มีคนสงสัยว่าทำไมเด็กยุคใหม่ทำไมต้องเรียนมหาวิทยาลัย เราต้องรู้ว่ามหาวิทยาลัยสอนให้เราเรียนรู้อะไร การเรียนรู้มีความสำคัญ การเรียนรู้หลักการ เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำ มันเป็นประสบการณ์ใหม่ไหม ทำให้แตกต่างและต้องเข้าใจหลักการ กลับมาตรงประสบการณ์ใหม่ เอาสิ่งเรียนรู้ที่เราทำอยู่คือประสบการณ์ใหม่หรือเปล่า เพราะทุกอย่างมันมีหลักการของตัวมันเอง” (ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สัมภาษณ์, 3 ธันวาคม 2564)
     การจัดวางการเลือกตัวละคร เพื่อให้ภาพยนตร์เกิดความกลมกลืนสอดรับกันมีทั้งแอ็กชันและคอมเมดี้ ซึ่งการประกบคู่ระหว่างหม่ำ จ๊กมกกับจา พนม เหตุที่จา พนมหน้าตาไม่หล่อ จึงใช้ความตลกของหม่ำมารวมกันกลายเป็นเก่งบู๊กับเก่งตลกเป็นคู่ที่ลงตัว
     อีกทั้ง การที่องค์บากเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์โลกในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากหนังบู๊แนวฮ่องกงเปลี่ยนผ่านจากยุคบรูซ ลีและชอว์บราเธอร์ มาเป็นหนังกังฟูที่ใช้ลวดสลิงซับซ้อนเข้าช่วย จนมีฉายาเรียกขานใหม่ว่า “wire-fu” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า wire ที่หมายถึงลวดสลิง บวกกับคำว่า kung fu (กังฟู) ที่เป็นศิลปะป้องกันตัวแบบจีน รวมความก็หมายถึงกังฟูแบบ “มีสาย” คอยโยงคอยรั้งตัวผู้แสดงนั่นเอง เทคนิคนี้ทำให้ฉากต่อสู้จะวิจิตรพิสดารกว่า เพราะคู่ต่อสู้สามารถกระโดดสูง ไต่ไปตามยอดไม้ หรือเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะมีลวดขนาดเล็กบางเท่าเส้นผมที่รับน้ำหนักคนได้สบายๆ คอยช่วยพยุง (องค์บาก : เมื่อมวยไทยผงาดนีชมาร์เก็ตโลก, 2548) ตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิค wire-fu ก็ต้องพูดถึงความสำเร็จของหนัง Matrix (1999) ที่ได้ผู้กำกับคิวบู๊ อย่าง หยวนหวูปิง ( Yuen Wo-Ping) มาดูแลคิวบู๊และใช้ลวดสลิงเข้าช่วยจนสามารถย้อมแมวดาราฝรั่งที่ไม่เป็นมวยอย่าง คีนู รีฟ ให้กลายเป็นจอมยุทธ์ที่วาดท่วงท่าของปรมาจารย์มวยจีนชั้นครูจากแดนกวางตุ้ง เช่น หวงเฟย หง ได้อย่างไม่ขัดเขิน หรืองานกำกับคิวบู๊ของพี่น้องกันอย่าง Yuen Cheung-yan ในภาพยนตร์นางฟ้าชาร์ลี (Charlie’s Angels : Full Throttle 2003) ซึ่งปรากฏว่า นางฟ้าชาลีทั้งสาม รวมทั้งนางร้ายอย่างเดมี่ มัวร์ก็ออกโรงบู๊ได้ไม่แพ้จอมยุทธ์หนังจีนกำลังภายในด้วยลวดสลิง และมุมกล้องช่วยจนสร้างซีนเหลือเชื่อขึ้นมาได้ งานในแนว wire-fu ของหยวนหวูปิง มาถึงจุดสุดยอดกับความสำเร็จในเวทีออสการ์ของ “พยัคฆ์ระห่ำมังกรผยองโลก” (Crouching Tiger Hidden Dragon) ที่ อั้งลี กำกับจนคว้ารางวัล ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมและรางวัลอื่น ๆ ในงานประกาศผลออสการ์ครั้งที่ 73 
     แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็เริ่มมองว่าความเป็นหนังกำลังภายในได้ถอยห่างจากโลกความเป็นจริง และศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวแบบดั้งเดิมออกไปไกลมากขึ้นทุกที ซ้ำร้ายยุคทองของหนังฮ่องกงกำลังหมดไป ในช่วงหลายปีหลัง หนังทั้งแอ็กชั่นและไม่แอ็กชั่นจากฮ่องกงลดกลับคุณภาพและเสื่อมความนิยมลง หนังที่เคยทำมากกว่าปีละ 300 เรื่อง ลดลงเหลือ 50 กว่าเรื่อง ความซบเซาอย่างต่อเนื่องมีชัดเจน จนล่าสุดทางรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงหวังกระตุ้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่น ตั้งกองทุนภาพยนตร์ 50 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราว 250 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้สร้างหนังท้องถิ่น (องค์บาก : เมื่อมวยไทยผงาดนีชมาร์เก็ตโลก, 2548) 
     อย่างที่กล่าวว่า องค์บากก้าวมาด้วยจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี เพราะเจ้าของตำนานบรูซ ลีตายไปนานแล้ว ส่วนเฉินหลงวัยกำลังโรยและเปลี่ยนบทจากดาวบู๊มาเป็นดาวตลกมากขึ้นทุกที ในขณะที่หลี่เหลียงเจี๋ยไม่หนุ่มเหมือนแต่ก่อน และแนวเพลงมวยสวยงามเกินไปไม่ดุดัน ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าวงการหนังฮ่องกงกำลังเสื่อม ต้นทุนในการผลิตหนังในฮ่องกงสูงขึ้นทุกที และคนฝีมือดีก็ย้ายไปฝากฝีมือตามสตูดิโอภาพยนตร์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮอลลีวู้ด ที่อิมพอร์ตมือดีจากฮ่องกงไปหมด ตั้งแต่ผู้กำกับอย่าง จอห์น วู ดาราอย่าง เฉินหลง ผู้กำกับคิวบู๊อย่าง หยวนหวูปิง ถึงแม้หลี่เหลียงเจี๋ยจะย้ายบ้านกลับมาจากฮอลลีวู้ด แต่ก็กลับจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้ปักหลักที่ฮ่องกง ในเวลาแบบนี้ ตลาดหนังบู๊อินเตอร์กำลังต้องการโปรดักส์ใหม่ และองค์บาก กับโทนี่ จา คือคำตอบแบบไม่คาดฝัน เพราะไม่มีใครเคยคิดว่า ทีมถ่ายทำภาพยนตร์ที่มาทำลายการผูกขาดของฮ่องกงจะเป็นทีมที่มาจากไทย ความเร้าใจในแนวบู๊ขององค์บากและต้มยำกุ้ง คือการย้อนกลับไปใช้สมัยของบรูซ ลี หรือเฉินหลงสมัยหนุ่มๆ ยุคไอ้หนุ่มหมัดเมา ที่หมัดเป็นหมัด มวยเป็นมวย และลูกเตะที่ถึงลูกถึงคน และแนวบู๊แบบ retro ย้อนยุคนี้มีอิทธิพลกับวงการสตันท์แมนทั่วโลกทันทีที่องค์บากเผยแพร่ออกไป (องค์บาก : เมื่อมวยไทยผงาดนีชมาร์เก็ตโลก, 2548) อิทธิพลใหม่นี้มีมากจนหนังเรื่องล่าสุดของหลี่เหลียงเจี๋ย Unleashed ที่เดิมใช้ชื่อว่า Danny the Dog มีการซ่อมและปรับคิวบู๊ใหม่ เพื่อรับกับความนิยมที่เปลี่ยนไป
     นอกจากแนวบู๊ย้อนยุค ที่ปลุกวงการสตันท์แมนทั่วโลกขึ้นมา หนังจากเมืองไทยเรื่องนี้ยังได้ปลุกตลาดนีชมาร์เก็ตตลาดหนึ่งขึ้นมาภายใต้การชูกระแสดุดันของศิลปะการต่อสู้มวยไทย ชิงส่วนแบ่งจากวงการหมัดมวยจีนที่ครองตลาดนี้มานาน ตลาด martial arts หรือ ศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว เดิมเป็นตลาดเก่าที่เคยฮือฮาในสมัยยุคทศวรรษ 1970 ที่ถูกนำกลับมานิยามใหม่ หลังจากถูกลืมไปนาน ถึงแม้ในเมืองไทย สภาพทั่วไปกีฬาหมัดมวยจะเสื่อมศรัทธาลง แต่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลกกลับมีสำนักสอนวิชาศิลปะป้องกันตัวอย่าง มวยไทย ยูโด เทควนโด วูซู และอื่น ๆ อีกมากมาย คาดกันว่าตลาด martial arts ยังเป็นตลาดที่เติบโตพร้อม ๆ กับกระแส X Games ที่เน้นความโหด มันส์ ท้าทาย และและแปลกใหม่เป็นเรื่องสำคัญ
     ภาพยนตร์แอ็กชันของไทย อย่าง องค์บาก เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย ส่วนต้มยำกุ้งยังไม่มีภาพยนตร์แอ็กชันของไทยเรื่องใดแทนที่ได้ การทำงานระหว่างปรัชญากับพันนา จึงเกิดความแปลกใหม่ของงานแอ็กชัน สร้างจา พนมขึ้นมาเป็นนักแสดงระดับโลก

สรุปและอภิปรายผล
     ปรัชญาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ใช้ประสบการณ์จากการเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่วัยเรียน การจัดการกลุ่มคนจำนวนมากในทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อเข้ามาทำงานในกองถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ จึงเรียนรู้และเข้าใจระบบการทำงานโพรดักชันอย่างรวดเร็ว พร้อมพัฒนาตัวเองและศึกษาจากภาพยนตร์จากต่างประเทศ เพื่อมาประยุกต์ใช้ในงานอาชีพของตนเอง 
     การกล้าเสนอความคิดความเห็นในงานด้านฝ่ายศิลป์ จนเป็นที่ยอมรับความรู้ความสามารถ ก้าวขึ้นเป็นผู้กำกับศิลป์ และผู้กำกับมิวสิกวิดีโออย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะไม่ได้จบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาภาพยนตร์ แต่ใช้ประสบการณ์จากงานกองถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ งานกำกับภาพยนตร์แบบมินิซีรีส์เกี่ยวกับเพลงวัยรุ่น และขวนขวายหาความรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ในงานโพรดักชั่น จนมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก คือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สามารถเป็นจริงได้
     การที่ปรัชญาตัดสินใจลาออกจากอาร์เอส ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตการทำงาน เพราะขณะนั้นอาร์เอสกำลังเปิดบริษัทผลิตภาพยนตร์ก็ตาม แต่แนวทางการทำงานอาจไม่ตอบโจทย์และย่ำอยู่ภาพยนตร์เกี่ยวกับโปรโมทเพลง ที่มีผลงานกำกับมาแล้ว 2 เรื่อง จึงถือเป็นการตัดสินครั้งสำคัญของปรัชญา
     ทว่า ชื่อเสียงการเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอยังคงเป็นภาพจดจำของผู้บริหารค่ายเพลง ปรัชญาได้รับโอกาสร่วมกับเพื่อนทำค่ายเพลงในเครือแกรมมี่ หลังลาออกจากอาร์เอสได้ไม่นาน โดยหวังว่าการเข้ามาร่วมบริหารค่ายเพลงจะสามารถสานต่อแนวคิดการสร้างภาพยนตร์แอ็กชันได้ ปรัชญาเห็นศักยภาพของพันนาจากการกำกับภาพยนตร์แอ็กชันแบบภูธรออกฉายตามต่างจังหวัด แต่ขาดแคลนทุนในการสร้างภาพยนตร์ 
เมื่อปรัชญาพบพันนา ทั้งคู่เติบโตจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานเหมือนกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองการตลาดการสร้างจุดขายของภาพยนตร์ของปรัชญา กับประสบการณ์การสร้างภาพยนตร์แนวบู๊ของพันนา เพื่อหาแนวทางสร้างภาพยนตร์แอ็กชันแบบใหม่ของไทย
     โจทย์ของปรัชญาที่ให้กับพันนาในการคิดสร้างภาพยนตร์แอ็กชันแบบไทยที่ไม่ลอกเลียนแบบภาพยนตร์จากฮ่องกง ทำให้พันนาผลักดันลูกศิษย์ที่ฝึกสตั๊นท์แมน อย่างจา พนม ขึ้นมาในการแสดงศิลปะการต่อสู้ แต่ปรัชญายังไม่เห็นความแตกต่างจากภาพยนตร์กังฟูของฮ่องกง ซึ่งพันนาเปลี่ยนวิถีคิดใหม่ ฝึกจา พนมให้ใช้มวยไทยแทน และลงทุนลงแรงเอาเศษฟิล์มของสยามพัฒนาฟิล์ม มาสร้างเป็นภาพยนตร์ตัวอย่างขนาดสั้น 4-5 นาที หรือ เดโมภาพยนตร์ ให้ปรัชญาพิจารณา
    ผลปรากฏว่า สิ่งที่ปรัชญากับพันนาคุยโปรเจกต์ภาพยนตร์แอ็กชันนานนับปี คือเดโม ภาพยนตร์ตัวอย่าง ที่ใครได้ชมต่างตื่นตาตื่นใจกับความสามารถของจา พนม แบบไม่เคยเห็นในแบบการแสดงมวยไทยมาก่อน รวมทั้งคณะผู้บริหารฝ่ายภาพยนตร์ (บอร์ดฟิล์ม) ของแกรมมี่ก็เช่นกัน จึงอนุมัติให้เดินหน้าสร้างภาพยนตร์แอ็กชัน
     ถึงกระนั้น มุมมองความแตกต่าง ระหว่างจะให้จา พนม เป็นนักแสดงนำฝ่ายตัวร้ายไม่ใช่พระเอก พร้อมต้องการให้ หลิวเต๋อหัว ดาราดังจากฮ่องกง มาแสดงนำร่วมด้วย ทำให้เกิดความขัดแย้งกับปรัชญาที่จะใช้มวยไทยด้วยความสามารถเฉพาะตัวของจา พนม มาเป็นจุดขายภาพยนตร์ ซึ่งปรัชญาเลือกลาออกจากแกรมมี่ ถือเป็นครั้งที่สองที่ปรัชญาตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตการทำงาน เพื่อต้องการจะสร้างภาพยนตร์แอ็กชันแบบใหม่ของไทย
     เมื่อปรัชญาลาออกจากแกรมมี่แล้ว ได้นำเดโมภาพยนตร์ตัวอย่างขนาดสั้น 4-5 นาที ให้เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ประธานฯสหมงคลฟิล์ม ได้พิจารณา ซึ่งอนุมัติยอมรับตามเงื่อนไขของปรัชญา ด้วยการซื้อสัญญาของจา พนม และโปรเจกต์ภาพยนตร์จากแกรมมี่ เพื่อสร้างภาพยนตร์แอ็กชันทันที เพราะมุมมองการสร้างภาพยนตร์ตรงกัน ซึ่งปรัชญาและสหมงคลฟิล์มคาดการณ์ไปถึงการส่งออกสู่ตลาดภาพยนตร์โลกไว้บ้างแล้ว
      การสร้างสรรค์ภาพยนตร์องค์บาก
     ความสามารถเฉพาะตัวของจา พนม ที่ไม่ใช้ตัวแสดงแทน (โนสตั๊นท์) และไม่ใช้สลิงในการแสดงผาดโผน (โนสลิง) ในภาพยนตร์องค์บาก อาจทำให้จา พนมดูเก่งเป็นนักแสดงมีความสามารถ เมื่อเอาท่ามวยไทยต่าง ๆ ผสมผสานเดินเรื่องของภาพยนตร์โดยใช้ความเชื่อทางศาสนาพุทธและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้การต่อสู้เพื่อศรัทธาและเป็นตัวแทนคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม สร้างโทนี่ จา กลายเป็นฮีโร่ที่ต้องติดตามทั้งฉากต่อสู้และคอมเมดี้แบบตลกร้ายที่อาจถูกหลอกจากคนใกล้ตัวได้ตลอดเวลา
     ความแตกต่างที่ปรัชญาพยายามสร้างขึ้น เกี่ยวกับมวยไทยที่ศึกษามาให้ถูกต้อง นักแสดงเล่นจริงเจ็บจริง ใช้ประสบการณ์การกำกับมิวสิกวิดีโอและภาพยนตร์มาแล้วสองเรื่อง การใช้มุมกล้อง และคิดความแปลกใหม่ในฉากแอ็กชัน ซึ่งการทำงานของปรัชญาในกองถ่ายทำ เมื่อมีปัญหาจะแก้ไขด้วยทีมเวิร์กเพื่อให้งานเดินต่อได้ การให้อิสระแก่พันนาในกำกับการแสดงคิวบู๊ โดยการปรึกษาหารือกันตลอดเวลา เพื่อภาพยนตร์องค์บากออกความสมจริง ทำให้ฉากแอ็กชันตื่นตาตื่นใจ ขณะชมการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนชมอยู่ข้างเวทีมวยหรือสนามประลองการแข่งขันดุเดือดเร้าใจ กลายเป็นจุดขายโดนใจคนชื่นชอบภาพยนตร์แนวบู๊ทั่วโลก
     การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง
     หลังจากภาพยนตร์เรื่ององค์บากออกฉายไปทั่วโลก เสียงตอบรับและเสียงวิจารณ์ ความต้องการจากผู้จำหน่ายภาพยนตร์จากหลายประเทศ จึงสร้างภาพยนตร์ต้มยำกุ้งทันที เพราะผู้ชมทั้งไทยและต่างประเทศรอดูภาคต่อ จากคนแสดงคนเดิมและทีมงานชุดเดิม 
     การเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับมวยไทย ศิลปะการต่อสู้ ช้าง อาหาร และเอานักแสดงต่างชาติเข้าร่วมแสดง และไปถ่ายทำที่ประเทศออสเตรเลีย หวังตอบโจทย์ตลาดภาพยนตร์ต่างประเทศ และสร้างฉากผู้ชมจดจำ คือให้จา พนมแสดงการต่อสู้ฉากแอ็กชันอย่างต่อเนื่อง แบบลองเทค (Long Take) ด้วยความยาว 4 นาทีโดยไม่มีการตัดต่อ เพื่อส่งออกภาพยนตร์ต้มยำกุ้งไปตลาดภาพยนตร์โลก ซึ่งผลตอบรับดีตามที่คาดหวังไว้ 
      ปรัชญากำกับให้ประยุกต์ท่ามวยไทยใช้ในภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง และให้จา พนมเรียนแอ็กติ้ง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ เปลี่ยนบุคลิก การแสดงการยืนให้เป็นเอกลักษณ์แบบไทย และการพัฒนาการสร้างสรรค์องค์บากไปสู่ต้มยำกุ้ง คือ “สร้างประสบการณ์ใหม่” (Creating New Experiences) ให้ผู้ชมอยู่เสมอ
     ความเป็นประพันธกรและการกำกับภาพยนตร์แอ็กชัน
      ปรัชญาเป็นผู้กํากับที่นําเสนอสาระ แก่นเรื่อง หรือประเด็นสําคัญซึ่งปรากฏซ้ำ จนเป็นลักษณะเด่นในภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง เรื่องการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องและการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม โดยเทคนิคและสไตล์ ผ่านการใช้มุมกล้อง การเคลื่อนไหวกล้อง การลําดับภาพ และการจัดองค์ประกอบภาพผ่านภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง ทำให้ผู้ชมคนดูรู้ถึงความต่อเนื่อง เสมือนว่าองค์บากคือภาค 1 และต้มยำกุ้งภาค 2 โดยใช้ทีมงานชุดเดิมและนักแสดงนำคนเดิม
     ปรัชญา พันนา และจา พนม มีภูมิหลังมาจากภาคอีสาน ทำให้สภาพแวดล้อมทางด้านการทํางานทางด้านสังคมและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน รวมถึงรสนิยมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีการดํารงชีวิต
     ปรัชญามีความเป็นผู้นํา ฝึกและเรียนรู้มาตั้งแต่สมัยเรียน รู้ศิลปะภาพยนตร์จากการกำกับมิวสิกวิดีโอและศึกษาภาพยนตร์ต่างประเทศ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานในกองถ่ายทำและทํางานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี
     การกำกับภาพยนตร์แอ็กชัน ปรัชญากำกับองค์บากและต้มยำกุ้ง เข้าถึงผู้ชมทั้งชายและหญิงตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ จากตัวแสดงครบทุกเพศ และหลากหลายบทบาท
     ภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง ถูกกำกับให้จำลองสถานการณ์ช่วยหลีกหนีจากสภาพความเป็นจริงในชีวิต ผจญภัยและสนุกสนานไปกับตัวละครและเหตุการณ์ที่ค่อนข้างเกินความจริง ซึ่งให้ประสบการณ์และความตื่นเต้นใหม่
     องค์บากและต้มยำกุ้ง เป็นภาพยนตร์แอ็กชันที่ทิ้งปมปัญหาให้ผู้ชมเก็บไปขบคิด ซึ่งในการดํารงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม กฎหมายมีบทบาทสําคัญในการรักษาความสงบภายในสังคม ผู้กระทําความผิดจะถูกดําเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ในทางตรงกันข้าม ตัวละครในภาพยนตร์แอ็กชันแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงโดยไม่คํานึงถึงกฎหมาย
     ภาพยนตร์แอ็กชัน องค์บากและต้มยำกุ้ง ทำให้ผู้ชมที่มีความรู้สึกว่า ตนเองถูกกดอยู่ภายใต้ระเบียบของสังคมจนอาจรู้สึกเสมือนว่าวีรบุรุษในภาพยนตร์เป็นตัวแทนของตนในการต่อสู้
     ฉากแอ็กชันดําเนินไปด้วยความเคลื่อนไหวที่ฉับไวของตัวละครของเหตุการณ์ ใช้บทสนทนาเข้าแทรกเหตุการณ์เมื่อต้องการให้ผู้ชมลดระดับความตื่นเต้นลง เพราะเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไปจะทําให้อารมณ์ของผู้ชมเริ่มเครียดและเบื่อหน่าย และอาจขัดจังหวะเหตุการณ์ด้วยการให้คู่ต่อสู้มีเวลาพักหายใจก่อนจบการต่อสู้ คือหลังจากที่ได้ต่อสู้อย่างเข้มข้น ดุเดือด คู่ต่อสู้จะแยกจากกันเพื่อเรียกพลังของตัวเองกลับคืนมา
     การเสนอภาพในฉากต่อสู้อาจช้าหรือเร็วกว่าความเป็นจริง ไม่ทําให้เหตุการณ์ลดความน่าเชื่อถือลง และไม่ทําให้ผู้ชมคาดเดาถึงผลลัพธ์ของการไล่ล่า อีกทั้งฉากแอ็กชันของภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งไม่ใช้เวลานานเกินไป โดยใช้มุขตลกแทรกเข้ามาเพื่อลดความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี
     ความสำเร็จขององค์บากและต้มยำกุ้ง
     ปรากฎการณ์ภาพยนตร์แอ็กชันของไทย อย่าง องค์บาก ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง ถือว่ายังไม่มีภาพยนตร์แอ็กชันของไทยเรื่องใดแทนที่ได้ ดังที่ ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง (2564) อธิบายถึง นักวิจารณ์ในสหรัฐอเมริกาต่างยกการแสดงของ จา พนม ในองค์บาก เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ไม่ต่างจาก The Big Boss (1971), Drunken Master (1978) และ Once Upon a Time in China (1991) ที่เป็นหนังแจ้งเกิดตำนานสายบู๊ระดับตำนานอย่าง บรูซ ลี, เฉินหลง และ เจ็ท ลี คำวิจารณ์แบบสรุปใน Rotten Tomatoes กล่าวถึงองค์บากที่ได้คะแนน 85% จากฝั่งนักวิจารณ์ และ 84% จากฝั่งคนดูทั่วไป ความสำเร็จของ องค์บาก ส่งผลให้มวยไทยได้รับความสนใจจากสื่อกระแสที่ต่างประเทศแบบเต็มตัว มีสตูดิโอจำนวนมากจากต่างประเทศที่ต้องการซื้อหนังเรื่องใหม่ของ จา พนม ไปฉาย ความสำเร็จนั้นจึงทำให้สหมงคลฟิล์ม ได้สร้างภาพยนตร์ต้มยำกุ้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนดูต่างประเทศ ซึ่งต้มยำกุ้งสร้างฉากต่อสู้ได้ถูกยกระดับไปอีกขั้น ด้วยการนำศิลปะการต่อสู้แขนงอื่น ไม่ว่าจะเป็น กาโปเอย์รา, โววีนัม, กังฟู และมวยปล้ำ เข้ามาอยู่ในภาพยนตร์ ผ่านคู่ต่อสู้ของตัวละครเอกในเรื่อง
     ต้มยำกุ้ง จึงถือเป็นเวทีโชว์มวยไทยต่อสายตาชาวโลก เพราะผู้ชมจะได้เห็น จา พนม ใช้แม่ไม้มวยไทย ฟาดฟันกับศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นจากต่างประเทศ โดย Cathal Gunning นักวิจารณ์จากเว็บไซต์ ScreenRant ที่ดูหนังของ จา พนม แทบทุกเรื่อง ยกย่องให้ต้มยำกุ้งเป็นผลงานที่ดีที่สุดของนักแสดงสัญชาติไทยรายนี้ "ภาพยนตร์เรื่องที่สองของ โทนี่ จา คือศิลปะการต่อสู้ระดับคลาสสิคที่ไม่สามารถเลียนแบบได้" คำบรรยายที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ ScreenRant ยกย่องหนังเรื่องต้มยำกุ้ง "หนังเรื่องนี้ผสมผสานความรุนแรงที่น่าเหลือเชื่อ, ฉากต่อสู้ที่ทะเยอทะยาน และงานสตันท์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก องค์บาก ด้วยการกำกับที่มีสไตล์ และโทนหนังที่มั่นคงมากขึ้น ภาพยนตร์ในปี 2005 เรื่องนี้ คือผลงานการต่อสู้ที่ดีที่สุดของ โทนี่ จา" (ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง, 2564)
     ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานของปรัชญาเป็นการเชื่อมประสานคนที่เก่งด้านบทบู๊ อย่าง พันนา นักแสดงอันมีความสามารถเฉพาะ อย่าง จา พนม และนายทุนค่ายภาพยนตร์ อย่าง สหมงคลฟิล์ม ที่มองการไกลไปถึงตลาดภาพยนตร์ในต่างประเทศ 
     กล่าวได้ว่า ทั้งสี่คน ปรัชญา พันนา จา พนม และสมศักดิ์ กลายเป็นองค์ประกอบที่ทำให้องค์บากและต้มยำกุ้งประสบความสำเร็จ และส่งผลให้มวยไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งการประยุกต์ท่ามวยไทยสร้างความแปลกใหม่ของงานแอ็กชันแล้ว ยังสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ชมคนไทยและต่างประเทศอีกด้วย
     อย่างไรก็ดี อานิสงส์ขององค์บากและต้มยำกุ้ง ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักมวยไทยและประเทศไทยยิ่งขึ้น รุ่งโรจน์เรืองรอง. (2565) ชี้ว่าภาพยนตร์ไทยเป็นมากกว่า ซอฟต์ เพาเวอร์ (soft power) เพราะช่วยสร้างชื่อเสียงให้คนไทยและภาพยนตร์ไทย ต่างชาติสนใจร่วมลงทุนด้วย ซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมกทำใหม่ไปโกยรายได้ที่หลายประเทศ หรือทำให้กองถ่ายภาพยนตร์สนใจมากขึ้น ยกกองมาถ่ายทำถึงที่ไทยหลายเรื่อง ต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกรายได้หลักของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจภาพยนตร์ไทยคึกคักด้วย
     ความสำเร็จขององค์บากและต้มยำกุ้ง ถือเป็นแนวทางการเรียนรู้ในการประยุกต์ใช้สิ่งที่เรามีนำมาตีความใหม่หรือนำมาเปิดมุมมองใหม่โดยใช้ภาษาภาพยนตร์เป็นภาษาสากลในการสื่อสารทั้งในแง่ความบันเทิง การท่องเที่ยว และศิลปวัฒนธรรม ย่อมเกิดคุณค่าทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ในที่สุด
     อย่างไรก็ตาม งานสร้างสรรค์ของปรัชญา ควรได้รับการจดจำและเรียนรู้ เนื่องจากเบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้ง องค์ประกอบสำคัญที่ทราบกันดีแล้วว่า หนึ่ง ความสามารถของนักแสดงนำ อย่าง จา พนม, สอง ความเชี่ยวชาญการกำกับคิวบู๊ของพันนา, สาม นายทุนเล็งเห็นช่องว่างทางการตลาดภาพยนตร์แอ็กชันของโลกในขณะนั้น อย่าง สหมงคลฟิล์ม และ สี่ ผู้กำกับฯปรัชญา ซึ่งคนที่เริ่มความคิดสร้างภาพยนตร์แอ็กชันจนมาตกผลึกกลายเป็น “ภาพยนตร์มวยไทย” ที่ถูกจดจำจากผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลก
    จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์องค์บาก ไม่ได้เริ่มจากนายทุนหรือความโดดเด่นความสามารถของนักแสดงนำ แต่เป็นเพราะ “ผู้กำกับภาพยนตร์” ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าอยากสร้างภาพยนตร์แอ็กชันของไทยสมัยใหม่โดยศึกษาภาพยนตร์แนวบู๊ของไทยในอดีต พร้อมกับเลือกให้โอกาสกับผู้กำกับคิวบู๊อย่างพันนาที่สร้างภาพยนตร์ภูธรแนวบู๊เกรดบีซึ่งกำลังโรยราเต็มที ให้กลับมาสร้างผลงานอีกครั้ง พร้อมให้โอกาสสตันท์แมนอย่างจา พนมถูกผลักดันให้เป็นนักแสดงนำแม้ว่าเกิดความขัดแย้งภายในแกรมมี่จนต้องหอบโปรเจกต์ออกมาสร้างภาพยนตร์กับค่ายสหมงคลฟิล์ม จะเห็นว่าเส้นทางก่อนสร้างภาพยนตร์องค์บากนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
     ด้วยจุดยืน ความเชื่อและมุ่งมั่นของปรัชญา อาจกล่าวได้ว่า (บรรจง โกศัลวัฒน์, 2543, น. 16) เป็นผู้กำกับเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ เป็นผู้กำหนดแนวทางการสร้างสรรค์ให้กับภาพยนตร์นอกเหนือไปจากผู้เขียนบทภาพยนตร์ ในขณะเดียวกันผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์คือความสามารถในการเชื่อมโยงส่วนประกอบต่าง ๆ กำกับการแสดงที่ไม่มีบทภาพยนตร์เป็นลายลักษณ์อักษรให้สามารถดำเนินต่อไปได้ และกำหนดแนวทางการแสดงให้กับผู้แสดงต่อไป ภาพยนตร์จะไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างได้หากขาดผู้กำกับภาพยนตร์ที่ดี จินตนาการของผู้ประพันธ์จะไม่สามารถถ่ายทอดสู่ผู้ชมได้ เพราะขาดผู้ประกอบวัตถุดิบต่าง ๆ ในภาพยนตร์ให้ปรากฏเป็นภาพสู่สายตาผู้ชม
     ด้วยคุณลักษณะดังกล่าว ปรัชญาถือว่าเป็นผู้กำกับที่เห็นถึงคุณค่าของศิลปะแม่ไม้มวยไทยนำมาสร้างสรรค์และสร้างประสบการณ์ใหม่โดยเลือกใช้ผู้ออกแบบคิวบู๊ที่เก่ง ทีมงานออกแบบงานสร้างที่มีความสามารถ ทำให้ภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งกลายเป็นภาพยนตร์แอ็กชันระดับโลก ทีมงานและนักแสดงนำของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดภาพยนตร์สากล
     กระนั้น ภาพยนตร์แนวต่อสู้จำนวนมากได้ครองตลาดโลกจนสร้างภาพจำสากลให้แก่ผู้ชมไปมากแล้ว ได้แก่การมีฉากไล่ล่าบนท้องถนน การอาศัยอาวุธปืน การใช้ระเบิดเสริมความรุนแรงจนทำให้ภาพยนตร์แนวต่อสู้เป็นงานราคาแพง แต่ผู้สร้างองค์บากและต้มยำกุ้ง ให้น้ำหนักแก่องค์ประกอบใหม่อย่างมวยโบราณจนทำให้โลกภาพยนตร์ได้สัมผัสอรรถรสความบันเทิงที่ต่างออกไปทั้งยังฉายวัฒนธรรมไทยจากอีกมุม (ฐณยศ โล่พัฒนานนท์ และคณะ, 2563, น. 186-199)
     กล่าวคือ องค์ประกอบใหม่อย่างมวยโบราณ ถือเป็นการค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมภายใต้การกำกับของปรัชญาเพื่อสร้างมุมมองใหม่เกี่ยวกับมวยไทย ซึ่งคนไทยและต่างชาติรับรู้เกี่ยวกับมวยไทยมาบ้างแล้ว แต่การทำให้องค์ประกอบของภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากการรับรู้แบบเดิม ก็คือการนำเสนอที่มาหรือรากของมวยไทยโบราณ ด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อของคนไทยในอดีตสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก สร้างปรากฎการณ์มวยไทยให้กลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่สามารถฝึกฝนเพิ่มความแข็งแกร่งให้ร่างกายและจิตใจแล้วยังใช้เป็นกีฬาและต่อสู้ป้องกันตัวได้อีกด้วย
     การจดจำภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งเป็นภาพยนตร์แอ็กชันของไทยที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จมากที่สุดซึ่งยังไม่มีภาพยนตร์แอ็กชันของไทยเรื่องใดเทียบได้ ย่อมสะท้อนถึงความสามารถของผู้กำกับฯปรัชญา ในการคัดสรรนักแสดง ทีมงาน และสร้างความแปลกใหม่ในงานภาพยนตร์แอ็กชัน ซึ่งในขณะนั้นภาพยนตร์ฮอลลีวูดและฮ่องกงที่ครองตลาดภาพยนตร์แอ็กชันแบบทุ่มทุนสร้างแต่ใช้สลิงในฉากโลดโผนหรือใช้ตัวแสดงแทนในฉากแอ็กชัน แต่สำหรับภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งนั้น ปรัชญาวางแผนริเริ่มมาตั้งแต่แรกว่าต้องใช้มวยไทย นักแสดงนำเป็นคนไทย เล่นจริงเจ็บจริงและไม่ใช้สลิงในการแสดงฉากโลดโผนเสี่ยงอันตราย ทำให้ภาพจำของฉากแอ็กชันแบบที่ใช้ตัวแสดงแทนและสลิงที่ผู้ชมเคยชมนั้น ถูกปรับเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันปรัชญาได้สร้างฉากแอ็กชันลองเทค 4 นาทีเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชมว่าการแสดงฉากต่อสู้แบบต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำได้ได้รับความชื่นชมจากแวดวงคนในวงการภาพยนตร์เดียวกัน และผู้ชมต่างเร้าใจลุ้นไปกับนักแสดงตลอดการชมภาพยนตร์ เสมือนดูการต่อสู้ที่สมจริงมากที่สุด
    ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์องค์บากและต้มยำกุ้งถือเป็นผลงานชิ้นเอก (Masterpiece) ของปรัชญา ที่ต้องเรียนรู้เส้นทางชีวิต การวางแผนสู่ผู้กำกับ การทำงานด้านโพรดักชัน ประสบการณ์จากกำกับมิวสิกวิดีโอและภาพยนตร์เกี่ยวเพลงวัยรุ่น ศึกษาการตลาดภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ และความมุ่งหมายที่อยากสร้างผลงานภาพยนตร์ด้วยการค้นหาความแปลกใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชม และโดยเฉพาะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ควรค่าแก่การศึกษาถึงปัจจัยความสำเร็จของภาพยนตร์แอ็กชันไทย อันจะเป็นประโยชน์แก่วงการภาพยนตร์ต่อไป

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป
    1. การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาแต่เพียงตัวภาพยนตร์องค์บาก ต้มยำกุ้ง ผู้กํากับปรัชญา ซึ่งหากว่าต่อไปมีการศึกษาภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของปรัชญา และศึกษาในแง่ของผู้ชมภาพยนตร์ที่เป็นฝ่ายผู้รับสารด้วย จะทําให้ประเด็นการวิเคราะห์ศึกษาภาพยนตร์ของปรัชญามีความชัดเจน ครอบคลุม และมีมุมมอง
ที่หลากหลายยิ่งขึ้น
    2. นอกเหนือจากผู้กํากับปรัชญาแล้ว ยังมีผู้กํากับภาพยนตร์ชาวไทยท่านอื่น ๆ ที่มีความสามารถสูงและมีความเป็นประพันธกรสูงเช่นเดียวกัน ต่อไปจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมไปถึงผู้กํากับภาพยนตร์ชาวไทยท่านอื่นที่มีความเป็นประพันธกรสูงด้วย อันจะเป็นการขยายองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิชาการและวิชาชีพภาพยนตร์


บรรณานุกรม
ฐณยศ โล่พัฒนานนท์ และคณะ. (2563). ภาพยนตร์แนวต่อสู้ของไทยในบริบททางสังคมวัฒนธรรม. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 40(4), 186-199.

ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง. (2564). ช้างกูอยู่ไหน ? : อิทธิพลจากการแสดงของ "จา พนม" ที่ชาวโลกรู้จักมวยไทย. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565. จาก https://www.mainstand.co.th/2248

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์. (2556). 10 ปี องค์บาก เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง. TAT Tourism Journal. จุลสารวิชาการ การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก http://www.etatjournal.com/web/menu-read-web-etatjournal/menu-2013/menu-2013-oct-dec/555-42556-ong-bak.

บรรจง โกศัลวัฒน์, (2543). การกำกับและการแสดงภาพยนตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ปรัชญา ปิ่นแก้ว (กำกับภาพยนตร์). (2558). ศิลปินมรดกอีสาน. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น. สืบค้นจาก https://cac.kku.ac.th/cac2021/ปรัชญา-ปิ่นแก้ว-กำกับภา/.

รางวัลพระราชทานพระธาตุนาดูนทองคำ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประเภทบุคคลดีเด่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาวิชาชีพ ประจำปีพุทธศักราช 2556. (2556). MSU Hall of Fame มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นจาก http://www.web.msu.ac.th/ssystem/halloffame/SDetail.php?hid=4960.

รุ่งโรจน์เรืองรอง. (2565, 22 เมษายน). มองหนังไทยปี 2022 ในหลายมิติ ในยุคแข่งขันสูง. ข่าวบันเทิง. ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/entertain/news/2372891

เส้นทางความสำเร็จองค์บาก. (2548, 5 สิงหาคม). Positioning. สืบค้นจาก https://positioningmag.com/7748

สูตรสำเร็จต้มยำกุ้ง=องค์บาก+โมเดลการตลาด (2548, 5 สิงหาคม). Positioning. สืบค้นจาก https://positioningmag.com/7739

องค์บาก. (2562, 20 ธันวาคม). ภาพยนตร์แห่งชาติ. หอภาพยนตร์. สืบค้นจาก https://www.fapot.or.th/main/news/168.

องค์บาก : เมื่อมวยไทยผงาดนีชมาร์เก็ตโลก. (2548, 5 สิงหาคม). Positioning. สืบค้นจาก https://positioningmag.com/7745

‘องค์บาก’ในกระแสความนิยมโลก. (2548, 11 เมษายน). Positioning. สืบค้นจาก https://positioningmag.com/7288.

องค์บาก (Ong Bak). (2546). สหมงคลฟิล์ม. สืบค้นจาก http://sahamongkolfilm.com/saha-movie/ong-bak-movie-2546.