เงินดอลลาร์ จะแข็งค่าอีกนานไหม

เงินดอลลาร์ จะแข็งค่าอีกนานไหม

นอกเหนือไปจากตลาดบอนด์และหุ้นที่ถูกเทขายอย่างต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกสิ่งหนึ่งที่มาด้วยกันก็คือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ที่ปัจจุบันแตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก

 โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งวัดมูลค่าดอลลาร์ เทียบกับเงินสกุลหลัก ได้แก่ ยูโร เยน และปอนด์สเตอร์ลิง แข็งค่าขึ้นแล้ว 8.9% ในปี 2022 (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มิ.ย. 65)

หรือหากเทียบกับเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เงินดอลลาร์ ก็ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุล แต่มากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละสกุล โดยเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับตั้งแต่ต้นปี (อ่อนค่ามากสุดเป็นลำดับที่ 5 เมื่อเทียบกับเงินภูมิภาครวมเงินเยนญี่ปุ่นด้วย) และค่าเงินบาท ณ ระดับปัจจุบันที่ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 ปี 

แม้ในภาพรวมจะยังไม่มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกอย่างฉับพลัน เนื่องจากฐานะต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีสะท้อนจากหนี้ต่างประเทศ ปริมาณสินค้านำเข้า เมื่อเทียบกับเงินสำรองทางการ แต่แนวโน้มการอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความผันผวนก็สูงขึ้นนับได้ว่าไม่ใช่เรื่องดีต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่ความเสี่ยงหลายด้านรุมเร้า

นอกเหนือไปจากอุปสงค์จากการซื้อขายสินค้าและบริการ และการลงทุนทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) หรือการลงทุนในตราสารทางการเงิน (Portfolio Investment) ปัจจัยด้านมหภาคที่กำหนดแนวโน้มของค่าเงินหลักๆ จะประกอบไปด้วย (1) แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (2) การเปลี่ยนแปลงฐานเงินในระบบ และ (3) การคาดการณ์เงินเฟ้อ

 

ดูเหมือนว่าปัจจัยพื้นฐานจะเอนเอียงไปทางเงินดอลลาร์ มากกว่า ทั้งเรื่องของการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการทยอยลดปริมาณเงินในระบบ ส่งผลให้เกิดแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งต่อประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

ดังนั้นแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ยังน่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ แสดงท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนในความพยายามควบคุมเงินเฟ้อด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อเทียบกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ยุโรป และญี่ปุ่น หรือแม้แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมถึงไทยด้วย

นอกจากนั้นเงินดอลลาร์ ยังคงได้เปรียบในฐานะของ “Safe Haven Asset” หรือหลุมหลับภัยของนักลงทุน โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะ Recession หรือ Stagflation ก็ตาม

แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะสะท้อนมุมมองของดอกเบี้ยในอนาคตไว้ค่อนข้างมากแล้ว แต่หากเงินเฟ้อยังคงไม่มีแนวโน้มลดลง และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โอกาสที่เงินดอลลาร์ สรอ. จะยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องก็ยังเป็นไปได้มาก

โดยหากเงินดอลลาร์ ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองด้วย แม้ว่าราคาสินค้านำเข้าที่อาจจะถูกลงจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์  และอาจช่วยลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่การแข็งค่าของค่าเงินก็ไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกและผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เก็บสะสมอยู่ในต่างประเทศได้เช่นกัน

อาจทำให้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สูงอยู่แล้วจากการเร่งของดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลาง เพิ่มสูงขึ้นได้อีกในอนาคต และอาจกลับมากดดันเศรษฐกิจโลกได้ ก็นับได้ว่าเป็นปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาดูกันต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ ก็มีโอกาสอ่อนค่าลงได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อดูท่าจะควบคุมได้และธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่คาดการณ์ไว้ แม้ในปัจจุบันหลายฝ่ายจะไม่เชื่อเช่นนั้นก็ตาม โดยในกรณีเราก็อาจจะเห็นการฟื้นตัวของหุ้นและการปรับตัวลดลงของผลตอบแทนพันธบัตรควบคู่กันไปด้วย

การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเงินบาทอาจจะเป็นผลดีกับผู้ส่งออก แต่ก็ส่งผลเสียต่อผู้นำเข้าและเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเป็นช่องทางการส่งผ่านเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจไทยได้ และแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเงินบาทอาจจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและส่งออก แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนในช่วงหลัง

สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไร เราสามารถเลือกที่จะลดความเสี่ยงของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่นสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX Forward) หรือ ออปชั่น (FX Options) สำหรับการประกันค่าเงิน หรือ การบริการกระแสเงินสด เช่น การคงรายรับรายจ่ายให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน การบริหารจังหวะเวลาของรายรับและรายจ่ายให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด หรือการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)

เพื่อบริหารกระแสเงินสด และในฐานะนักลงทุนก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนหรือใกล้เคียงเพื่อลดความไม่แน่นอนในส่วนนี้ได้เช่นกัน

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด