เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ กับการขึ้นดอกเบี้ย งานนี้ต่อให้หมอรักษาหาย ... แต่ผู้ป่วยอาจบาดเจ็บสาหัส

เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ กับการขึ้นดอกเบี้ย งานนี้ต่อให้หมอรักษาหาย ... แต่ผู้ป่วยอาจบาดเจ็บสาหัส

ยังคงต้องลุ้นกันต่อสำหรับภาวะตลาดการเงินและการลงทุน หลังจากดัชนีตลาดหุ้นสำคัญของสหรัฐฯ ทำจุดต่ำสุดใหม่สำหรับขาลงในรอบนี้ โดยแรงเทขายเริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. ของสหรัฐฯ ที่กลับมาเร่งตัวขึ้นที่ 8.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินและสภาพเศรษฐกิจในอนาคต เสริมด้วยการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50% - 1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. และเป็นขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งเดียวที่สูงที่สุดในรอบ 28 ปี

ซึ่งในช่วงแรงอาจจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาบ้าง แต่สุดท้ายความพยายามในการควบคุมเงินเฟ้อผ่านการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้น่าจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจในอนาคต

ปัญหาเงินเฟ้อดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงได้ในเร็ววัน และไม่ได้เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว แต่ยังสร้างแรงกดดันให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น เงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ (ล่าสุด 9.0% สูงสุดในรอบ 30 ปี) ยุโรป (8.1% สูงสุดเป็นประวัติการณ์) ญี่ปุ่น (2.5% สูงสุดในรอบ 3 ปี)

รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั้งในในกลุ่มพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอีกซึ่งดูเหมือนว่าทางแก้ปัญหาที่ทุกคนทำคล้ายๆ กันก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ยเป็นพื้นฐานของระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ แต่สิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละรอบของนโยบายและเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดของการดำเนินนโยบายการเงิน คือ การสื่อสารของธนาคารกลาง

ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน การสื่อสารที่ชัดเจนและใช้เวลาเพื่อให้เวลาทั้งธุรกิจและครัวเรือนในการวางแผนและปรับตัวในบางครั้งอาจจะสำคัญกว่าเวลาจริงในการปรับอัตราดอกเบี้ยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งในรอบนี้ดูเหมือนว่าจังหวะเวลาของการปรับดอกเบี้ย ขนาดของการปรับดอกเบี้ย และรวมถึงแนวโน้มในอนาคตมีความไม่แน่นอนอย่างมาก

ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยเองก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช้ยาที่จะรักษาโรคได้ตรงจุดนักกับภาวะปัจจุบัน เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่วนสำคัญมาจากปัญหาด้านอุปทาน (Supply) ซึ่งต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก

ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดูจะเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับฝ่ายต่างๆ ไม่น้อย ในช่วงต้นปีนักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้มากถึง 3.9% ในปีนี้ ผ่านไปไม่ถึงครึ่งปี การคาดการณ์อัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียง 2.6% (ข้อมูลจาก Bloomberg) และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็เคยมองไว้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2.8% ในช่วงเดือน มี.ค. ลดเหลือเพียง 1.7% จากการประชุมครั้งล่าสุด โดยแม้ในปัจจุบันในภาพรวมด้านต่างๆ เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลง 

แต่นักวิเคราะห์เริ่มมองว่าความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในปีหน้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่นับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เช่นในยุโรปและญี่ปุ่นที่เงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำได้ยากกว่า

ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่เพี่มสูงขึ้นอาจนำมาซึ่งปัญหาเสถียรภาพของประเทศที่มีหนี้สาธารณะๆ สูงๆ เช่น อิตาลี หรือ สเปน และก่อให้เกิดปัญหาคล้ายกับ Sovereign Debt Crisis ในปี 2013 หรือญี่ปุ่นเองที่เศรษฐกิยังไม่แข็งแรงพอสำหรับต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางต้องเจอกับงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ไม่นับความเสี่ยงด้านต้นทุนพลังงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาๆ ต่างๆ ที่เริ่มมีปัญหาด้านเสถียรภาพภายในประเทศ

สำหรับปัญหาในรอบนี้ ดูเหมือนว่าการ Soft Landing ของเศรษฐกิจจะเป็นทางออกที่ทุกคนหวังไว้และอาจจะเป็นผลลัพท์ที่ดีที่สุด ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับการชะลอเศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เรื่องของปัญหาสงคราม ราคาพลังงาน โรคระบาด และการเมืองต่างๆ เป็นต้น

ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวบ้างเป็นระยะ แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนจะเป็นเพียง Bear Market Rally เนื่องจากปัญหาที่กดดันมาตลอดยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่นักลงทุนทำได้ในภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบันคือการรักษาระดับความของเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองในระยาว ถือเงินสดบางส่วน กระจายความเสี่ยง ติดตามข่าวสารและพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ และยังคงต้องลงทุนอย่างระมัดระวังอย่างมากภายใต้ภาวะที่มีความไม่แน่นนอนเป็นอย่างมากครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด