บทเรียนจากการปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีสำหรับปี 2022

บทเรียนจากการปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีสำหรับปี 2022

ตลาดหมี (Bear Market) โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเติบโต (Growth Stock) ในรอบนี้น่าจะให้บทเรียนและแง่คิดบางอย่างกับนักลงทุน

โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้นอกจากความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายสินทรัพย์ เรายังเห็นแรงเทขายอย่างรุนแรงในหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นที่นิยมมากในช่วงที่ผ่านมา หากผลประกอบการสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน จากเดิมที่คาดหวังว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นในอนาคตอันใกล้ เช่น เราเห็นหุ้นยอดนิยมอย่าง Netflix ที่สร้างปรากฏการณ์ในปีก่อนหน้า ลดลงมากถึง 75% จากจุดสูงสุดในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

ยังไม่นับกลุ่มที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงของการแพร่ระบาดที่การปรับตัวลดลง 50 ถึง 70% กลับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยง่ายเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวมที่ปรับตัวลดลงเพียง 10 ถึง 20% โดยประมาณ ซึ่งผลประกอบการที่ผิดคาดเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เกิดแรงเทขายอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น วันนี้เราลองย้อนมาดูบทเรียนสำหรับตลาดการเงินในรอบล่าสุดกันครับ

ระดับการซื้อขายและมูลค่า (Valuation) ก็เป็นแค่ตัวเลข จนกว่ามันจะมีความหมาย โดยเฉพาะในขาลง

ในช่วงตลาดขาขึ้น (Bull Market) การตีมูลค่าของสินค้าชิ้นเดิมมักจะมีราคาสูงขึ้นจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ดี ความมั่นใจ หรือแม้แต่แนวโน้มการทำตามคนส่วนใหญ่ (Herd Behavior) เช่น “FOMO” หรือ Fear of Missing Out ความกังวลว่าจะตกกระแสของการลงทุนต่างๆ ซึ่งแม้แต่นักลงทุนที่มีประสบการณ์ในบางครั้งก็อาจทำผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นแรงและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาใหญ่ๆ ดังเช่นที่ผ่านมา 

 กระแสของการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การลงทุนในหุ้นกลุ่ม “FAANG” กองทุน “ARK Investment” หรือแม้แต่อาจจะรวมถึงกระแสของสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารทางการเงิน บริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ระดับราคาอาจจะสูงจนเกินไป นอกจากนี้การที่ตลาดการเงินมีมุมมองหรือเก็งกำไรไปในทิศทางเดียวกันก็จะก่อให้เกิดการกระจุกตัวของการลงทุน

และอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านราคา (Market Risk) ของการลงทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ การวัดระดับมูลค่าของหุ้น เช่น จากค่า Multiples ต่าง ที่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็น Price-to-Earning (P/E) Ratio หรือแม้แต่ EV/EBITDA ต่างๆ ในช่วงขาขึ้นและขาลงจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน และระดับมูลค่าการซื้อขายที่สูงในช่วงขาดขึ้นมักจะมีเหตุผลรองรับเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของแนวโน้มในอนาคตและการเติบโตของผลกำไรต่างๆ

วัฏจักรขาขึ้นและขาลงเป็นของคู่กัน

ไม่มีสินทรัพย์ใดปรับตัวขึ้นตลอด การลงทุนที่ปรับตัวขึ้นสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งก็มักจะมีปัจจัยที่กดดันให้ราคาเกิดการปรับฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงมุมมองของนักลงทุน นโยบายการเงินการคลัง หรือปัจจัยเฉพาะ เช่น ผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามคาด ยอดขายที่ไม่ถึงเป้าหมาย เป็นต้น ดังนั้นการกระจายความเสี่ยง และการปรับสัดส่วน (Rebalance) ถึงเป็นกลยุทธ์ที่ขาดไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงตลาดวัฏจักรรูปแบบใด การคงระดับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวจะทำให้นักลงทุนผ่านความผันผวนและบรรลุเป้าหมายทางการเงินต่างๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น ในช่วงขาลงก็ไม่ควรออกจากตลาดไป ในขณะที่ขาขึ้นก็ไม่ควรชะล่าใจและเน้นการปรับพอร์ตเพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า

อย่าสู้กับธนาคารกลาง (Don’t Fight Central Banks)

นโยบายการเงินในส่วนของอัตราดอกเบี้ยและการอัดฉีดสภาพคล่องนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อภาวะตลาดการเงิน นอกเหนือไปจากการที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลากหลายรูปแบบ การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในระดับต่ำและการอัดฉีดสภาพคล่องมีส่วนต่อการปรับเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงโดยตรง ทำให้นโยบายการเงินยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางของตลาดหุ้นอยู่เสมอ โดยนโยบายการเงินในปัจจุบันอาจไม่สำคัญเท่าแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าและการสื่อสารของธนาคารกลางที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินนั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องใส่ใจเสมอ และบทเรียนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นหลักฐานที่ช่วยย้ำเตือนเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อความไม่แน่นอนเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางและนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์เริ่มมีมุมมองที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนเองจะมีความสามารถมากกว่านักลงทุนทั่วๆ ไป แต่บทเรียนเหล่านี้เป็นการมองย้อนหลังเพื่อให้เราสามารถเข้าใจถึงข้อผิดพลาดและปรับปรุงกลยุทธ์การลงทุนต่างๆ ในอนาคตให้ไม่ผิดพลาดซ้ำสอง ในขณะที่ในภาวะที่พอร์ตการลงทุนติดลบก็จะช่วยให้นักลงทุนเรียนรู้เข้าใจวัฏจักรขาลง และเพิ่มประสบการณ์ในส่วนนี้เพื่อรองรับและเข้าใจความผันผวนที่ดีขึ้นสำหรับการบริหารพอร์ตฟอลิโอในอนาคตได้ครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด