มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลัง 2022 ตอนที่ 1

ปี 2022 นับเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากในการลงทุน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัว ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์รวมไปถึงผลกระทบจากนโยบาย Zero Covid-19 ของจีน

ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกทำให้มูลค่าตลาดหายไปมากกว่า 18ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขนี้เทียบเท่ากับ 12% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลกหรือเกือบเท่ากับขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐเลยทีเดียว จึงสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนอย่างมาก

ว่าการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์กำลังจะสะท้อนภาพว่าจะมีวิกฤตอะไรหรือไม่แล้วควรจะรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่สูงนี้อย่างไร ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลังเรามองว่ายังมีโอกาสที่ดีในการลงทุน การปรับตัวลงของตลาดในช่วงที่ผ่านมาส่วนมากเกิดจากความกังวลเรื่องสภาพคล่องที่ลดลง ในช่วงครึ่งปีหลังมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1.The Big Picture: เศรษฐกิจยังไม่ถดถอย ให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มปลอดภัย (Defensive tilt)

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และการปิดเมืองในจีนจากการระบาดของ Covid-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกให้เติบโตลดลงกว่าที่คาดแต่ไม่ได้เกิดการถดถอยหรือ Recession ตามที่นักลงทุนมีความกังวลเนื่องจากเรายังเห็นการจับจ่ายของผู้บริโภคแม้ราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้นก็ตามโดยเฉพาะภาคบริการที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง

ดังจะได้เห็นตัวเลขการจองร้านอาหาร ห้องพักโรงแรมหรือสายการบินที่ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ภาวะการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่ง การลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัว ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ เราไม่คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบแม้ในปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากและเร็วกว่าในอดีต

แต่เรามองว่าการดำเนินนโยบายของธนาคารโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯนั้นเป็นลักษณะ Front-loading หรือจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงและเร็วในช่วงแรกและจะขึ้นในอัตราที่ช้าลงหลังจากนั้น นอกจากนี้เครื่องมือชี้วัดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมุมมองของจูเลียส แบร์ มีโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ที่วัดผ่านส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวมีโอกาสอยู่ที่ระดับ 20% เพียงเท่านั้น

       ดังนั้นด้วยประเด็นข้างต้นทำให้เรามีมุมมองต่อภาวะตลาดการเงินในปัจจุบันกลับมาอยู่ในภาวะขยายตัว หรือ Expansion หลังจากที่เราเคยมีมุมมองว่าได้รับผลกระทบจากภายนอก (External Shock) ซึ่งทำให้สัดส่วนการถือเงินสดที่เคยอยู่ในระดับที่สูงลดลงมาอยู่ที่ 8% จากระดับ 12% โดยกลับไปเพิ่มทั้งในส่วนของหุ้นและตราสารหนี้ เนื่องจากการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์ไม่ว่าจะหุ้นหรือตราสารหนี้ในช่วง 5 เดือนแรก เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

       ส่งผลต่อการปรับระดับราคาหรือมูลค่าของสินทรัพย์ตามอัตราดอกเบี้ยที่หมดยุคของโลกที่อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือ Free money world เรายังแนะนำหรือชอบการลงทุนในหุ้นมากกว่าสินทรัพย์อื่น เรามองว่าตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงเพื่อปรับระดับ Valuation เพื่อให้สะท้อนระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยการเติบโตที่ลดลงจะส่งผลต่อการเติบโตของกำไรทำให้เราให้น้ำหนักกับ Defensive stocks หรือหุ้นในกลุ่มปลอดภัย เช่นกลุ่มการแพทย์ Healthcare

       โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตยาและกลุ่ม Biotech ขนาดใหญ่ ซึ่งมีความแข็งแรงในด้านงบการเงิน มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่ต่ำและมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะ Stagflation (ภาวะเงินเฟ้อสูงขณะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ) นอกจากนี้ยังมีความน่าสนใจในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลที่ดีหรือมีการทำการซื้อคืนหุ้น (Share buy-backs) หุ้นที่มีคุณภาพและมีการเติบโตของกำไรซึ่งมีการปรับลงในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก

       ส่วนในรายประเทศเรายังให้น้ำหนักกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้น เช่นตลาดหุ้นสวิสเซอร์แลนด์ ขณะที่ในฝั่งเอเชียเรายังคงมองว่าประเทศอินเดียและกลุ่มอาเซียนมีความน่าสนใจกว่าประเทศอื่นๆ  ขณะที่ประเทศจีนนั้นผลกระทบของการปิดเมืองจากนโยบาย Zero Covid และความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่ยังคงขัดแย้งกันทำให้แม้ว่าตลาดหุ้นจีนที่มีระดับราคาน่าสนใจแต่ก็ยังมีความผันผวนอยู่ต่อไป

       ทำให้เรายังคงชอบการลงทุนในตลาด A-share เนื่องจากจะได้ประโยชน์จากความพยายามกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกลุ่มที่น่าสนใจเราชื่นชอบในกลุ่มที่รัฐบาลนั้นให้การสนับสนุนเช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด การบริโภค และเทคโนโลยีขั้นสูงที่จีนต้องพัฒนาและพึ่งพิงตัวเองมากขึ้น

ทั้งนี้ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก โปรดติดตามประเด็นการลงทุนที่เหลือในตอนที่ 2