”นายกฯคนนอก” จับสัญญาณ “อุบัติเหตุการเมือง”

”นายกฯคนนอก” จับสัญญาณ “อุบัติเหตุการเมือง”

จับประเด็นร้อน ”นายกฯคนนอก” จับสัญญาณ “อุบัติเหตุการเมือง”

เกมแห่งอำนาจ ผลประโยชน์ลงตัว อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่ต่างกับกระแสหนุน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น “นายกฯคนนอก” ที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด  

อย่าลืม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี เป็นคนหลุดออกมาเอง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวสายทำเนียบฯ เช้าวันอังคารที่ผ่านมา (26 เม.ย.) ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประจำสัปดาห์

เมื่อถูกถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แล้ว พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)จะดำเนินการอย่างไร “บิ๊กป้อม” ตอบตามสไตล์ “ไม่รู้ ก็อาจมีคนสำรอง”

นี่คือ สิ่งที่เรียกได้ว่า “หลุด” ความจริงออกมาหรือไม่ และกลายเป็นกระแสร้อนขึ้นมาทันควัน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์และแกนนำหลายคนในรัฐบาลจะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ รวมทั้ง “บิ๊กป้อม” ก็กลับลำด้วย แต่นั่นไม่ได้ทำให้เรืองนี้จบลงแต่อย่างใด

เพราะเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ก็ออกมาขานรับหนุน “บิ๊กป้อม” นั่ง “นายกฯขัดตาทัพ

“อดุลย์” มองว่า การเมืองไทยถึงเวลาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากผู้นำรัฐบาลไร้สภาพการนำและเกิดวิกฤตรอบด้าน หากปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ประเทศชาติจะยิ่งถอยหลัง และเกิดวิกฤตทุกด้าน สร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองเกินกว่าที่ใครจะกอบกู้หรือเยียวยาได้ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไข

ความจริง มีข้อเสนอหลายเรื่อง แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อ 1 และข้อ 2

เสนอให้พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ของพี่น้อง “3 ป.” ผู้ผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับทราบดีว่าพล.อ.ประยุทธ์ บริหารบ้านเมืองล้มเหลว หากปล่อยให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกต่อไปบ้านเมืองจะเกิดความเสียหายเกินจะเยียวยาได้ ในสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่มีบุคคลใดที่จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ มีแต่ “ลุงป้อม” เท่านั้น ที่เป็นบุคคลมากด้วยบารมี ที่จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากอำนาจได้ และหาก “ลุงป้อม” เป็นนายกฯเอง “น้องตู่” ก็หมดกังวลใจว่าจะไม่มีใครตามเช็คบิล แต่ถ้า “ลุงป้อม” ไม่กล้าเป็นนายกฯแทน “น้องตู่” ก็คงต้องร่วมรับผลกรรมที่ “น้องตู่” ทำไว้กับบ้านเมืองทุกประการ

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า “อดุลย์” เคยร่วมกับ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำกิจรรมภายใต้ชื่อกลุ่ม ไทยไม่ทนสามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว (4 เม.ย.64)

จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นข้อเสนอของคนในกลุ่มขับไล่พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว

กระทั่งวานนี้ (29 เม.ย.) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเศรษฐกิจไทย “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ก็ทำเอากระแส “บิ๊กป้อม” นายกฯคนนอก พุ่งปรอทแทบแตก กลายเป็นคำถามที่ “บิ๊กตู่” ไม่อยากฟัง และไม่อยากได้ยินไปทันที

เค้นเอาแต่เนื้อๆ ผู้สื่อข่าวถามพล.อ.วิชญ์ว่า ในความเห็นของท่าน มีใครที่เหมาะสมเป็นนายกฯ คนนอกได้

พล.อ.วิชญ์ กล่าวว่า “ผมไม่ได้มองใคร ผมมองแค่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะท่านมีความเหมาะสมที่สามารถจะช่วยประเทศได้ในเวลานี้ เพราะท่านทำงานมาตลอด ก็น่าจะรู้ดีว่า ทำอย่างไร”

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้เสนอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯจะเป็นได้หรือไม่

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “อยู่ที่ตัว พล.อ.ประวิตร ถ้าถามว่าท่านสามารถเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ ความจริงท่านก็เป็นได้ตลอดเวลา แต่ทุกอย่างอยู่ที่ตัวท่าน”

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การจะมีนายกฯคนนอกได้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 “เปิดช่อง” ให้มี“นายกรัฐมนตรีคนนอก” และ “นายกรัฐมนตรีคนใน” ไว้ “2 ทาง”

ทางแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เปิดช่องให้ “ยกเว้น” การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง กรณีไม่สามารถรวมเสียงได้ “เกินกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา

โดยใช้เสียง “2 ใน 3” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา(ส.ส.และส.ว.) ให้ยกเว้นการเลือก นายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง เพื่อสถาปนานายกรัฐมนตรีคนนอกได้

ทางที่สอง รัฐธรรมนูญมาตรา 159 นายกรัฐมนตรีที่มาจาก “บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง” โดยใช้เสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

“ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้า (ส.ส. 25 คนขึ้นไป)”

ดังนั้น ถ้าจะเลือก “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จากพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป มีทั้งหมด 6 คนไม่นับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว

ดังนี้ 1.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ 3.นายชัยเกษม นิติสิริจากพรรคเพื่อไทย 4.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคพลังประชารัฐ  5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย 6.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์

นั่นหมายความว่า ถ้าตัดนายกฯจากพรรคฝ่ายค้านออกไป ก็จะเหลือ เฉพาะ นายอนุทินจากพรรคภูมิใจไทย  และนายอภิสิทธิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้น ที่จะได้รับการพิจารณาเป็น “นายกฯสำรอง” และให้สภาพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ (เสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” ของสภาผู้แทนราษฎร)

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีรายชื่อในบัญชีนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว ดังนั้นกระแส “นายกฯคนนอก” จึงสอดรับกัน

แน่นอน ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง จากฝ่ายที่เสนอ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯคนนอก ก็คือ นอกจาก “บิ๊กตู่” แล้ว บุคคลในบัญชีรายชื่อนายกฯอาจไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ และไม่ได้รับการยอมรับ จึงจำเป็นต้องมองหานายกฯคนนอก

ถามว่า โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองก่อนที่ “บิ๊กตู่” จะอยู่ครบวาระเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. สวมบทโหรการเมือง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก(29 เม.ย.) ก็นับว่าน่าสนใจ โดยระบุว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อมฤตยูและราหูทับดวงเมือง ประกอบกับดาวพฤหัส อาทิตย์และพุธอยู่ราศีมีนเป็นวินาศกับดวงเมือง และสิ่งที่จะเกิดตามที่ดวงดาวกำหนดนั้นเป็นเรื่องของอำนาจ ผู้มีอำนาจ อำนาจรัฐ ปาฏิหาริย์ของกฎหมาย

ความอัศจรรย์พันลึกของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การเมืองจะพลิกไปพลิกมา มีความขัดแย้ง มีความไม่ลงรอยทางการเมือง มีอุบัติเหตุทางกฎหมายและมีสิ่งที่คาดไม่ถึงของการเปลี่ยนแปลง เราจึงได้กลิ่นแปร่งๆทางการเมืองและกฎหมาย

นายวันชัย ระบุว่า ลองมาไล่เรียงดาวพฤหัสที่เป็นวินาศกับดวงเมืองสักหน่อย กฎหมายลูก เรื่องเลือกตั้งส.ส.ก็ทำท่าว่าจะขัดแย้งกันแรง ชิงไหวชิงพริบ ชิงกันได้เปรียบในการเลือกตั้ง ชิงวิธีการคำนวณจำนวนส.ส.ว่าวิธีไหนใครจะได้มากได้น้อยกว่ากัน นี่ก็จะเป็นเรื่องได้

ยุบสภาก่อนมีกฎหมายลูก… อะไรจะเกิดขึ้น จะเลือกตั้งได้หรือไม่ หรือใครต้องอยู่รักษาการในระหว่างที่ยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ ก็เป็นปัญหาใหญ่

จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ หรือจะยื่นหลังจากที่มีกฎหมายลูกแล้ว ชิงไหวชิงพริบกัน จะยุบก่อนยื่นหรือยื่นแล้วยุบสภา หรือยื่นแล้วชักไม่แน่ใจในเสียงสนับสนุน เกิดลาออกขึ้นมา ใครจะเป็นอะไรหรือพรรคไหนจะร่วมกับใครต่อไป ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

พ.ร.บ.งบประมาณ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความเป็นความตายของรัฐบาล ถ้าผ่านได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่ผ่านก็เป็นอุบัติเหตุที่จะเกิดเรื่องได้เหมือนกัน

อภิปรายไม่ไว้วางใจก็เริ่มโหมโรงกันมาแต่หัวค่ำ พรรคเล็กพรรคใหญ่จะแน่ใจในเสียงสนับสนุนได้หรือไม่ และก็น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ ยิ่งในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคมีปัญหาขัดแย้งกันหนัก ก็อาจมีปัญหาในการโหวตได้

รวมทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ส.ว. เรื่องนี้คงระอุถึงขั้นทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแสดงจุดยืนประกาศตัวตนก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลสะเทือน

เรื่องนายกฯ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งก็มีเสียงแปร่งๆออกมา มีทีท่าว่าจะกระทบผู้ที่ดำรงตำแหน่ง เป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของกฎหมาย รัฐธรรมนูญเกิดเหตุมหัศจรรย์พันลึก

“ตามดวงดาวและความเป็นจริง รัฐบาลที่ล้มกันมาหลายรัฐบาลนั้น มักจะเกิดจากผู้มีอำนาจขัดแย้งกัน พรรคร่วมรัฐบาลแตกแยก มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ประชาชนหมดหวังหมดศรัทธา นั่นแหละ…ราหูและมฤตยูก็จะเล่นงานทันที”

อย่างไรก็ตาม วิเคราะห์กันว่า โอกาสสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพล.อ.ประยุทธ์ มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ คือ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน, ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และการตีความ “วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี” ของพล.อ.ประยุทธ์ แล้ว หรือไม่

ที่สำคัญ คนที่ออกมาปลุกกระแส “นายกฯคนนอก” และชู “บิ๊กป้อม” เหมาะสม อย่าง “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ และ ร.อ.ธรรมนัส หัวหน้าและเลขาธิการ พรรคเศรษฐกิจไทย ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ด้วย

เพราะอย่าลืมว่า จำนวน ส.ส.ในกลุ่มร.อ.ธรรมนัส ที่ย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ถือว่ามากพอที่จะทำให้รัฐบาลเพรี่ยงพร้ำได้เหมือนกัน หากหันไปโหวตให้กับฝ่ายค้าน รวมทั้งหากพรรคพลังประชารัฐ ซื้อใจพรรคเล็กไม่ได้ ซึ่งอย่าคิดว่า เป็นไปไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น คนวงในการเมือง ยังวิเคราะห์ว่า หลังกลุ่มร.อ.ธรรมนัส แยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐ สภาฯจะทำงานยาก และ ร.อ.ธรรมนัส จะกดดันพล.อ.ประยุทธ์ โดยมี พล.อ.ประวิตร ร่วมอยู่ด้วย? จริงหรือไม่ หรือ แค่ปลุกกระแส ก็นับว่าน่าติดตาม

แต่ถ้ามองในแง่สายสัมพันธ์ของ “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันขั้นสูงว่า สายสัมพันธ์ “พี่-น้อง” ร่วมรบที่มีมายาวนานกับ “พี่-น้อง” ทางการเมือง ที่มี“อำนาจ” ล่อใจ อะไรจะเหนียวแน่นกว่ากัน

ว่ากันว่า ไม่น้อยกว่า 30 ปี “3 ป.” มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งนัก ตั้งแต่ติดดาวบนบ่า-ติดยศร้อยโท-ร้อยเอก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ร่วมรบกับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ใน ร.21 รอ. เป็น “3 ทหารเสือราชินี”

กระทั่งติดตามกันมา จากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) และผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) เป็น “บูรพาพยัคฆ์” ก่อนจะเข้ากรุง-ก้าวขึ้นมาคุมกองกำลังปฏิวัติ ในตำแหน่งแม่ทัพภาค 1 - เข้าไลน์ “5 เสือ ทบ.” และ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยกแผง

นี่คือสายสัมพันธ์ “3 ป.” แห่งทหารเสือราชินี-บูรพาพยัคฆ์ ที่ทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ “น้องเล็ก” กล้าพูดว่า

“3 ป. เนี่ยนะ ไม่มีใครทำลายผมได้ ทุกคนอาจจะไม่รู้ ทุกคนอาจจะรักคน รักเพื่อน รักคนอื่น เหมือนผมรักกัน 3 คน ผมร่วมเป็นร่วมตายกันมา ชายแดนผมก็อยู่ ท่ามกลางสนามรบผมก็อยู่ อยู่ด้วยกัน”

“ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาผมตั้งแต่ก้าวแรกที่ผมเข้ามารับราชการ อยู่บ้านเดียวกัน กินนอนด้วยกัน สั่งสอนกัน อบรมด้วยกัน แม้โตขึ้นมาก็ยังเคารพ ยังคบกันอยู่ ทุกอย่าง”

“ผมมีวันนี้ได้เพราะพี่ทั้งสองคน ท่านสั่งสอนผมมา และพี่ทั้งสองคนไม่เคยสอนให้ผมทุจริต โกง ไม่มี จะตีผมกันยังไง ผมไม่มีแตกอยู่แล้ว รักกัน เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน จำคำพูดผมไว้แล้วกัน”

ส่วน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร “พี่ใหญ่” พูดถึงสายสัมพันธ์นี้ ว่า “ถ้านายกฯไปผมก็ไป”

ที่น่าจับตามองก็คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เป็นภาวะสุดวิสัย หรือมีใครทำให้เกิด

ถ้าเหตุสุดวิสัย โอกาสที่ตำแหน่งนายกฯจะไปถึงมือ “บิ๊กป้อม” เชื่อว่า “บิ๊กตู่” จะไม่ขัดขวาง เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “บิ๊กตู่” รักเคารพ “บิ๊กป้อม” แค่ไหน รวมทั้งจะเป็นไรไป ถ้า“พี่ใหญ่” จะมีโอกาสได้ชื่นชมตำแหน่งใหญ่ในบั้นปลายของชีวิต ประดับเกียรติยศวงศ์ตระกูลสักครั้ง  

ส่วนความเหมาะสมอาจอยู่ที่ “บารมีทางการเมือง” ทั้งในสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา ซึ่งพล.อ.ประวิตร ผ่านฉลุยอยู่แล้ว ส่วนในพรรคร่วมรัฐบาล แม้ไม่อาจมองข้ามคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯที่เหลือ อย่าง “เสี่ยหนู” อนุทิน กับ “อภิสิทธิ์” แต่ถ้าการต่อรองตำแหน่งทางการเมืองลงตัว ก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไร?

แม้ว่า ทั้งหมดจะเป็นคนละเรื่องกับกระแสตอบรับจากสังคมไทยก็ตาม?

แต่ถ้าอุบัติเหตุทางการเมือง เกิดจากมีคนทำให้เกิด ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่แพ้กัน ถ้าดูจากกระแสเคลื่อนไหวของคนที่ต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งคนที่ทำให้เกิดมีความใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม”

ก็ไม่แน่ว่า “พี่-น้อง” จะต้องมาบาดหมางกันในตอนจบหรือไม่?

เหนืออื่นใด อาจกล่าวได้ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็คือ ความแน่นอนอย่างหนึ่ง“การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร” ยังคงใช้ได้เสมอ ไม่ว่า ยุคสมัยใด หรือว่าไม่จริง!?