วาว ๆ บ่ใช่ทอง

วาว ๆ บ่ใช่ทอง

ราคาทองคำพุ่งขึ้น 3 เท่าใน 7 ปี ถึง 47,000 บาทต่อหนึ่งบาทเมื่อปลาย มี.ค.2568 และต่อมาอีกไม่กี่อาทิตย์ก็ขึ้นไปถึง 50,000 กว่าบาท

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนจะให้ความสนใจในเรื่องการลงทุนในทองระยะยาว (ปัจจุบัน 1 กรัม มีราคาประมาณ 3,000 บาท) หรือเก็งกำไร ระยะสั้น

เมื่อผู้คนทั่วไปตาโตกับเหตุการณ์นี้ บุคคลบางกลุ่มที่มีความโลภเป็นเจ้าเรือนและมีคุณธรรมอยู่น้อย จึงลงมือเอาเปรียบผู้อื่นไปจนถึงการคดโกงในหลายลักษณะยิ่งขึ้น วันนี้ลองดูกันว่าปัจจุบันเขามีการ คดโกงกันในเรื่องทองอย่างไร

พื้นฐานที่สุดที่มีมานานนมทั่วโลกของการคดโกงก็คือ เนื้อทองคำในทองรูปพรรณหรือทองแท่ง หรือทองแผ่นที่ขาย ประกาศว่ามีเนื้อทอง 99.99% หรือ 24K คือบริสุทธิ์ยิ่ง (ในน้ำหนัก 24 ส่วนจะมีเนื้อทองคำอยู่ 24 ส่วน จึงเรียกว่า 24K หรือ 100%

ส่วนที่เรียกกันว่า 18K ดังที่คนไทยชอบเรียกกันว่าทองเค จนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นทองเก๊นั้น หมายความว่าในน้ำหนัก 24 ส่วน จะมีเนื้อทองคำอยู่ 18 ส่วน หรือ 18 ÷ 24 = 75%) นั้น แท้จริงแล้วมีน้อยกว่านั้น ผู้ซื้อไม่มีทางรู้ว่าที่บอกนั้นเท็จจริงเพียงใดบอกอย่างไรก็ต้องเชื่อคนขาย

ในหลายกรณีไม่รู้แม้กระทั่งน้ำหนัก เขาบอกอะไรก็เชื่อทั้งนั้น หากรับรองว่าเอามาขายคืนได้ เมื่อเอามาขายคืนก็ถูกหักโน่นหักนี่แต่ก็ต้องยอมรับ (อีก) เพราะหากต่อว่าอาจไม่ยอมซื้อคืนได้

คนขายก็รู้ว่าทองไม่มีมากอยู่จริงตามที่อ้างไว้แต่ก็ไม่บอกมีค่าหักโน่นหักนี่ก็พอกลบเนื้อทองคำที่หายไปเพราะไม่มีอยู่จริง 

สมาคมผู้ค้าทองของไทยมีมาตรฐานทองคำอยู่ที่ 96.5% โดยมีอักษรตีประทับไว้พร้อมกับชื่อผู้ค้า แต่ตราบใดที่จำนวนร้านทองในบ้านเรามีไม่ถึงครึ่งที่มีอุปกรณ์ตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ทอง ช่องทางโกงนี้ก็มีอยู่เสมอ

ตราบที่ไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักมาตรฐานแสดงให้คนชั่งเห็น และไม่มีเครื่องมือตรวจสอบทองสมัยใหม่ที่บอกได้เชิงวิทยาศาสตร์ว่ามีเนื้อทองคำอยู่มากเพียงใด ผู้ซื้อเสียเปรียบวันยังค่ำ ไอ้ตัวเปอร์เซ็นต์ทองที่หายไปนี้แหละคือตัวสร้างกำไรที่สำคัญ

ปัจจุบันการคดโกงทองคำมีหลายรูปแบบที่ล้ำหน้าอย่างน่าตกใจ หากไม่ระวังให้ดีจะเสียเงินซื้อทองไว้เป็นการออม แต่หลายปีผ่านไปจึงรู้ว่ามันเป็นการสูญเปล่า

วิธีการมีดังนี้

(1) เมื่อจำนำทองคำกับโรงรับจำนำต้องตรวจสอบน้ำหนักทอง หน้าตารูปร่างให้ดี (เคยมีที่เส้นสั้นลง หรือเป็นของคนอื่น) อย่าลืมว่าคนเลวมีแทรกอยู่ทุกแห่ง ในยามทองบาทละ 50,000 บาทนั้น คนดีแปลงร่างเป็นคนเลวได้ไม่ยากนัก

(2) เอาแผ่นทองคำหุ้มทองแดงหรือทองเหลืองด้วยกระแสไฟฟ้า หรือใช้ทองคำหุ้มหนาหน่อยจนดูเนียนตา หากดูไม่เป็นก็จะเห็นแต่ทองคำสวยสด

(3) ปั้มอักษรของผู้ค้าหรือตัวเลขปลอม เช่น เปลี่ยนจาก 14K เป็น 18K

(4) แท่งทองปลอมโดยใช้ทองคำหุ้มแท่งทังสเตน (Tungsten) ซึ่งมีน้ำหนักใกล้เคียงกับทองคำ (ทั้งสองมีความถ่วงจำเพาะประมาณ 19 ซึ่งหมายถึงว่าในปริมาตรเท่ากันหนักกว่าน้ำ 19 เท่า)

(5) ยอมผสมเนื้อทองคำลงไปในโลหะเช่น เงิน ทองแดง ทองเหลืองมากขึ้นเพื่อให้ดูเหมือนจริง และปั๊มอักษรปลอมของผู้ค้าที่มีชื่อเสียง อีกทั้งปั๊มตัวเลขหลอกว่ามีทองคำมากกว่าความเป็นจริง (ทังสเตนผสมกับทองคำไม่ได้)

เมื่อทองคำมีค่ามากขึ้นก็ย่อมมีกลโกงมากขึ้นเป็นธรรมดา ในอนาคตอาจเห็นบทบาทของทังสเตน (ไส้หลอดไฟสมัยก่อน) มากขึ้นเพราะหนักเหมือนทอง แต่มีราคาถูกกว่าทองหลายพันเท่า

มีการพบว่าโจรเจาะรูลงไปในแท่งทองคำและเอาทังสเตนไปใส่ไว้แทน สองสิ่งที่ช่วยได้ก็คือตาชั่งมาตรฐานและเครื่องวัดองค์ประกอบของโลหะซึ่งเอาไว้ใช้พิสูจน์เปอร์เซ็นต์ของเนื้อทองคำที่เรียกว่า spectrometer

เครื่องมือนี้ที่ใช้ตรวจสอบเนื้อทองคำได้มีหลายรูปแบบ ที่มักใช้กันก็คือ XRF (X-Ray Fluorescence) ซึ่งยิงผิวโลหะที่ต้องการพิสูจน์ด้วยรังสีเอกซเรย์ และอ่านพลังงานจากโฟตอนที่กระจายกลับมาจากโลหะชนิดต่าง ๆ จุดอ่อนคือไม่สามารถลงลึกถึงโลหะอื่นที่แอบฝังอยู่ข้างในได้

ที่แม่นยำสุดและตรวจองค์ประกอบได้ครบก็คือ ICP-MS ซึ่งวัดไอระเหยจากโลหะและวัดไอออนที่ออกมา

นอกจากนี้ก็มีเครื่องที่วิเคราะห์อะตอมจากแสงที่ฉายไปที่ก้อนโลหะ หรือใช้แสงเลเซอร์ (OES) ทั้งสองเครื่องหลังนี้ให้ผลพิสูจน์เปอร์เซ็นต์ทองคำที่นับว่าเชื่อถือได้

เครื่องแต่ละชนิดวัดได้ลึกซึ้งไม่เท่ากัน โดยทั่วไปวัดเปอร์เซ็นต์ของเนื้อทองคำได้ดี แต่หากมีทังสเตนหรือโลหะอื่นๆ แอบซ่อนอยู่ข้างในก็บอกไม่ได้ การวัดที่แม่นยำต้องผ่าหรือเจาะและเอาผงมาตรวจสอบด้วยกรดไนตริก

วิธีการวัดที่ดีที่สุดคือ (1) ใช้เครื่องมือ XRFตรวจผิวโลหะ (2) ใช้เครื่องมือ Ultrasound ตรวจโครงสร้างและความหนาแน่นข้างใน (3) ยืนยันด้วยเครื่อง ICP-MS และ OES อีกครั้ง วิธีการนี้ใช้กับแท่งทองคำมูลค่าสูง ปัจจุบันทองแท่ง 1 กิโลกรัมมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท

สำหรับการตรวจสอบทองคำง่าย ๆ นั้นมีดังนี้ 

(1) เมื่ออยู่ในมือนั้นทองคำต้องมีน้ำหนัก ไม่เบาแบบโลหะทั่วไป

(2) แม่เหล็กไม่ดูดทองคำ แต่ก็ต้องระวังเพราะไม่ดูดทังสเตนเช่นกัน

(3) ชุดเคมีตรวจทองโดยเอาทองฝนกับแท่งหินเล็กน้อยและใช้สารเคมีหยดใส่ ถ้าเป็นทองแท้จะไม่มีปฏิกิริยา ทองเก๊จะมีฟองขึ้นหรือเปลี่ยนสี

(4) ถูกับเซรามิกที่ไม่เคลือบผิว ถ้าเป็นทองแท้จะมีรอยขูดสีทอง ถ้าเป็นทองเก๊จะเป็นรายขูดเทาหรือดำ

(5) มองหาตัวเลข 24K / 18K / หรือ 750 (หมายถึงมีเนื้อทองอยู่ 75% ซึ่งเหมือนกับ 18K) หรือตัวเลขอื่นที่ระบุเปอร์เซ็นต์

หลักการสำคัญของการป้องกันการถูกหลอกก็คือ

(1) ซื้อจากผู้ค้าที่มีชื่อเสียงเท่านั้นโดยมีรอยปั๊มชื่อผู้ค้าชัดเจน

(2) ขอใบยืนยันเปอร์เซ็นต์ทองคำและน้ำหนัก

(3) ให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่เรื่องเปอร์เซ็นต์เนื้อทองและน้ำหนักหากไม่มีใบยืนยัน

(4) อย่าซื้อทองออนไลน์เป็นอันขาด 

(5) อย่าซื้อทองคำแล้วฝากไว้กับผู้ขายโดยถือกระดาษหลักฐานไว้แผ่นเดียว (เคยมีกรณีที่ญาติมาเอาออกไป)

(6) กรุณาอ่านข้อ (1) ถึง (5) อีกครั้ง

ความโลภเมื่อทองคำมีมูลค่าสูงและดูจะสูงยิ่งขึ้น (ผลงานของจักรพรรดิเเห่งความปั่นป่วนที่มีชื่อว่า Trump) ตลอดจนความไม่รู้และยอมเชื่อโดยง่ายของผู้ซื้อ และเทคโนโลยีที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในการคดโกง ร่วมกันทำให้ทุกคนที่สนใจเป็นเจ้าของทองคำต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น หากไม่ต้องการเสียน้ำตาแห่งความเสียดายและความเจ็บใจ