มูลค่าของเงินเหรียญสหรัฐ (ตอน 2)

ครั้งที่แล้วผมประเมินมูลค่าของเงินเหรียญสหรัฐ โดยเปรียบเทียบกับทองคำหรืออีกในหนึ่งคือ การเปรียบเทียบว่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อทองคำราคาสูง และแข็งค่าเมื่อทองคำราคาลดลง (เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐ)
ทั้งนี้โดยเอาเงินเฟ้อออกไป กล่าวคือ การคำนวณราคาทองคำในช่วง 110 ปีที่ผ่านมา (1915-2025) โดยใช้กำลังซื้อของเงินเหรียญสหรัฐในปี 2025
ครั้งที่แล้วผมเล่าไปแล้วว่า ราคาทองคำสูงถึง 2,780 เหรียญต่อ 1 ออนซ์ ในปี 1980
เพราะธนาคารกลางสหรัฐขาดวินัย พิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาในปริมาณที่มากเกินไป
ทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้นไปถึง 13.5% ในปี 1980 จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาทองคำจึงพุ่งขึ้นสูงมากตั้งแต่ 1972 เป็นต้นไปจนถึง 1980
ในทางตรงกันข้าม เมื่อควบคุมเงินเฟ้อได้ ก็ทำให้ทองคำราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง และต่ำลงอย่างมาก คือ เหลือเพียง 475 เหรียญต่อ 1 ออนซ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2001
แต่ตรงนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า มีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การที่รัฐบาลสหรัฐสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐเกินดุลงบประมาณได้ 128,000 ล้านเหรียญในปี 2001
กล่าวคือ ปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า (หรือทองคำราคาอ่อนค่า) คือการมีวินัยทางการเงินและวินัยทางการคลัง
จะเห็นได้ว่า หลังจากช่วงดังกล่าวราคาทองคำ (ที่ตัดเงินเฟ้อออกแล้ว) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนานถึง 10 ปี จากปี 2001-2011 ทั้งนี้ เพราะธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก
ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเงินเฟ้อไม่ค่อยจะปรับขึ้น จนกระทั่งทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ (housing bubble) ซึ่งในที่สุดก็ได้พังทลายลงมาในปี 2008-2009
ทำให้ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปอีกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น การกดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือศูนย์ และการพิมพ์เงินใหม่ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรเอกชน
ที่เรียกกันว่าคิวคำถามคือ ทำไมเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ จึงอยู่ที่ระดับต่ำ ในช่วงประมาณเกือบ 20 ปีแรกของศตวรรษนี้
คำตอบน่าจะเป็นเพราะว่า ประเทศในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน (และไทยด้วย) ผลักดันการส่งออกและต้องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
กล่าวคือ เอเชียผลิตสินค้าออกมามากเกินความต้องการของตัวเอง ทำให้สหรัฐสามารถบริโภคและใช้จ่ายเกินตัวได้ โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ
แต่มาวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก สหรัฐขาดทุนงบประมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ (ขาดทุนงบประมาณ เท่ากับ 6-7% ของจีดีพี) และจะยังขาดทุนงบประมาณต่อไปอีกนาน
เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการต่ออายุการลดภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคลไปอีก 10 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศสหรัฐ โดยรวมจะต้องใช้จ่ายเกินตัวต่อไปอีก
กล่าวคือ สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 1982 แต่การขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2019 จนกระทั่งล่าสุดในปี 2024 สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 4% ของจีดีพี
หมายความว่า การขาดดุล ทั้งดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น ย่อมจะทำให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าหรืออีกนัยหนึ่งคือ ทำให้ทองคำราคาสูงขึ้น
คำถามคือ นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์มั่นใจว่าจะทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าลดลง และมีรายได้เข้ารัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก (ทำให้ขาดทุนงบประมาณลดลง) นั้น จะเป็นจริงหรือไม่
เพราะหากเป็นจริงก็ย่อมจะสามารถทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ (ทำให้ราคาทองคำลดลง) ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นครับ.