ศก.ไทยถึง ‘จุดพลิกผัน’ หรือ ‘จุดพังทลาย’

ศก.ไทยถึง ‘จุดพลิกผัน’ หรือ ‘จุดพังทลาย’

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่า จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% (ค่ากลางการประมาณการ 2.8%)

คาดว่าการอุปโภคบริโภค จะขยายตัว 3.3% และการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 3.2% มูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์ ขยายตัว 3.5% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.5 -1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของจีดีพี

การประมาณการเศรษฐกิจขยายตัว 2.8% ครั้งนี้ สศช.ดูความเสี่ยงจากการค้าโลก ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงถัดไป นับเป็นความเสี่ยงสำคัญช่วงครึ่งปีหลัง ด้วยมุมมองที่ว่า นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีความไม่แน่นอนทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังทำให้ต้องมีมาตรการในการดูแลเศรษฐกิจต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ” ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกัน ตั้งแต่ภาวะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึงกว่า 90% ของ จีดีพี ไปจนถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์นี้นำมาสู่คำถามสำคัญว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะสามารถยืนหยัดท่ามกลางพายุรอบด้านได้หรือไม่

ปัจจัยภายในประเทศที่น่ากังวลก็มีหลายเรื่อง นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่กดดันกำลังซื้อประชาชนแล้ว ยังมีปัญหาการว่างงานแฝง ความเหลื่อมล้ำรายได้ที่ขยายตัว และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่ออนาคตทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สร้างความกังวลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง จีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ การว่างงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กระทบโดยตรงต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย ขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น

หันมามองภาคการเงินของไทย กำลังเผชิญความท้าทาย ค่าเงินบาทผันผวนจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ กระทบต่อต้นทุนการนำเข้า และความสามารถการแข่งขันของผู้ส่งออก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อก็สร้างภาระให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีหนี้สิน

การจะพลิกวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาส จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทั้งการปรับโครงสร้างการผลิต การพัฒนานวัตกรรม การยกระดับการศึกษาและทักษะแรงงาน รวมถึงการสร้างระบบสวัสดิการที่ยั่งยืน การตัดสินใจและการดำเนินการวันนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าเศรษฐกิจไทยจะถึง “จุดพลิกผัน” ที่ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือจะเข้าสู่ “จุดพังทลาย” เผชิญภาวะถดถอยที่ ‘ยากจะฟื้นตัว’