กองทุนประกันสังคม วันนี้ยังมั่นคงอยู่หรือไม่

กองทุนประกันสังคม คือ ความมั่นคงของแรงงานในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณกว่า 24.80 ล้านคน เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 12.07 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน
มาตรา 40 จำนวน 11.01 ล้านคน รวมเงินกองทุนประกันสังคมสะสม กว่า 2.6 ล้านล้านบาท ปี 2567 ได้จ่ายสิทธิประโยชน์ ค่าคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร รักษาพยาบาล การว่างงาน ทุพพลภาพ ชราภาพ และเสียชีวิตให้ผู้ประกันตน 38.58 ล้านครั้ง จำนวน 112,829.93 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน จำนวน 1,821.25 ล้านบาท รวมสิทธิประโยชน์จากทั้ง 2 กองทุน จำนวน 114,651.18 ล้านบาท
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทำให้กองทุนประกันสังคม จะต้องจ่ายเงินชราภาพให้กับผู้ประกันตน ที่เกษียณอายุ 55 ปี และไม่มีงานทำแล้ว เชื่อว่าหลายคนที่จ่ายเงินสมทบให้กองทุนทุกเดือนจะเกิดคำถามว่า เมื่อถึงวันที่ตนเองรับเงินชราภาพ จะมีเงินในกองทุนประกันสังคมเพียงพอที่จะนำมาจ่ายให้กับ “ผู้ประกันตน”หรือไม่ และพอร์ตการลงทุนที่มีมูลค่ากว่า 2.6 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน จะได้รับ“ผลตอบแทน” ที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกันว่า กองทุนประกันสังคม จะไม่มีวันล้มละลายได้หรือไม่
แม้ว่าประกันสังคม จะเน้นหลักการ “ลงทุนต้องมีกำไร” แต่การลงทุนของประกันสังคมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่ 30 ม.ค.2568 พบว่ามีการลงทุนในหุ้น และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมจำนวน 90 หลักทรัพย์ โดยแบ่งลงทุนในหุ้น SET50 จำนวน 36 หลักทรัพย์ ผลตอบแทนราคา 1 ปี “ติดลบ” กว่า 24 หลักทรัพย์ ส่วนหุ้นใน SET50 ที่ให้ “ผลตอบแทน” เป็นบวกมี 12 หลักทรัพย์ ส่วนการลงทุนใน “ต่างประเทศ” ปี 2567 ผลตอบแทนอยู่ที่ 4% หรือ 60,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าผลตอบแทน อยู่ที่ 5% หรือ 70,000 ล้านบาท และปี 2569 อยู่ที่ 6% หรือ 70,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมาประกันสังคมยืนยันว่า ไม่เคยลงทุนแล้ว “ขาดทุน” เพราะทีมงาน 80 คน ทั้งที่เป็นนักวิเคราะห์ มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เรื่องการลงทุนคอย “มอนิเตอร์” และวิเคราะห์เรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก และเน้นลงทุนในต่างประเทศที่ผลตอบแทนระดับสูง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดยุโรป และตลาดญี่ปุ่น โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2567 มีเงินลงทุนสะสม 81,505 ล้านบาท มาจากเงินสมทบสะสมจากนายจ้างสุทธิ 50,824 ล้านบาทและผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 30,681 ล้านบาท
การสร้างความมั่นคงให้กองทุนอีกด้านคือ การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 โดยมีจะมีการเพิ่มอีก 3 กลุ่มอาชีพได้แก่ กลุ่มลูกจ้างในกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์, กลุ่มลูกจ้างในครัวเรือนในฐานะที่เป็นนายจ้างส่วนบุคคล และกลุ่มลูกจ้างในกิจการค้าแผงลอยที่มีที่ตั้ง มีเลขที่แผงชัดเจน รวมทั้งการปรับฐานเงินเดือนคำนวณจ่ายเงินสมทบ ซึ่งจะต้องไปทำไปพร้อมๆ กับการขยายการปรับสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้วัยทำงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์