Soft Power ของไทย กับร่างกฎหมายใหม่

Soft Power ของไทย กับร่างกฎหมายใหม่

จับกระแส Soft Power ของไทย กับร่างกฎหมายใหม่

ที่มาและปัญหาเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย (Thai Soft Power) ประการสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่พบเจออุปสรรคคือ “กฎหมาย” ซึ่งถูกตั้งคำถามว่า กฎระเบียบเดิมอาจเก่าและล้าสมัยหรือไม่ ทำให้ Soft Power ไม่เติบโตและไม่ต่อเนื่อง

เรื่องนี้ ผู้เขียนเคยกล่าวถึงมานาน ก่อนจะมีคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ THACCA หรือ ทักก้า ยุครัฐบาลเพื่อไทย ที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ ได้รับฟังปัญหาจากคนทำงานว่าควรปรับปรุงกฎระเบียบให้ทำงานสะดวกขึ้นและการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้า

อย่างที่ทราบว่า THACCA เข้ามาจัดองคาพยพใหม่และปรับปรุงกฎระเบียบบางอย่างที่พอทำได้เลยไปแล้ว ขณะนี้ยังมีเรื่องของร่าง พ.ร.บ.THACCA อยู่ระหว่างการสรุปผล หลังเปิดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมแสดงความเห็นทั้งภาครัฐและเอกชน

หลังจากรับฟังความเห็นแล้ว จะนำความเห็นของทุกภาคส่วนไปปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. พร้อมเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ในเดือนมิถุนายน 2567

แน่นอนว่า การจัดทำพระราชบัญญัติการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ร.บ. THACCA) หวังให้กฎหมายนี้ กำหนดนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ การบูรณาการกลไกการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของส่วนราชการและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยเอื้ออำนวยที่จำเป็นต่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อนำไปสู่สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. (CEA) ศึกษาและดำเนินการร่วมกับคณะวิจัยซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านนิติศาสตร์ เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.นี้ 

ประเด็นใหญ่ใจความ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือการตั้งคณะกรรมการที่มีนายกฯเป็นประธาน สร้างความร่วมมือและการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน กำหนดให้มีรัฐมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ อาศัยความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย อีกทั้งเกี่ยวข้องกับการใช้เงินแผ่นดินเพื่ออุดหนุนบุคลากร

พร้อมการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีดุลพินิจ เพื่อให้สามารถคัดเลือกและส่งเสริมบุคลากร ผู้ประกอบการและสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญและศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรม และร่างกฎหมายนี้ไม่มีการใช้ระบบอนุญาตและไม่มีการกำหนดโทษอาญา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาหรือการส่งเสริมฯนั้น เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ซึ่งบางหน่วยงานที่เกิดขึ้นตามกฎหมายใหม่ก่อน ๆ หน้านี้ ได้ “ภาษีบาป” ไปทำงาน ผลงานเป็นอย่างไรประชาชนทราบดี ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ทักก้า จะใช้งบจากไหน ไปสร้างสรรค์สร้างงานซอฟต์เพาเวอร์ และอำนวยความสะดวกคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร อีกไม่นานคงรู้กัน


 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

บทความที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งหมด

บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด